xs
xsm
sm
md
lg

sme ชี้ทางรอดวิกฤตครึ่งปี 51 วอนเอกชน ชม.ร่วมมือเป็นวาระเหนือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณรงค์ ตนานุวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่- ภาคเอกชนเชียงใหม่ระดมแนวคิด พลิกวิกฤตสร้างโอกาสเพื่อความอยู่รอดในช่วงครึ่งปี 51 นายกสมาคม sme ไทยวอนเอกชนเชียงใหม่ ทำธุรกิจร่วมกันเป็นเครือข่ายหรือจับคู่ธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดด้วยกันและถือเป็นวาระแห่งภาคเหนือ ระบุหากเป็นธุรกิจเดี่ยวอาจไม่รอด ด้านประธานหอฯเชียงใหม่ เผย แม้ศูนย์ประชุมฯเกิดได้แน่ แต่ระบบการจัดการยังไม่ชัดเจน หวั่นกลายเป็นอนุสาวรีย์เช่นเดียวกับพืชสวนโลกฯ

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมเชียงใหม่และสมาคม ATSME ได้จัดสัมมนาเรื่อง “ร่วง-รอด-รุ่ง? ครึ่งปีหลังผู้ประกอบการภาคเหนือ 2008” ที่โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว โดยมีผู้ประกอบการธุรกิจในเชียงใหม่เข้าร่วมกว่า 300 คน

สสว.เน้นภาครัฐลดภาษีนิติบุคคลตั้งกองทุนพลังงานทางเลือก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช กรรมการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจุบันภาคเอกชนไทยพากันหันมาหาช่องทางในการจัดการธุรกิจเพื่อความอยู่รอด ด้วยการลดต้นทุน บริหารจัดการองค์กรด้วยวิธีการใหม่ โดยเฉพาะปัญหาต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้นได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเอสเอ็มอีไทย

จากสถิติปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ต้องเลิกกิจการไปแล้ว ไม่น้อยกว่าเดือนละ 2,000 ราย นับเป็นวิกฤตที่ใหญ่มาก เพราะฐานธุรกิจส่วนใหญ่ของประเทศไทย คือ เอสเอ็มอี หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปจะส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจไทยถดถอยลงเป็นลำดับ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยลบที่ยังคอยเป็นตัวฉุดรั้ง ก็คือภาวะเงินเฟ้อซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 8-9% ในสิ้นปีนี้ นับเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา

จากปรากฏการณ์ที่ยากต่อการป้องกัน เราจำเป็นต้องเร่งกระตุ้นและสร้างความเข้มแข็งให้เอสเอ็มอีกลับคืนมาโดยต้องอาศัยความร่วมมือจากส่วนกลางและท้องถิ่น โดยมีข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาในระยะสั้น คือ 1.รัฐต้องตั้งกองทุนพลังงานทางเลือกให้ผู้ประกอบการ 2.ผู้ประกอบการต้องหาตลาดใหม่ๆ 3.รัฐต้องปรับลดภาษีนิติบุคคลลง และ 4.ต้องมีนโยบายในการตั้งราคาที่แตกต่าง ส่วนในระยะกลางและยาวนั้น 1.จะต้องสร้างแบรนด์เนม และเพิ่มมูลค่าผลผลิตผ่านการศึกษาและวิจัยตลาด 2.ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสมาคมและองค์กรภาคเอกชนโดยต้องมีการเชื่อมโยงทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ เป็นต้น

เอกชน ชม.วอนจับมือแก้วิกฤตยกระดับเป็นวาระภาคเหนือ

นายวิเชียร เชิดชูตระกูลทอง นายกสมาคมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(ATSME) กล่าวว่า ครึ่งปีหลังจากนี้ไปถือว่าเข้าขั้นวิกฤตพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับธุรกิจประเภทจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทบ้านจัดสรร แทบไม่สามารถปิดการขายได้เลยแม้แต่โครงการเดียวในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา สาเหตุก็เป็นที่ทราบกันดี โดยเฉพาะในแง่ของสถาบันการเงินเองปล่อยสินเชื่อค่อนข้างยากมาก ส่วนธุรกิจที่พอจะรุ่งและรอดได้ คงหนีไม่พ้นธุรกิจประเภทท่องเที่ยว แปรรูปทางการเกษตร และสินค้าประเภทหัตถกรรม

เฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวนั้นแม้ว่าตอนนี้จะค่อนข้างซบเซาไปบ้าง แต่ก็สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้ เช่น ผู้ประกอบการด้านรีสอร์ต ขณะนี้ไม่ได้ขายเฉพาะตัวรีสอร์ตเพียงอย่างเดียว แต่จะหันมาปรับเปลี่ยนไปในรูปของการขายบรรยากาศที่เงียบสงบเพื่อขายแพกเกจพ่วงไปกับการทำกิจกรรมการปฏิบัติธรรม ซึ่งถือว่ากำลังได้รับความนิยมอย่างมาก

นายวิเชียร กล่าวต่อไปว่า ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ภาคเอกชนเชียงใหม่ควรจะหันมาจับมือกันในรูปแบบคลัสเตอร์ หรือจับคู่ธุรกิจ หรือทำเป็นในรูปของเครือข่ายหรือเน็ตเวิร์ก หรือเป็นพลูกัน เพราะปัจจุบันการทำธุรกิจเดี่ยวๆ ก็มักจะไปไม่รอดโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นทางรอดสำหรับธุรกิจประเภทวัสดุก่อสร้างหรืออสังหาริมทรัพย์เช่น ถ้าทำธุรกิจประเภทกระเบื้องปูพื้นหรือกระเบื้องหลังคาที่ใช้กับรีสอร์ตก็สามารถขายพ่วงไปกับสินค้าหัตถกรรมหรือสามารถช่วยกันเสนอตลาดรูปแบบใหม่ๆ ที่เราพอรู้จักกันให้แก่รีสอร์ต เป็นต้น หรือแม้แต่ผู้ประกอบการระดับเอสเอ็มอีก็อาจจะผันตัวเองเป็นผู้ทำตลาดให้แก่สินค้าโอทอปโดยที่ตัวเองไม่ต้องเป็นผู้ผลิตเองย่อมทำได้

“การทำธุรกิจแบบช่วยกันคนละไม้คนละมือ อันไหนสามารถขายพ่วงกันได้หรือสามารถช่วยกันลดต้นทุนได้ก็น่าที่จะทำ หรือแม้แต่ธุรกิจท่องเที่ยวเองที่ไม่สามารถจะมานั่งรอเทศกาล หรือรอให้ภาครัฐเป็นผู้กระตุ้นการท่องเที่ยวเพียงฝ่ายเดียวเราต้องลุกขึ้นมาร่วมกันทำกันเองได้แล้ว โดยต้องไม่ห่วงเรื่องผลประโยชน์ตัวเองเป็นหลัก และจะต้องนำมาเป็นวาระแห่งภาคเหนือกันเลยทีเดียว” นายวิเชียร กล่าว

ด้าน นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 2551 จนถึงปัจจุบันธุรกิจที่ถือว่าเป็นธุรกิจที่ร่วงไปแล้วเป็นอันดับต้นๆ คือ ธุรกิจค้าปลีก วัสดุก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ส่วนที่พอจะเห็นตัวเลขที่กระเตื้องขึ้นมาแต่ก็ไม่ถือเป็นดาวรุ่งนักก็จะเป็นธุรกิจด้านการเกษตรอย่างข้าวแต่ก็รุ่งได้ไม่นาน เพราะขณะนี้ราคาเริ่มตกลงไปแล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่าภาคเหนือตอนบนตอนนี้ตัวเลขต่างๆ จะถดถอยลงแต่กลับไปพุ่งขึ้นที่ภาคเหนือตอนล่างมากกว่า

นอกจากนี้ ด้านการท่องเที่ยวเอง เชียงใหม่ใช้ทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวเป็นไปอย่างสิ้นเปลืองมาก จนสุดท้ายขณะนี้เชียงใหม่แทบไม่มีอะไรเป็นจุดขายได้เลย ประกอบกับภาคการขนส่งเพื่อการท่องเที่ยว มีการปรับลดลงไปอย่างมากเช่น สายการบินโลว์คอสต์ก็ลดเที่ยวบินลงจาก 12 เที่ยวลดเหลือ 6 เที่ยว เป็นต้น

“ตอนนี้ยังเป็นห่วงเรื่องของศูนย์ประชุมแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ ที่ครม.อนุมัติงบประมาณมาให้แล้ว แต่เมื่อสร้างเสร็จระบบการจัดการต่างๆ ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนว่า จะออกมาในรูปแบบไหน หรือแม้แต่วิธีการทำตลาดนั้นจริงๆ แล้วก็น่าจะเริ่มได้แล้วแต่ตอนนี้ยังไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น จึงเกรงว่าหากทำตลาดแบบจุดพลุพรึบเดียวหายสุดท้ายกลายเป็นอนุสาวรีย์ เหมือนกับพืชสวนโลกฯ จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง” นายณรงค์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น