xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ มช.ชี้ทีวีสาธารณะต้องตอบสนอง ปชช.ทุกกลุ่ม-รายการคุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – เครือข่ายเพื่อนทีวีสาธารณะและเครือข่ายนักวิชาการนิเทศศาสตร์ร่วม ม.เชียงใหม่ จัดเสวนาวิชาการเตรียมพร้อมโทรทัศน์สาธารณะ คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มช.ชี้โทรทัศน์สาธารณะต้องมีเนื้อหาสาระหลากหลายสอดคล้องความต้องการของ ปชช.ทุกกลุ่มและรายการมีคุณภาพ ขณะที่ผู้ประสานงานเครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ ย้ำต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง

วันนี้ (13 ก.พ.) เครือข่ายเพื่อนทีวีสาธารณะและเครือข่ายนักวิชาการนิเทศศาสตร์ ร่วมกับคณะการสื่อสารมวลชน และวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการเสวนาวิชาการเตรียมความพร้อมการมีส่วนร่วมของประชาชนในโทรทัศน์สาธารณะ ครั้งที่ 2 “โทรทัศน์สาธารณะ:ของสาธารณะ โดยสาธารณะ เพื่อสาธารณะ” โดยมีศาสตราจารย์พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการเสวนา ที่ห้องประชุมวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การเสวนาครั้งนี้มีขึ้นเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโทรทัศน์สาธารณะในแง่มุมต่างๆ และเพื่อเป็นเวทีแสดงทัศนะหรือความคิดเห็นของเครือข่ายต่างๆ เกี่ยวกับความเหมาะสมของโทรทัศน์สาธารณะ รวมทั้งเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปหันมาสนใจและมีส่วนร่วมในสถานีโทรทัศน์สาธารณะ อันเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ แก่สังคมและส่งเสริมให้เกิดสภาผู้ชมในอนาคตเพื่อให้วิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนและผู้ชมมีคุณภาพไปพร้อมกัน

รองศาสตราจารย์สดศรี เผ่าอินจันทร์ คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีสื่อกระจายเสียง 2 ประเภท คือ สื่อของรัฐและสื่อสัมปทานเพื่อธุรกิจ ดังนั้น จึงมีการเรียกร้องให้เกิดสื่อสาธารณะที่ให้ประชาชนมีทางเลือกในการรับชมหรือรับฟัง

โดยสื่อสาธารณะจะต้องมีเนื้อหาสาระที่หลากหลายสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มและผลิตรายการที่มีคุณภาพ ซึ่งเมื่อประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการสื่อกระจายเสียงสาธารณะแห่งแรกตามพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ประกาศใช้ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2551 โดยโอนกิจการของสถานีโทรทัศน์ TITV มาเป็นโทรทัศน์สาธารณะเป็นแห่งแรกของประเทศไทยนั้น จึงเป็นที่คาดหวังว่าโทรทัศน์สาธารณะดังกล่าวจะเป็นโทรทัศน์สาธารณะของสาธารณะหรือของประชาชนอย่างแท้จริง โดยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

นางสาวปัณณพร ไพบูลย์วัฒนกิจ ผู้ประสานงานเครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ แสดงความเห็นว่า โทรทัศน์สาธารณะควรจะต้องเป็นโทรทัศน์ที่ประชาชนเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมจริงๆ ไม่ใช่แค่เพียงมีการจัดเวทีระดมความคิดเห็นเท่านั้น แต่จะต้องมีการนำความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนไปปฏิบัติจริงด้วย นอกจากนี้ ควรจะให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการผลิตรายการในรูปแบบและมีเนื้อหาเรื่องราวอย่างที่ต้องการจริงๆ ด้วย ไม่เหมือนที่ผ่านมาที่เป็นเพียงการทำแทนทั้งสิ้น

ส่วนความเป็นเจ้าของโทรทัศน์สาธารณะนั้น ควรจะเปิดให้ประชาชนเป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งเชื่อว่าประชาชนพร้อมที่จะเสียเงินสนับสนุนโทรทัศน์สาธารณะ ทั้งนี้ มองว่าการทำให้โทรทัศน์สาธารณะสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงนั้น เป็นสิ่งที่สามารถทำได้หากมีการบริหารจัดการที่ดี อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างจะสำเร็จได้ต้องเริ่มจากการที่เปิดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของอย่างแท้จริงเสียก่อน

ผู้ประสานงานเครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ แสดงความเห็นกรณีที่ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กล่าวตำหนิการยุบ TITV แล้วตั้งโทรทัศน์สาธารณะ รวมทั้งพูดถึงการตั้งสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ว่า เป็นการสะท้อนให้ความคิดของนายกรัฐมนตรีที่ไม่เชื่อมั่นว่าประชาชนจะสามารถทำให้เกิดโทรทัศน์สาธารณะได้ รวมทั้งหวั่นเกรงว่าประชาชนจะสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารและตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารประเทศได้มากขึ้น

ส่วนการตั้งสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่นั้น มองว่าน่าจะเป็นความพยายามที่จะมีสื่อที่สามารถควบคุมได้เป็นของตัวเองเพื่อกำหนดทิศทางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้เห็นว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะต้องยอมรับทุกรัฐบาลที่ผ่านมาก็พยายามที่จะควบคุมสื่อให้ได้อยู่แล้ว ทั้งนี้ สิ่งที่จะเป็นความหวังได้เพื่อให้หลุดพ้นจากการควบคุมดังกล่าวก็คือการที่ผู้ที่ทำหน้าที่สื่อมวลชนจะต้องทำหน้าที่อย่างถูกต้องตรงไปตรงมาเพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้รับรู้อย่างครบถ้วนรอบด้าน เช่นเดียวกับภาคประชาชนที่จะต้องมีความตื่นตัวในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและตรวจสอบไปพร้อมกันด้วย

อนึ่ง สำหรับการจัดเวทีเสวนาวิชาการในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดยมีการจัดครั้งแรกไปแล้วที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2551 ซึ่งการจัดเวทีเสวนาครั้งต่อไปจะจัดให้มีขึ้นที่มหาวิยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ตามลำดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น