xs
xsm
sm
md
lg

“ไทย-ลาว” หารือแนวทางพัฒนาการศึกษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุดรธานี- นักวิชาการด้านการศึกษาไทย-ลาวเวิร์กชอป ระดมความเห็นกำหนดแนวทางความร่วมมือพัฒนาการศึกษา เชื่ออนาคตจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ต่อทิศทางความร่วมมือระหว่างสองประเทศ

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ห้องประชุมโรงแรมเจริญศรีแกรนด์ รอยัล อ.เมือง จ.อุดรธานี นายเตช บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เป็นประธานเปิดการสัมมนาความร่วมมือด้านการศึกษาไทย-ลาว ให้กับผู้บริหารสถานศึกษา นักวิชาการ และคณาจารย์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 140 คน

นายพงศกร อรรณนพพร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการไทยมีบทบาทสำคัญยิ่ง ในการดำเนินความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม นับตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงของทั้งสองประเทศได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจด้านการศึกษาเมื่อปี 2547

ไทย และ ลาว ได้ตกลงร่วมกันที่จะมีการแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้บริหารระดับสูงของทั้งสองประเทศ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนนักศึกษา คณาจารย์ และนักวิจัย ในการสนับสนุนทุนการศึกษาและการวิจัย ตลอดจนการพัฒนาตำราหลักสูตรการเรียนการสอน

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการไทยยังได้ให้ความร่วมมือกับฝ่ายลาว ในด้านการฝึกอบรมด้านวิชาชีพ การผลิตสื่อการสอนด้วยคอมพิวเตอร์ การผลิตสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อการเรียนการสอนโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในโครงการ “สานสัมพันธ์เพื่อนบ้าน” กระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความร่วมมือแก่ฝ่ายลาวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 และได้ขยายเวลาการดำเนินโครงการต่อไปจนถึงปี 2552

นอกจากความร่วมมือดังกล่าวแล้ว กระทรวงศึกษาธิการยังได้ให้ความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาแก่ฝ่ายลาวในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง อาทิ ความร่วมมือด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีการจัดฝึกอบรมหลักสูตรด้านการบริหารและการจัดการศึกษาให้แก่คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของลาว ความร่วมมือด้านการอุดมศึกษา มีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากรไทยกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

ตลอดจนสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการศึกษานอกโรงเรียน มีการจัดการศึกษาทางไกลให้แก่ฝ่ายลาว ทั้งหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่อง และความร่วมมือด้านการอาชีวศึกษา มีการให้ความช่วยเหลือแก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในการพัฒนาโรงเรียนเทคนิค และการอบรมทักษะวิชาชีพ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การให้ความร่วมมือด้านการศึกษาแก่ฝ่ายลาวในอดีตที่ผ่านมา ยังขาดการบูรณาการและการหลอมรวมความร่วมมือที่ชัดเจนระหว่างกัน จนทำให้การกำหนดกรอบความร่วมมือทางวิชาการแก่ฝ่ายลาว ยังไม่มีความเชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกัน ดังนั้น การสัมมนาการศึกษาไทย-ลาว ในวันนี้ จึงนับเป็นก้าวสำคัญ ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษาของประเทศทุกระดับ

ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการด้านการศึกษาจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมกันแสดงความคิดเห็นในการกำหนดแนวทางการพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาไทย-ลาว อันจะนำไปสู่ความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกัน ซึ่งก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อทิศทางความร่วมมือระหว่างสองประเทศ และนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคได้มากที่สุด

นายเตช กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะตระหนักดีว่าความเจริญก้าวหน้าและความสงบสุขของประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเกื้อกูลต่อความเจริญและความสงบสุขของประเทศไทยและของภูมิภาคด้วย รัฐบาลจึงมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาประเทศลาว ซึ่งตั้งเป้าหมายจะให้พ้นจากสถานะประเทศด้อยพัฒนาภายในปี 2563

โดยให้ความร่วมมือในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค เช่น การปรับปรุงถนน การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่นครพนม-คำม่วน และการสร้างทางรถไฟจากหนองคายไปสถานีท่านาแล้งในนครหลวงเวียงจันทน์ ที่สำคัญที่สุด ทั้งสองประเทศมีความร่วมมือทางการศึกษาและวิชาการ เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศ

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ทุกด้าน แต่ยังไม่ได้มีการนำไปใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่าเพื่อพัฒนาประเทศอย่างเต็มศักยภาพ ปัญหาสำคัญคือยังขาดบุคลากร ที่มีความรู้ความชำนาญและทักษะต่างๆ

ดังนั้น บทบาทของไทยในการสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ลาวจึงมีนัยที่สำคัญมากต่อการพัฒนาการของ สปป.ลาว และเมื่อ สปป.ลาวสามารถพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคงแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็จะสามารถเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือในสาขาใหม่ๆ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น