กาญจนบุรี – ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาให้ชาวกะเหรี่ยง 8 คน ชนะคดีโรงแต่งแร่เหมืองคลิตี้ปล่อยสารตะกั่วลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยโดยได้รับค่าเสียหายจากบริษัท 29.5 ล้านบาท ขณะที่ชาวบ้านเผยดีใจที่ได้รับความเป็นธรรม แต่ยังไม่มั่นใจว่าจะได้รับเงินเมื่อไหร่ เพราะเชื่อแน่ว่าทางฝ่ายจำเลยจะต้องยื่นฎีกาต่อ
วันนี้ (14 ส.ค.) เวลา 09.00 น.ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกสิ่งแวดล้อม มีนายกำธร ศรีสุวรรณมาลา ชาวกะเหรี่ยงกับชาวบ้านรวม 8 คนเป็นโจทก์ฟ้องบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) กับ นายคงศักดิ์ กลีบบัว กรรมการผู้จัดการ ในข้อหาละเมิดพระราชบัญญัติส่งเสริมละรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 หลังจากที่เหมืองคลิตี้ ได้ปล่อยสารตะกั่วลงในลำห้วยคลิตี้ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี จนเป็นเหตุให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายจนเจ็บป่วยและสัตว์เลี้ยงล้มตายเป็นจำนวนมาก จำเลยจึงได้ฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 119 ,036,400 บาท โดยเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2549 เวลา 13.30 น.ศาลจังหวัดกาญจนบุรีได้มีคำพิพากษาให้บริษัทฯผู้ก่อมลพิษชดใช้ค่าเสียหายให้กับโจทก์ทั้ง 8 รายรวมเป็นเงิน 4,260,000 บาท ต่อมาทั้งโจทก์และจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์
คำอุทธรณ์พิพากษาว่า บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ ได้กระทำความผิดจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยได้รับความเสียหายจากการเจ็บป่วยด้วยโรคพิษตะกั่วเรื้องรัง ได้รับความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ เสื่อมสมรรถภาพในการทำงาน ไม่สามารถดำรงชีวิตตามปกติสุข สัตว์เลี้ยงล้มตาย และขาดประโยชน์จากการใช้น้ำและได้แก้ค่าทดแทนความเสียหายให้โจทก์ 8 คน จากเดิม 4,260,000 บาท เพิ่มเป็น 29,551,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีถัดจากวันฟ้องตั้งแต่ปี 2546 โดยจำเลยสามารถยื่นฎีกาได้ภายใน 30 วัน
สำหรับคดีนี้ถือเป็นคดีที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมคดีแรกที่มีการฟ้องค่าเสียหายจากบริษัทที่ปล่อยสารพิษลงสู่ลำน้ำสาธารณะ โดยก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดให้ชดใช้เงินค่าเสียหายรวม 4 ล้านบาทเศษ แต่ทั้งโจทก์และจำเลยอุทธรณ์เมื่อปี 2549 จนกระทั่งวันนี้มีคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ออกมาในที่สุด
นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา ตัวแทนชาวบ้านคลิตี้ล่างที่ได้รับความเสียหาย กล่าวว่า ตนและชาวบ้านขอขอบคุณศาลที่ได้สินให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านในครั้งนี้ในส่วนของเงินจะได้รับหรือไม่ก็ยังไม่รู้ หากจำเลยมีการฎีกาต่อคงจะต้องรอไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา เอ็นจีโอที่เกาะติดเรื่องนี้ เปิดเผยว่า การต่อสู้ของชาวบ้านในครั้งนี้ถือเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบ ชาวบ้านพอใจในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในครั้งนี้ แต่หากมีการยื่นฎีกาต่อก็ต้อสู้กันตามกระบวนการต่อไป ในส่วนของชาวบ้านยังคงต่อสู้ในเรื่องของการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่เกิดมลภาวะที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอีกต่อไปด้วย
นอกจากคดีนี้ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบอีกจำนวน 151 คน ยังได้ฟ้องต่อบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และผู้บริหารอีก 1 คดี เรียกค่าเสียหายอีก 1,041,952,000 บาท