เชียงราย – ชี้เขื่อนจีนกลางน้ำโขง ทำน้ำท่วมหนัก 2 ฝั่งไทย-ลาว หวั่นหากสร้างเขื่อนยักษ์เต็มตามแผน สป.จีน ทำวิกฤตรุนแรงกว่านี้แน่ หลังพบที่มาของวิกฤตน้ำท่วมริมแม่น้ำโขงตั้งแต่เหนือ ยันอีสาน รวมถึง สปป.ลาว ผิดธรรมชาติ
นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง-ล้านนา เปิดเผยว่า จากเหตุการอุทกภัยงแม่น้ำโขงได้เอ่อล้นขึ้นมาริมฝั่งกินอาณาบริเวณตั้งแต่ภาคเหนือของไทย คือ จ.เชียงราย ไปจนถึงภาคอีสาน รวมทั้งในฝั่ง สปป.ลาว นั้น เป็นปรากฎการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่รุนแรงใกล้เคียงกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2514 และ 2509
แต่กรณีน้ำโขงล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 2 ฝั่งน้ำครั้งใหญ่ปีนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนในแม่น้ำโขงอย่างชัดเจน จากเดิมเหตุการณ์น้ำท่วมมักเกิดจากแม่น้ำสาขาต่างๆ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง เช่น แม่น้ำอิง แม่น้ำกก แม่น้ำคำ ฯลฯ เอ่อล้นและไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ปากแม่น้ำ เพราะมีแม่น้ำโขงหนุนทำให้ระบายได้ช้า แต่ครั้งนี้แม่น้ำโขงได้เอ่อเข้าท่วมริมฝั่งโดยตรง ขณะที่แม่น้ำสาขาก็ไหลสู่ห้วย หนอง คลอง บึงต่างๆ ได้ตามปกติ
นายสมเกียรติ เชื่อว่า วิกฤตน้ำโขงท่วมพื้นที่ 2 ฝั่งปีนี้น่าจะเกิดจากการที่ทางการจีนเปิดประตูน้ำเขื่อนจิ่งหง ที่เมืองจิ่งหง หรือเมืองเชียงรุ่ง มณฑลหยุนหนัน จีนตอนใต้ ซึ่งเป็นเขื่อนที่พึ่งสร้างเสร็จใหม่ล่าสุดเปิดใช้งานเมื่อเดือน มิ.ย.51 ที่ผ่านมา และถือเป็นเขื่อนที่อยู่ห่างจาก อ.เชียงแสน ไปเพียง 285 กิโลเมตร หรือใกล้กับประเทศไทยมากที่สุด โดยคาดว่าปริมาณน้ำบนเขื่อนมีมากเกินไปทางการจีนจึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำลงมา
ส่วนข้อมูลเรื่องการเปิดและปิดประตูน้ำนั้นเชื่อว่า ได้มีการแจ้งกันจริงแต่คงอยู่ในวงจำกัดหน่วยงานชายแดนต่างๆ แต่ไม่ได้มีการแจ้งต่อสาธารณะ ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงประสบเหตุน้ำท่วมฉับพลัน ที่สำคัญการทำการเกษตรริมฝั่งแม่น้ำโขงเสียหายไปด้วย
นายสมเกียรติ บอกว่า เขื่อนจิ่งหงเป็น 1 ใน 3 เขื่อนที่ก่อสร้างเสร็จแล้วและยังมีอีก 2 เขื่อนที่สร้างเสร็จแล้วด้านเหนือขึ้นไป ซึ่งเกรงว่าหากทางการจีนสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงครบ 8 เขื่อน (ปัจจุบันกำลังก่อสร้าง 3 เขื่อนและมีแผนจะก่อสร้างอีก 2 แห่ง) จะทำให้เกิดวิกฤตบนแม่น้ำโขงมากกว่านี้
ดังนั้น คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงซึ่งประกอบด้วยไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และประเทศจีน ควรหารือกันในเรื่องการบริหารจัดการและการอนุรักษ์ลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งพิจารณาว่าควรจะมีการสร้างเขื่อนอีกหรือไม่ ขณะที่ประเทศไทยก็ควรจะหันมาศึกษาผลกระทบอย่างจริงจัง
“การจัดการในแม่น้ำโขง ยอมรับว่ามีปัญหามาก ที่ผ่านมาในการประชุมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง 6 ชาติหลายครั้ง หากเป็นวาระด้านสิ่งแวดล้อม-การอนุรักษ์ จีนและพม่า มักจะไม่เข้าร่วมประชุมด้วย แต่ในวาระการพัฒนาการค้า ทั้ง 2 ประเทศจะเข้าร่วมทุกครั้ง”
อย่างไรก็ตาม เครือข่ายแม่น้ำโขงคงจะได้มีการประชุมหารือกันในเร็วๆ นี้ เพื่อศึกษาข้อมูล สถานการณ์ และกำหนดทิศทางการดำเนินการเพื่อป้องกันผลกระทบจากแม่น้ำโขงที่อาจจะเกิดขึ้นอีก และนอกจากเรื่องผลกระทบจากเขื่อนแล้วก็เกี่ยวข้องกับโครงการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงที่ดำเนินการโดยประเทศจีนมาตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งทำให้การขนส่งสินค้าในแม่น้ำโขงทำได้สะดวกมากขึ้นแต่ขณะเดียวกันก็ทำให้น้ำไหลบ่าทะลักมาเร็วมากขึ้นเพราะไม่มีเกาะแก่งชะลอกระแสน้ำ ส่งผลทำให้ตลิ่งพังเป็นบริเวณกว้างทั้งฝั่งไทย-สปป.ลาว