xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ติวเข้ม ตร.พะเยาเร่งมือล้างนอนแบงก์ดอกเบี้ยโหด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พะเยา - ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความรู้ด้านกฎหมายสินเชื่อส่วนบุคคล แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจพะเยา พร้อมระบุ มีผู้ประกอบการสินเชื่อส่วนบุคคล หรือ นอนแบงก์ (NON -BANK) หลายแห่ง ถูกมิจฉาชีพใช้เป็นเครื่องมือ ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยสูงให้แก่ประชาชน

วันนี้ (4 ก.ย.) ที่โรงแรมเกทเวย์ อ.เมือง จ.พะเยา ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ร่วมกับกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพะเยา จัดประชุมชี้แจงข้อกฎหมาย เรื่องสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ให้แก่นายตำรวจ ในจังหวัดพะเยา ทุกสถานีกว่า 200 นาย ทั้งนี้เพื่อให้นายตำรวจที่เข้าร่วมประชุมเข้าใจกฎหมาย และวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการการตามกฎหมายในคดีดังกล่าว

นายวีระชาติ ศรีบุญมา ผู้อำนวยการ สำนักคดี ฝ่ายกฎหมายและคดี ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีโจร หรือมิจฉาชีพจำนวนมากที่ใช้ผู้ประกอบการธุรกิจ สินเชื่อส่วนบุคคล หรือ นอนแบงก์ (NON -BANK) หลายบริษัท เป็นเครื่องมือในการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยสูงให้กับประชาชน โดยการติดแผ่นป้ายโฆษณา ตามเสาไฟฟ้า และตู้โทรศัพท์สาธารณะ มีข้อความบอกว่า บัตรเครดิต สามารถกู้เงินได้ ทำให้ประชาชนหลงเชื่อ โดยทำเป็นสัญญาซื้อขายสินค้าเงินผ่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำพวก สินค้า ไอที และเครื่องใช้ไฟฟ้า

แต่ความเป็นจริงแล้วกลับไม่เป็นอย่างนั้น มีการทำสัญญาซื้อขาย แต่ไม่มีการซื้อขายสินค้าจริง ซึ่งหากหลงเชื่อ ก็จะถูกกลุ่มมิจฉาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่แฝงอยู่ในบริษัทขายเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ หักเงินส่วนหนึ่งไว้ ผู้กู้จะได้เงินไม่เต็มวงเงินกู้ หากคิดเป็นดอกเบี้ยแล้วก็จะสูงมากเกินกว่ากฎหมายกำหนด ที่ให้เก็บดอกเบี้ยได้ร้อยละ 15 ต่อปีเท่านั้น และเมื่อรวมกับค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ แล้วต้องมาเกินร้อยละ 28 ต่อปี, กู้ได้ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้, คิดดอกเบี้ยแบบลดต้น ลดดอก ห้ามเก็บดอกเบี้ยบนดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายที่ค้างชำระ

นายวีระชาติ กล่าวว่า ขณะนี้มีมิจฉาชีพได้ดำเนินการในลักษณะดังกล่าวจำนวนมาก ซึ่งจังหวัดพะเยา ก็พบด้วยเช่นกัน ขณะนี้ จนท.ธปท.ได้เร่งดำเนินการตามกฎหมายแล้ว หากประชาชนพบเอกสารโฆษณาในลักษณะดังกล่าวขออย่างได้หลงเชื่อ และให้รีบแจ้ง จนท.ธปท.หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในพื้นที่ทันที เพื่อจะได้ติดตามตัวมาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

นายวีระชาติ ศรีบุญมา ผู้อำนวยการ สำนักคดี ฝ่ายกฎหมายและคดี ธนาคารแห่งประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น