ศูนย์ข่าวศรีราชา – นักวิชาการตั้งวงสัมมนาปราสาทพระวิหาร "ม.ล.วัลย์วิภา"เผยผลศึกษาชี้ชัดการยกดินแดน"พระวิหาร"ให้กัมพูชาเชื่อมโยงการหาประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล จวกรัฐบาลทำผิดมหันต์เซ็นข้อตกลงทั้งที่เขตแดนไม่ชัดเจนและไม่ผ่านสภา ผิดหวัง"เตช"คิดว่าเป็นคนดี แต่เข้ามาแค่สานต่องาน รมว.คนเดิม วอนคนไทยลุกขึ้นเพื่อสู้เพื่อความถูกต้อง ก่อนผู้มีอำนาจนำแผ่นดินไทยไปแปลงเป็นทุนแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันและกัน
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 51 ที่ผ่านมา ที่ศาลากลางจังหวัดสระแก้ว ศูนย์อินโดจีนศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา ได้จัดโครางการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “ไทยเมืองเพื่อนบ้าน เพื่อนบ้านมองเรา” เพื่อค้นคว้าและร่วมมือทางวิชาการกับศูนย์สถาบันศึกษาและมหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีความเชียวชาญด้านในการศึกษาภูมิภาคอินโดจีน ในการอธิปราย เรื่องประสาทพระวิหาร โดยมีวิทยากรที่มีความเชียวชาญ ร่วมอธิปราย ประกอบด้วย รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ดร. สุเนตร ชุตินธารานนท์ มล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ อาจารย์รุ่งมณี เมฆโสภณ นายอาจารย์ประกาสิทธิ์ แก้วมงคล
มล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิจัย 9 สถาบันไทยคดีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการสัมมนาว่า จากการศึกษาและลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่โดยเป็นการชี้เบาะแสเชิงวิชาการ และมีการศึกษาอย่างเป็นระบบ หลังจากที่ได้ฟังนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการขอขึ้นทะเบียนประสาทเขาพระวิหาร ว่า เป็นเพียงการบริหารจัดการพื้นที่ทับซ้อน และเป็นเรื่อง win-win เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา จึงเกิดความรู้สึกว่า ปัญหาเรื่องประสาทเขาพระวิหารเป็นเรื่องอึมครึม และน่าอึดอัดในความรู้สึกของคนไทย แต่รัฐบาลไทยจึงไม่พูดเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจน ทางทีมงานจึงได้ลงพื้นที่ไปศึกษาเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียด
จึงพบว่าปัญหาเรื่องเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา โดยทางฝ่ายกัมพูชาพยายามรักษาอธิปไตยของตนเองโดยมีการสร้างชุมชน ตลาด และวัด เข้ามาในดินแดนฝั่งไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากัมพูชาไม่ได้ยึดถือหลักเขตแดนของไทยตามมติ ครม.เมื่อปี 2505 ของไทย โดยที่รัฐบาลของไทยไม่ได้มีความพยายามดำเนินการใด ๆ และเมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่กัมพูชากับไทยได้เจรจาร่วมกันมา ทางกัมพูชาได้ยื่นข้อเสนอขอเปิดจุดผ่านแดนช่องตาเฒ่า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทางกัมพูชาเตรียมไว้สำหรับเปิดศูนย์การค้า แหล่งบันเทิง และ กาสิโน และเมื่อตนย้อนกลับไปดูการจัดทำหลักเขตแดนไทย-กัมพูชา ทางทะเลที่ลากจากหลักกิโลเมตรที่ 73 จ.ตราด ได้พบแผนที่ของกัมพูชา ที่มีการเขียนหลักเขตแดนทางทะเลผ่านเกาะกูดของไทย และกินพื้นที่พัฒนาร่วม หรือ JDA ซึ่งเป็นจุดที่มีทรัพยากรธรรมชาติขนาดใหญ่ และเป็นเส้นเขตแดนทางทะเลที่แตกต่างจากเส้นเขตแดนของไทย โดยกินพื้นที่ของไทยเข้ามาด้วย
ทั้งนี้แผนที่ดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลที่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทำหนังสือถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุด เรื่องเรียกร้องขอให้ทหารหาญของชาติแสดงจุดยืนปกป้องผลประโยชน์ชาติ กรณีเร่งรัดแบ่งเขตแดนทางทะเลไทย-กัมพูชา เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2549
“เส้นเขตแดนทางทะเลมีเส้นเขตแดนเดิมตามสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ที่เกาะกูด จะต้องเป็นของไทย และในปี 2544 รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้บรรลุข้อตกลงกับทางกัมพูชา ด้วยการทำบันทึกความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งน่าสงสัยว่าทำไมการปักปันเขตแดนซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นอธิปไตยของชาติ เหตุใดจึงไม่มีการเปิดเผยข้อมูลในวงกว้าง หรือผ่านกระบวนการรับรองการเปลี่ยนเส้นเขตแดนที่ไม่ใช่ฝ่ายบริหารรับรู้แต่เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น จึงเชื่อว่า เขาพระวิหารเกี่ยวข้องกับการแบ่งเขตแดนและเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของพื้นที่ JDA ด้วย”
ม.ล.วัลย์วิภากล่าวต่อว่าจากการที่ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ไปแถลงการณ์ร่วมการขึ้นเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง อีกทั้งยังเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องเนื่องจากการกระทำดังกล่าวรับมนตรีกระทรวงต่างประเทศกระทำไปโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภา ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้ว ไม่ว่า ครม.หรือ รมว.ไม่มีสิทธิยกดินแดนไทยให้ใครโดยไม่ผ่านสภาราษฎร ซึ่งหากเป็นต่างประเทศรัฐบาลจะต้องลากออกไปแล้ว
กลุ่มการเมืองใช้เขาพระวิหารบังหน้าแลกประโยชน์-เปลี่ยนเส้นแดน
ม.ล.วัลย์วิภา กล่าวต่อว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้เป็นรัฐบาลไทยกับประชาชนไทย ดังนั้นข้าราชการประจำทั้งทหารและพลเรือน ทุกคนจะต้องตัดสินใจแล้วว่า ตนกำลังปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติหรือไม่ หรือของใคร สองสิ่งที่รัฐบาลทำวันนี้ คือ รัฐบาลไปยอมให้ราชอาณาจักรกัมพูชาขึ้นทะเบียนแต่ฝ่ายเดียว และยอมรับแผนที่ของกัมพูชาที่ไม่ยอมรับอธิปไตยตามมติคณะรัฐมนตรี 2505 และยังยอมไปทำแถลงการณ์ร่วมในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันโดยยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องเขตแดนแม้แต่น้อย ผลเสียตามกฎหมายปิดปากก็จะเกิดขึ้น
เมื่อรัฐบาลไทยไม่ยับยั้งหรือคัดค้าน ดังนั้นประชาชนคนไทยจึงควรร่วมกันยับยั้ง หรือคัดค้านโดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิชุมชน ส่งเรื่องไปตามขั้นตอน เพื่อยับยั้งการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งเรามองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องความต้องการเปลี่ยนเส้นเขตแดน ทั้งทางบกและทางทะเลของไทย เพื่อหวังผลประโยชน์ทับซ้อนของกลุ่มการเมือง โดยมีเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นสื่อบังหน้า
หากไม่ยืนยันเขตอธิปไตยหรือเส้นเขตแดนตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2505 ไทยจะเสียดินแดนให้กัมพูชา ซึ่งแผนที่ใหม่ของกัมพูชามีนัยสำคัญในการยืนยันท่าทีของกัมพูชาที่ไม่ยึดถือเขตอธิปไตย หรือเส้นเขตแดนตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2505 เมื่อไม่มีการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนให้ชัดเจนเสียก่อน แต่เลือกแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ร่วมและออกแถลงการณ์ร่วม ไทยจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบและเสียดินแดนให้กัมพูชาในที่สุด
จากการศึกษาข้อมูลที่ผ่านมา มองว่ารัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาไม่มีความไม่โปร่งใสในเรื่องดังกล่าว ซึ่งการขึ้นทะเบียนประสาทเขาพระวิหาร เป็นมรดกของโลกเป็นเรื่องดี ดังนั้นรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศควรจะทำเรื่องนี้ให้โปร่งใส ไม่ควรทำเพื่อประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง หรือเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งนักวิชาการและคนไทยทุกคนจะต้องออกมาร่วมมือกันยับยั้งการดำเนินการดังกล่าวของผู้มีอำนาจ
ม.ล.วัลย์วิภากล่าวต่อไปว่า รู้สึกยินดีที่นายกรัฐมนตรีเลือกนายเตช บุนนาค มาดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ เพราะเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการต่างประเทศ ด้านประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งหวังว่านายเตชจะเข้ามาแก้ปัญหากรณีพิพาทปราสาทพระวิหารนี้ได้ แต่ในขณะนี้ก็ยังไม่เห็นมีอะไรที่ดีขึ้นหรือมีการดำเนินการแก้ไขอะไรเลยแต่ดูเหมือนว่าจะเป็นการทำงานที่สานต่อนโยบายเดิมของรัฐมนตรีคนเก่า
สำหรับวิธีการแก้ไข คือผู้ที่ทำความเสียหาย หรือมีส่วนทำความเสียหาย จะต้องหยุดสร้างปัญหา ที่จะก่อภาระผูกพันแล้วบอกความจริงเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา และเยียวยาในวิธีทางที่ ถูกต้อง ตรงประเด็น
สำหรับผู้ที่ทีหน้าที่แก้ปัญหาก็พิจารณาว่าใครสมควรจะเป็นผู้บอกเลิกสัญญากับกัมพูชาโดยเร็วที่สุด โดยการอ้างอิงข้อกฎหมาย พร้อมทั้งแถลงให้ประชาชนรับทราบ และจัดการเรียนรู้ และความถูกต้องใหม่ เพื่อเป็นบนเรียนในอนาคต สุดท้ายคือการซื้อเวลาโดยการทวงคืนประสาทพระวิหาร