หนองคาย - น้ำท่วมหนองคายยังน่าเป็นห่วง แม้ระดับน้ำโขงจะเริ่มลด แต่ยังสูงกว่าตลิ่งทำให้น้ำไหลเข้าท่วมบ้าน และพื้นที่เกษตรต่อเนื่อง ชาวบ้านกว่า 4 หมื่นครอบครัวเดือดร้อน ขาดอาหารน้ำดื่มไฟฟ้า ต้องขับถ่ายลงในน้ำ ขณะที่ประชาชนประสบเหตุเกิดอาการเครียด สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร รับสั่งให้ผู้แทนพระองค์นำถุงยังชีพพระราชทานพร้อมทรงรับสั่งฝากความห่วงใยถึงราษฎรผู้ประสบภัย
สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดหนองคายวันที่ 17 ส.ค.2551 ซึ่งเป็นวันที่ 7 ของเหตุการณ์น้ำท่วม ระดับน้ำโขงวัดที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย เมื่อเวลา 15.30 น.อยู่ที่ระดับ 13.18 เมตร ระดับน้ำโขงเริ่มลดลงแล้ว ทำให้หลายพื้นที่สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย แต่สำหรับในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย ถนนประจักษ์ศิลปาคม น้ำยังคงท่วมขังอยู่ ระดับน้ำสูงประมาณ 30 ซม.เทศบาลเมืองหนองคายเร่งระบายน้ำออกจากตัวเมืองอย่างเร่งด่วนแล้วแต่ยังไม่สามารถทำได้มากเท่าใดนัก
ส่วนสถานการณ์ในต่างอำเภอโดยเฉพาะ ที่ อ.ท่าบ่อ อ.ศรีเชียงใหม่ และ อ.สังคม น้ำยังคงท่วมอยู่ แม้ว่าถนนเส้นทางหลักระหว่างตัวอำเภอจะสามารถสัญจรได้บ้างแล้ว แต่กระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกราก ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนหลายหลังพังทรุดลงไป รั้วบ้านและสถานที่ราชการหลายแห่งพังครืนลงมา ชาวบ้านต้องนำกระสอบทรายวางกั้นกระแสน้ำ
แต่บางคนไม่มีกระสอบทรายต้องตัดต้นไม้ขวางทางน้ำไว้เพื่อลดกระแสความแรงของน้ำลง และเริ่มไหลไปยังพื้นที่ตอนในของอำเภอ ประชาชนในอำเภอศรีเชียงใหม่ กว่า 1,200 หลังคาเรือน ต้องจมอยู่ใต้น้ำ บางแห่งมีน้ำท่วมสูงถึง 2 เมตร โดยที่ ต.บ้านหม้อ ประชาชนขาดแคลนน้ำดื่มสะอาด อาหาร ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่สามารถใช้ห้องสุขาได้ เวลาปวดอุจจาระ ปัสสาวะ ต้องขับถ่ายลงในน้ำ
ประชาชนที่ประสบภัยส่วนใหญ่มีอาการเครียดอย่างเห็นได้ชัด หลายคนเป็นห่วงบ้านเรือน ทรัพย์สิน และธุรกิจที่ถูกน้ำท่วม ทั้งนี้เพราะในพื้นที่ อ.ศรีเชียงใหม่ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะประกอบอาชีพทางการเกษตร ปลูกข้าว ทำไร่ เพาะพันธุ์ปลา และเลี้ยงปลาขาย เมื่อเกิดน้ำท่วมทำให้ธุรกิจเสียหายทั้งหมด และยังเป็นห่วงว่าทางการจะไม่เข้ามาช่วยเหลือหรือชดเชยความเสียหายเหล่านี้
นางคำปุ่น มูลวงศ์ศรี อายุ 41 ปี อยู่บ้านเลขที่ 143 หมู่ 4 บ้านเจียมปราง ต.พานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ กล่าวว่า บ้านถูกน้ำท่วมทั้งหลัง แถมลูกชายวัยขวบครึ่งป่วยเป็นไข้ไม่ลด ตนต้องจ้างเรือหางยาวแล้วอุ้มลูกพานั่งออกจากบ้านมาหาหมอที่โรงพยาบาลศรีเชียงใหม่ ทำให้ลำบากมาก ส่วนตอนกลางคืนก็ไม่สามารถนอนได้ ต้องยืนอุ้มลูกตลอดทั้งคืนเป็นเวลากว่า 5 วันแล้ว
ส่วนสามีก็อยู่ระหว่างการกลุ้มใจหนักเนื่องจากธุรกิจเพาะพันธุ์ปลานิล จำนวน 10 บ่อ มีปลาจำนวน 3.5 แสนตัว ขนาดเท่าฝ่ามือราคาตัวละ 4 บาท กำลังโตและได้ราคาดี พอน้ำท่วม บ่อปลาเสียหาย ปลาว่ายน้ำหนีหมด ทุกสิ่งทุกอย่างหายไปในพริบตา จนแทบจะทำให้หมดเนื้อหมดตัวในเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้
สำหรับในด้านความช่วยเหลือนั้น ที่ศาลาวัดธาตุดำ ต.พานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลอากาศเอกทรงศักดิ์ ตะวันแจ้ง เป็นผู้แทนพระองค์นำสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคพระราชทาน มามอบให้กับราษฎรผู้ประสบภัยน้ำท่วมจังหวัดหนองคาย จำนวน 2,000 ถุง
พลอากาศเอก ทรงศักดิ์ ตะวันแจ้ง เป็นผู้แทนพระองค์ กล่าวว่า พระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทั้งสองพระองค์ทรงตระหนักถึงความเดือดร้อนจากปัญหาอุทกภัยในครั้งนี้ ทรงห่วงใยพสกนิกรที่ประสบภัยทุกคน จึงนำสิ่งของพระราชทานมามอบให้ หวังว่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
แม้จะเทียบกันไม่ได้กับความเสียหายอย่างใหญ่หลวงที่ทุกคน ทุกครัวเรือนประสบ ทั้งบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน เสียหาย แต่ทั้งสองพระองค์ทรงมีความกังวลพระทัย อยากให้ทุกคนได้รับความช่วยเหลืออย่างถ้วนหน้ากัน ทรงรับสั่งขอให้ทางจังหวัด หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกำลังใจกำลังกายที่ดี ร่วมกันประสาน ช่วยเหลือ ฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ววัน แม้จะต้องใช้เวลาบ้างก็ตาม
ทั้งนี้ นำมาซึ่งความปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านแก่ราษฎรผู้ประสบภัยชาวหนองคายอย่างล้นพ้น
นอกจากนี้ ยังมีความช่วยเหลือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยพล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวช รอง ผบ.ตร.ได้นำถุงยังชีพมามอบให้กับประชาชนในเขตอำเภอท่าบ่อ, อ.ศรีเชียงใหม่ และยังมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนนำถุงยังชีพมามอบให้ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ เหล่านี้อย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของปศุสัตว์อำเภอศรีเชียงใหม่ได้นำหญ้าแห้งมอบให้เกษตรกรนำไปให้โค กระบือ กิน และจัดหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการตรวจรักษาสุขภาพสัตว์ ซึ่งขณะนี้แม้ว่าจะยังไม่มีรายงานโรคระบาดในสัตว์ แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้สัตว์เครียด กินอาหารได้น้อยและอาจล้มป่วยด้วยโรคต่างๆ เช่น โรคฉี่หนู, โรคปากเท้าเปื่อย, โรคอหิวาต์เป็ดไก่ เป็นต้น
จากการสำรวจความเสียหายเบื้องต้นขณะนี้จังหวัดหนองคายมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 15 อำเภอ 99 ตำบล 950 หมู่บ้าน 52,257 ครัวเรือน ประชากรเดือดร้อน 207,419 คน เสียชีวิตแล้ว 2 คน บ้านเรือนเสียหาย 978 หลัง โรงงาน 1 แห่ง รีสอร์ต 11 แห่ง ถนน 118 สาย นาข้าว 354,806 ไร่ บ่อปลา 5,017 ไร่ พืชไร่ 2,085 ไร่ มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นทางจังหวัดประเมินไว้ที่ 30 ล้านบาท
แต่คาดว่าเมื่อน้ำโขงลดระดับลงความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมากกว่านี้หลายเท่าตัว นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนประกาศปิดเรียนไม่มีกำหนดในพื้นที่ อ.ท่าบ่อ อ.ศรีเชียงใหม่ และอ.สังคม รวม 40 โรงเรียน