xs
xsm
sm
md
lg

“ธงทอง” เล็งศึกษาหลักสูตรอิสลามมาเลย์ปรับใช้ในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธงทอง จันทรางศุ
“ธงทอง” สนใจการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของมาเลเซีย เล็งทำศึกษาเปรียบเทียบหลักสูตรอิสลามศึกษา เพื่อปรับให้เหมาะสมกับประเทศไทย พร้อมส่งเสริมให้ครูทำวิจัย และประชุมวิชาการอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนให้ดีขึ้น

รศ.ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวในโอกาสเป็นประธานในพิธีปิดการประชุมความร่วมมือการวิจัยทางการศึกษามาเลเซีย-ไทย ครั้งที่ 1 ณ โรงแรมซัมมิท เมืองสุบังจายา รัฐซาลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย ว่า การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ของมาเลเซียเป็นครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากรัฐต่างๆ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ 125 คน ซึ่งให้ความสนใจและซักถามเกี่ยวกับการนำเสนองานวิจัยของประเทศไทย อาทิ เรื่องแหล่งเรียนรู้และครูภูมิปัญญาไทย การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การส่งเสริมสันติวัฒนธรรมในสถานศึกษา เด็กที่มีความสามารถพิเศษ เด็กพิการ อาชีวศึกษา และเรื่องการเกษตรและการท่องเที่ยว เป็นต้น

ส่วนงานวิจัยของมาเลเซียที่ครูนำมาเสนอหลายเรื่องเป็นงานวิจัยและทดลองวิธีการสอนเพื่อพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ การอ่าน การเขียน และการวิเคราะห์ของเด็ก ประกอบด้วย โครงการโรงเรียน Smart School และการบูรณาการ ICT ในการจัดการเรียนสอน การศึกษาระดับปฐมวัย การประเมินนโยบายการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษ แนวการคิดวิเคราะห์แบบมีส่วนร่วม การพัฒนาการใช้คำศัพท์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้เกมภาษา การพัฒนาทักษะการอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่า มาเลเซียสนับสนุนให้ครูทำวิจัย และมีการจัดสัมมนางานวิจัยของครูในแต่ละรัฐ ปีละหนึ่งครั้ง เพื่อเป็นเวทีให้ครูมีโอกาสนำเสนองานวิจัยและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อนำไปปรับปรุงการเรียนการสอนของตนเองให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

“ผมสนใจการศึกษาของประเทศมาเลเซียเป็นพิเศษ เพราะมาเลเซียมีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างเข้มแข็งและจริงจัง และหวังว่าไทยกับมาเลเซียคงจะได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ โดยเฉพาะประเด็นสำคัญ เช่น อิสลามศึกษา ซึ่งประเทศมาเลเซีย มีความเชี่ยวชาญ อาจทำการศึกษาเปรียบเทียบเพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมต่อการจัดอิสลามศึกษาในประเทศไทย อีกเรื่องหนึ่งคือ การสอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ด้วยภาษาอังกฤษ อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่จำเป็นอย่างมากในยุคปัจจุบัน เนื่องจากประเทศไทยเป็นสมาชิกของประชาคมอาเซียน ที่มีความร่วมมือทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เราจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมให้มากขึ้น เพราะประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่มีความพร้อมทางด้านภาษาอังกฤษมากกว่า นอกจากนี้ มาเลเซียยังเป็นประเทศที่อยู่ใกล้ไทยมากที่สุด มีความสะดวกในการเดินทาง ค่าใช้จ่ายก็ไม่แพงมาก และมีระดับความพร้อมที่ใกล้เคียงกัน” รศ.ธงทอง กล่าว

เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวอีกว่า สกศ.ในฐานะองค์กรหลักด้านนโยบายและแผนการจัดการศึกษาของประเทศ จะส่งเสริมให้ครูทำงานวิจัยมากขึ้น และจัดประชุมวิชาการ (symposium) อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นเวทีให้ครูได้ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยทางการศึกษา พร้อมกันนั้นก็จะคัดเลือกงานวิจัยที่มีคุณภาพดีไปนำเสนอในการประชุมความร่วมมือการวิจัยทางการศึกษาไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 2 ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในปลายปี 2552 ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น