xs
xsm
sm
md
lg

ผลจับคู่นักธุรกิจไทย-ญี่ปุ่นรุ่ง SME BANK ปลื้มเจรจา 504 คู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอสเอ็มอีแบงก์ ปลื้มผลการจับคู่นักธุรกิจธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น สำเร็จเกินคาดเจรจาการค้าไปแล้ว 504 คู่ คาดอนาคตมีคู่ค้าตกลงทำธุรกิจเกิดขึ้น 101 คู่ มูลค่า 202 ล้านบาท ชี้นักธุรกิจไทย-ญี่ปุ่นกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเลคทรอนิกส์ตื่นตัวทำธุรกิจร่วมกัน

นายโสฬส สาครวิศว
กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยถึง ผลการจับคู่ธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น (Business Matching) ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ณ สโมสรทหารบก พบว่า นักธุรกิจไทย-ญี่ปุ่นที่เข้าร่วมกิจกรรมฯ มีการติดต่อเจรจาการค้าไป จำนวน 504 คู่ และคาดว่าจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงทำธุรกิจร่วมกัน จำนวน 101 คู่ คิดเป็นมูลค่าทางการค้ากว่า 202 ล้านบาท ทั้งนี้ จากนักธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น จำนวน 98 บริษัทที่เข้าร่วมฯ แบ่งเป็นนักธุรกิจไทย 56 บริษัท ญี่ปุ่น 42 บริษัท ซึ่งจากผลการตอบแบบสอบถามนักธุรกิจที่ร่วมงานทั้ง 98 บริษัทนั้น พบว่า ใน 1 บริษัท มีการติดต่อเจรจาการค้ากันเฉลี่ย 4-5 คู่/บริษัท ซึ่งส่งผลให้การติดต่อทำธุรกิจร่วมกันขยายตัวมากขึ้นและกระจายไปหลายบริษัท แม้จะเป็นบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งแต่ละบริษัทก็ผลิตชิ้นส่วนสินค้าที่แตกต่างกันไป

ทั้งนี้ในการจับคู่ธุรกิจครั้งนี้ ทั้ง 2 องค์กร เอสเอ็มอีแบงก์ และ JFC SME Unit (Japan Finance Corporation, SME unit) พบว่า นักธุรกิจไทย- ญี่ปุ่นมีความกระตือรือร้นในการที่จะเข้าเจรจาธุรกิจระหว่างกัน ทำให้การเจรจาได้ผลตอบรับดีมาก ในส่วนของไทยนอกจากบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกดังกล่าวแล้ว ยังมีบริษัทที่ขอเข้าสังเกตการณ์และพร้อมที่ร่วมจับคู่ธุรกิจในปีหน้ากว่า 20 บริษัท ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การจับคู่ธุรกิจมีบทบาทสำคัญต่อการค้าในอนาคต ทั้งนี้ ฐานลูกค้าของ JFC SME Unit (Japan Finance Corporation, SME unit) ในประเทศไทยจะอยู่ในอุตสาหกรรม 2 ประเภทนี้ทั้งสิ้น 350 บริษัท แบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ 50 % และกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์ 20 % จึงยังเป็นโอกาสของนักธุรกิจไทยในอนาคตที่จะเข้าร่วมเจรจาการค้าได้อีกจำนวนมาก

“ในขณะนี้ลูกค้าของอุตสาหกรรมทั้ง 2 กลุ่มได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจทำให้เกิดการขาดสภาพคล่อง การจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจนี้จะทำให้ผู้ประกอบการทั้ง 2 ประเทศที่เข้าร่วมได้ประโยชน์ ผู้ประกอบการญี่ปุ่นเมื่อพบกับผู้ประกอบการไทยแล้วจะได้แหล่งผลิตใหม่ ๆ ที่จะทำให้ได้ต้นทุนที่ถูกลง ส่งผลต่อการลดค่าใช้จ่ายลงได้ ส่วนผู้ประกอบการไทยจะได้ตลาดใหม่ ๆ รวมถึงได้พัฒนาศักยภาพของตนเองให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล อย่างไรก็ตามการจับคู่ธุรกิจครั้งนี้ เป็นการสร้างโอกาสให้นักธุรกิจที่เข้าร่วมกิจกรรมได้มองเห็นศักยภาพของกันและกัน และมีผลการต่อการทำธุรกิจระหว่างกันในอนาคต” นายโสฬส กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น