ความสงบไม่ได้มีความสำคัญสำหรับมนุษย์แต่เฉพาะในยามที่หัวใจเรากำลังเต้นอยู่เท่านั้น แต่มีความสำคัญกระทั่งในวันที่ลมหายใจสุดท้ายของเรามาถึง
หลายปีมานี้ ประเทศไทยมีการตื่นตัวเป็นอย่างมาก ในเรื่องการช่วยเหลือ ‘ผู้ป่วยระยะสุดท้าย’ ให้พวกเขาได้เผชิญ หน้ากับความตายอย่างสงบ ดังจะเห็นได้จากมีการจัดอบรม ในเรื่องของความตายเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งยังมีหนังสือที่ตีพิมพ์เผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับความตายและการเตรียมตัวตายออกมาวางจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจไม่น้อยไปกว่าหนังสือที่ให้ความรู้ในด้านอื่นๆและเมื่อสืบค้นผ่านเครือข่าย อินเตอร์เน็ตของประเทศไทย จะพบว่ามีเครือข่ายหรือองค์กร ที่กำลังผลักดันให้สังคมหันมาให้ความสำคัญในเรื่องของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ช่วยให้พวกเขาได้จากโลกนี้ไป อย่างผู้ที่ไม่มีปัญหาหรือความทุกข์ค้างคาใจ และช่วยให้ครอบครัวและคนรอบข้างไม่ต้องเป็นทุกข์กับการพลัดพราก จากบุคคลอันเป็นที่รัก
หนึ่งในเครือข่ายที่ทำงานด้านนี้มาอย่างต่อเนื่องคือ เครือข่ายพุทธิกา เครือข่ายเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคม ซึ่งมีพระนักคิดนักวิชาการอย่าง ‘พระไพศาล วิสาโล’ ประธานเครือข่ายฯ เป็นผู้ริเริ่มให้เกิด ‘โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ’
การได้เห็นความทุกข์ที่เกิดจากการสูญเสีย เมื่อครั้งเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ซึ่งพระไพศาลยู่ร่วมสถานการณ์ด้วย มีผลทำให้เมื่อบวชเป็นพระ ก็สนใจศึกษาเรื่องของความตายมากเป็นพิเศษ กระทั่งได้แปลหนังสือ ‘ประตูสู่สภาวะใหม่’ และ ‘เหนือห้วงมหรรณพ’ ซึ่งเป็นคำสอน ของชาวทิเบตในเรื่องการเตรียมตัวตาย
ปรากฏว่ามีผู้ให้ความสนใจเกินคาดคิด และทำให้คนได้รู้จักท่านในฐานะะพระที่พยายามส่งสารเรื่องความตายมา เตือนสติผู้คนอยู่เป็นระยะ จึงนำมาสู่การจัดบรรยายหัวข้อ ‘คำสอนเรื่องความตายของท่านพุทธทาส’ ในปี พ.ศ. 2545 ต่อด้วยการจัดให้มีการอบรมในหัวข้อ ‘การเผชิญความตาย อย่างสงบ’ อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนี้
“เราตระหนักว่า ตอนนี้คนไทยมีความทุกข์เนื่องจากความตายเยอะมาก เป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นทั้งกับผู้ป่วย แพทย์ พยาบาล และญาติผู้ป่วย ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจมาก่อนว่าต้องมาเจอความตาย อีกทั้งกระบวนการตายที่แปรเปลี่ยนไป จากที่เคยตายเพราะการติดเชื้อ ปัจจุบันนี้คนตายเพราะโรคที่ซับซ้อนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง หัวใจ เบาหวาน ความล้มเหลวของอวัยวะต่างๆเช่น ไตวาย ฯลฯ โรคเหล่านี้ความตายจะยืดเยื้อ ยาวนานเป็นปี และความเจ็บปวดก็มักจะเกิดขึ้นตามมาจากการรักษาที่พยายามเน้นเรื่องการยืดชีวิต โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องคุณภาพชีวิตก่อนตายเท่าไหร่
โครงการจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อจะเตือนสติผู้คนให้ระลึกถึงความตายว่ามันสามารถเกิดขึ้นกับเราได้เสมอ และเราได้ทำกิจกรรมเพื่อให้คนได้รู้วิธีที่จะเตรียมตัวเตรียมใจในการที่จะเผชิญหน้ากับความตายของตัวเอง รวมทั้งมีทักษะที่จะช่วยเหลือผู้อื่น และผู้ที่ตัวเองรักให้จากไปอย่างสงบ”
• ตายอย่างสงบคือตายอย่างมีสติ
พระไพศาลกล่าวว่าในทางพระพุทธศาสนานั้น การตายอย่างสงบคือการตายอย่างมีสติ รู้ตัว ปล่อยวางจากสิ่งต่างๆ ที่เคยผูกพัน ไม่ว่าจะเป็นการงาน ทรัพย์สิน เงินทอง สามี ภรรยา ลูกหลาน ฯลฯ
“ตายด้วยใจที่โปร่งเบา ปล่อยวาง พร้อมรับกับความตาย ไม่ปฏิเสธ ไม่ผลักไส เป็นการยอมรับความตายโดยดุษฎี จริงๆเราอยากจะไปให้ไกลกว่านั้นคือ ตายด้วยใจที่สว่างด้วย ไม่ใช่ตายด้วยใจที่สงบอย่างเดียว อยากให้ตายอย่างเกิดปัญญา รู้และเข้าใจความจริงของชีวิต จนสามารถที่จะปล่อย วางความยึดถือในตัวตนได้ ตามที่อาจารย์พุทธทาสเรียกว่า ตายก่อนตาย มันสำคัญมากในทางพระพุทธศาสนา ถ้าคุณตายด้วยใจที่เกิดปัญญา และเห็นความจริงของธรรมชาติว่า มันต้องมีเกิดแก่เจ็บตาย ไม่มีอะไรที่น่ายึดถือ ถ้าทำอย่างนั้นได้ จะปล่อยวางได้อย่างสิ้นเชิง สามารถที่จะบรรลุธรรม ได้ คนที่จะมาถึงจุดนี้เป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้นในขั้นต้น เราตั้งเป้าว่าช่วยให้ได้ตายอย่างสงบก่อน และโอกาสที่จะนำไปสู่การตายอย่างสว่างทางปัญญา ก็อาจจะเกิดขึ้นได้”
• ทุกคนสามารถตายได้อย่างสงบ
สิทธิที่จะตายอย่างสงบเป็นของทุกคน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะอยู่ในวัยไหน เด็กในวัย 3 -4 ขวบ ขณะกำลังทุรนทุรายด้วยโรคมะเร็งที่กำลังคร่าชีวิต สุดท้ายก็จากไปอย่างสงบ เพราะได้รับความช่วยเหลือจากพยาบาลที่ใช้วิธีน้อมนำพาจิตใจให้ได้จากไปอย่างสงบ หรือในรายของผู้ใหญ่เอง แม้ตามประวัติจะไม่ใช่ผู้ที่นิยมเข้าวัดฟังธรรม แต่เมื่อได้รับการช่วยเหลือจากกัลยาณมิตร ชี้นำจิตใจให้ปล่อยวาง และปลดเปลื้องเรื่องที่ค้างคาจิตใจ ในที่สุดเขาก็สามารถจากไปได้อย่างสงบ หรือในรายผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ มีตัวอย่างว่าเขาสามารถจากไปอย่างสงบได้ โดยที่ไม่ได้ทุรนทุรายไปกับทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นพระไพศาลจึงเชื่อว่ากระบวนการน้อมนำจิตสามารถทำให้ผู้ป่วยทุกรายอยู่เหนือความเจ็บปวดได้
“คนที่ตายอย่างไม่สงบมีสองสาเหตุ คือหนึ่งร่างกายเกิดความเจ็บปวดอย่างแรง เรียกว่าทุกขเวทนา อีกส่วนหนึ่ง คือเรื่องของใจที่มีความกลัว วิตกกังวล ยึดติด ปล่อยวางไม่ได้ มีความห่วงหาอาลัย มีความเจ็บแค้น โกรธเคือง และลึกๆยังมีสิ่งที่รู้สึกผิด หากจิตใจของเขาสามารถปล่อยวางสิ่งเหล่านี้ได้ สามารถยอมรับความเจ็บปวดทางกายด้วยสติ ด้วยสมาธิ ไม่ทุกข์ทรมานไปกับความเจ็บปวดทางกาย จะตายอย่างสงบได้ทุกคนไป”
พระไพศาลได้ยกตัวอย่างผู้ป่วยระยะสุดท้ายรายหนึ่ง ซึ่งได้สร้างความประทับใจให้กับคนรอบข้างที่ดูแล
ผู้ป่วยรายนี้เป็นคุณแม่ลูกสองซึ่งป่วยด้วยโรคมะเร็งใกล้ตาย แต่ไม่ยอมตาย พยายามบอกให้แพทย์ช่วยยื้อชีวิต เธอไว้ทุกวิธี พยาบาลได้เข้าไปคุยจึงพบว่าเธอยังห่วงลูก ทั้งสองคนว่าจะไม่มีผู้ดูแล แต่เมื่อพยาบาลได้พูดให้มั่นใจว่า ลูกของเธอมีคนเลี้ยงแน่นอน เธอจึงบอกว่าเบาใจลงไปได้ ถึง 80% ขณะที่อีก 20% ยังรู้สึกกลัวว่าจะตายอย่างทุรนทุราย ไม่มีคนดูคนช่วยเหลือ พยาบาลจึงได้ให้ความอุ่นใจด้วยคำพูดอีกว่า “คุณเป็นคนดี ทำความดีมาตลอด ให้มั่นใจว่าจะมีผู้ช่วยเหลือจนลมหายใจสุดท้าย” และวันสุดท้ายก่อนตายเธอถอดเครื่องช่วยหายใจออก แล้วร่ำลาพยาบาล บอกว่าฉันพร้อมจะตายแล้ว และจากไปอย่างสงบ เช่นกัน
“จากคนซึ่งไม่อยากตายพอ เขาได้รับความช่วยเหลือ จากคนที่ช่วยให้เขาปล่อยวางได้ เขาก็พร้อมจะตายได้” พระไพศาลกล่าว
• ตายสงบไปสวรรค์
พระไพศาลเห็นว่าความตายไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนต้องกลัว ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้พลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส
“เป็นโอกาสในการพัฒนาจิตใจ เป็นโอกาสในการคืนดีกับคนที่เราเคยบาดหมาง เป็นโอกาสที่จะทำให้เราดำเนินชีวิต ด้วยความไม่ประมาท ทำความดี และสร้างกุศลอยู่เสมอ”
และยิ่งถ้าเป็นการตายอย่างสงบ สามารถส่งผลให้คนเราไปสู่ในภพภูมิที่ดีได้อย่างแน่นอน
“ในทางพุทธศาสนาเชื่อว่าจิตสุดท้ายก่อนตายสำคัญ ที่เรียกว่าอสัณกรรม คือกรรมจวนเจียน อาจารย์พุทธทาสเรียก นาทีสุดท้ายก่อนตายว่าเป็นนาทีทองของชีวิต เพราะเป็นพลังผลักดันอันสำคัญที่จะพาเราไปสู่สุคติหรือทุคติก็ได้ ถ้าไม่มีความกังวล ปล่อยวาง ใจเป็นกุศล ก็ไปสู่สุคติ หรือกระทั่งบรรลุธรรมขั้นสูงก็ได้ แต่ถ้ามีความตระหนก กลัว ห่วง กังวล หรือถูกบีบคั้นด้วยความเจ็บปวด มีความทุกขเวทนา อย่างแรง ก็จะไปสู่ทุคติ ที่จริงทุกศาสนาให้ความสำคัญกับตอนใกล้ตาย เพราะฉะนั้นประเพณีไทยจะมีการนิมนต์พระมาบอกอรหัง บอกทาง หรือให้คนใกล้ตายได้ฟังธรรม ฟังพระสวดมนต์ ให้จิตใจน้อมนำไปในทางที่เป็นกุศล ให้ถวายสังฆทานก่อนตาย ให้พนมมือ ถือดอกไม้ธูปเทียน เพื่อที่จะได้ไปสักการะพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์”
• สบตากับความตายให้ได้ทุกเมื่อ
การที่คนเราควรจะหันมาสนใจในเรื่องของความตาย ไม่ใช่เรื่องต้องรอเวลา เพราะว่าความตายไม่ใช่เรื่องที่อยู่ไกล แต่อยู่กับเราทุกขณะจิต
“ทางทิเบตเขามีภาษิตอันหนึ่งที่น่าสนใจมาก เขาบอกว่า ระหว่างพรุ่งนี้กับชาติหน้าไม่มีใครรู้หรอกว่าอะไรจะมาถึงก่อน อย่าคิดว่าชาติหน้าอยู่ไกลนะ บางทีชาติหน้าอาจมาถึงก่อนวันพรุ่งนี้ก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราตระหนักตรงนี้ได้ เราจะรู้ว่าความตายมันสามารถเกิดขึ้นกับเราได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ประการแรก เราพร้อมที่จะตายหรือยัง เราได้ทำความดี ทำหน้าที่จนเรา มั่นใจว่า เราพร้อมจะตายได้หรือยัง และสองหากเราจะต้อง ตาย เราพร้อมที่จะปล่อยวางสิ่งต่างๆหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็น การงาน ทรัพย์สิน เงินทอง สามี ภรรยา ลูกหลาน ฯลฯ ถ้าเรายังไม่พร้อม ทำใจปล่อยวางไม่ได้ รู้สึกว่ายังมีอะไรที่ยังทำไม่เสร็จ ก็ยิ่งต้องรีบขวนขวาน ทำสิ่งนั้นให้เสร็จ อย่าผัดผ่อน
ถ้าเราทำสองอย่างนี้ได้คือ สามารถปล่อยวางในสิ่งที่ชอบ ที่ยึดติด และขวนขวายในสิ่งที่เราชอบผัดผ่อน แสดงว่าเราได้เตรียมตัวเตรียมใจที่จะเผชิญกับความตายได้”
• กระบวนการเตรียมตัวตาย
วรรณา จารุสมบูรณ์ ผู้จัดการโครงการเผชิญความตายอย่างสงบ เล่าถึงกระบวนการอบรมซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมระหว่างวิทยากรและผู้เข้าอบรมว่ามีสี่ส่วนด้วยกัน
ส่วนแรกเป็นวิธีคิดเกี่ยวกับมุมมองเรื่องของความตาย
“เราต้องรู้ก่อนว่าแต่ละคน คิดกับความตายอย่างไร เรายังกลัวตายอยู่ไหม อะไรที่ทำให้เรากลัวและกังวล ถ้าเราต้องตาย ต้องอยู่ในสภาวะนั้นจริงๆ เราจะคิดอย่างไรกับตัวเอง เราจะนำหลักธรรมทางพุทธศาสนามาย้ำกับเขาด้วยว่า พุทธศาสนามีหลักในการมองเรื่องความตายอย่างไร และเราควรมีท่าทีกับความตายอย่างไร เช่น เราเชื่อในเรื่องภพภูมิ เราไม่เชื่อเรื่องการหายไป การสูญสิ้น เราเชื่อว่าการตายคือการเปลี่ยนสภาพจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง เป็นเรื่องของ สภาวธรรมที่มันเปลี่ยนไปตามธรรมชาติ มันไม่มี อะไรที่แน่นอน ร่างกายไม่ใช่ของเราตั้งแต่ต้น”
ส่วนที่สองเป็นการพัฒนาทักษะในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้แก่ แพทย์ พยาบาล ญาติผู้ป่วย หรือแม้แต่ผู้ป่วยที่เข้ารับการอบรม โดยวิทยากรจะแนะหลักการในการดูแลผู้ป่วย รวมถึง การจัดกิจกรรมสมมติให้ทดลองปฏิบัติ เช่น การฝึกมรณสติ หรือว่าซ้อมตายให้ทุกคนได้สวมบทบาทสมมติว่าถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องรักษาและดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย จะปฏิบัติตัวอย่างไร มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มย่อย รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมไปเยี่ยมผู้ป่วยที่โรงพยาบาล
ส่วนที่สามคือการฝึกมรณสติภาวนา เป็นการฝึกให้ปล่อยวางสิ่งที่ยังยึดติดและพิจารณาถึงสิ่งที่ควรทำและอยากจะทำแต่มักผัดผ่อนอยู่เรื่อยมา
“บางคนยึดติดในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา แค้นมากเลย สามีไปมีเมียน้อย ไม่พูดจากัน ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น สู้เราให้อภัยกันดีกว่าจะได้เป็นอิสระต่อกัน ส่วนการเร่งทำในสิ่งที่ชอบผัดผ่อน เช่น อยากจะพาแม่ ไปเที่ยว อยากทำดี กับแม่ อยากจะขยัน อยากจะไปโน่นไปนี่ อยากไปปฏิบัติธรรม หรือทำประโยชน์ให้กับสังคม แต่เรามักผัดผ่อนไปเรื่อย เพราะเราคิดว่าอีกหน่อยค่อยทำแล้วกัน ยังไม่ถึงเวลา เรายังไม่ตายตอนนี้หรอก ไม่เป็นไร ซึ่งเราควรหันกลับคิดว่าอะไรที่สำคัญกับชีวิตเรา และเร่งทำมันซะตั้งแต่ตอนนี้”
ส่วนสุดท้ายเป็นการฝึกภาวนาในรูปแบบต่างๆ เช่น การทำโพวา คือ การน้อมนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือมาช่วยเยียวยา และเพิ่มพลังจิต และการทำทองเลน คือ การฝึกภาวนาเพื่อ เกื้อกูลผู้อื่น โดยมีหลักการคือการเปิดใจรับเอาความทุกข์ ความเจ็บปวดของผู้อื่นมาที่ตัวเราและเปิดหัวใจส่งผ่านความดี ความสุข ความปีติ ความกรุณา ความเข้มแข็งของเราไปให้ผู้นั้น ซึ่งทั้งการทำโพวาและการทำทองเลน พระไพศาลประยุกต์มาจากหนังสือ ‘ประตูสู่สภาวะใหม่’ ของโซเกียล รินโปเช เพื่อนำมาใช้ในการฝึกอบรม ‘เผชิญความตายอย่าง สงบ’ โดยเฉพาะ
วรรณากล่าวว่าการอบรมแต่ละครั้งมีทีมงานจากเสมสิกขาลัย องค์กรที่ทำงานด้านการศึกษาทางเลือกและเป็น หนึ่งในเครือข่ายพุทธิกา มาเป็นผู้ช่วยจัดกระบวนการอบรม ขณะที่ทีมวิทยากรมี พระไพศาล เป็นวิทยากรหลัก และเป็น ผู้ที่จะให้ความรู้เรื่องความตายในทางพระพุทธศาสนา รวมถึงแพทย์และพยาบาลซึ่งมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเป็นวิทยากรตลอดจนคณะทำงานของเสมสิกขาลัยและเครือข่ายพุทธิกา ซึ่งหลายท่านนั้นมีความรู้และผ่านการทำวิจัยเรื่องการตาย
ที่ผ่านมาผู้ที่สนใจเข้ารับการอบรมมีจากทุกศาสนา การ นำไปปรับใช้ในรายละเอียดแต่ละศาสนาอาจแตกต่างกัน เช่น ศาสนาอิสลามก็อาจจะมีการให้คนมาสวดคัมภีร์อัลกุรอานให้ผู้ป่วยฟัง ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกอาจให้มีการล้างบาปก่อนจะตาย ทว่าทุกศาสนาอยู่ภายใต้หลักการเดียว กัน คือการทำให้จิตใจปล่อยวาง และปลดเปลื้องสิ่งค้างคาใจ
นอกจากนี้เธอยังย้ำว่ากระบวนการอบรมของโครงการฯ ไม่ได้เป็นการสอนให้ผู้เข้าอบรมปฏิเสธการรักษาทางการแพทย์ แต่เป็นการอบรมที่แนะแนวทางในการนำวิธีการรักษาทางจิตวิญญาณมาใช้ร่วมกับวิธีทางการแพทย์ เพื่อเป้าหมายเดียวกันนั่นก็คือ ให้ผู้ป่วยได้จากไปอย่างสงบ
• เตรียมเสบียงไว้หล่อเลี้ยงลมหายใจสุดท้าย
คุณสมถวิล ลือชาพัฒนพร เจ้าของบริษัทกรีน พริ้นท์ จำกัด เป็นผู้ป่วยคนหนึ่งที่ให้ความสนใจเข้าร่วมอบรมกับโครงการเผชิญตายอย่างสงบ แม้ว่าเธอจะไม่ใช่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ทว่าแพทย์ตรวจพบว่าเธอป่วยด้วยโรคมะเร็งในปอด ขั้นที่ 1 จึงมิอาจนิ่งนอนใจว่าความตายนั้นเป็นเรื่องไกลตัว
คุณแม่ลูกสาม วัย 48 ปี บอกว่าไม่คาดคิดว่าจะถูกโรคร้ายคุกคามชีวิต เมื่อได้เข้าร่วมอบรมกับโครงการ ทำให้เธอบอกกับตัวเองว่า ช่วงเวลาที่เหลือจากนี้เป็นต้นไป เป็นช่วงเวลาของการเตรียมเสบียงไว้หล่อเลี้ยงจิตใจ หากวันหนึ่งช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตต้องมาถึง และเมื่อนั้นคนรอบข้างของเธอคงไม่ต้องเป็นทุกข์มาก
“ได้รับรู้รับฟังประสบการณ์ของผู้เข้าร่วม ได้เห็นตัวอย่าง
ของคนที่ดูแลผู้ป่วย คนที่ป่วยเอง คนที่เป็นญาติพี่น้อง เป็นผู้ สูญเสีย มันได้หลายมุมมอง เลยทำให้เราคุ้นเคยกับความตาย
จริงๆพอรู้ว่าป่วย ดิฉันเริ่มปรับกระบวนทรรศน์ใหม่เลย ทั้งเรื่องร่างกายและจิตใจ จากที่เราเคยใช้ชีวิตแบบทิ้งๆ ขว้างๆ พอผ่านวัยหนุ่มวัยสาวเข้าสู่วัยกลางคนเราก็ยังนึกว่า เรายังไหวอยู่ โหมทำงาน ไม่หันกลับมามองตัวเอง กินนอนไม่เป็นเวลา ทำให้ร่างกายทรุด ตอนนี้ดิฉันใช้ตัวเองเป็นบทเรียน บอกกล่าวกับคนรอบข้าง คนที่เรารัก เพื่อนฝูง กัลยาณมิตรทั้งหลายให้เขาเห็นดิฉันเป็นตัวอย่าง ว่าสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อนมันเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นเราไม่ควรประมาท ควรจะเตรียมตัว”
การที่ร่วมเป็นหนึ่งสมาชิก ในยามที่มีการจัดนัดพบเครือข่ายของผู้เข้าอบรม ทำให้เธอ มองเห็นทางว่าต่อไปในอนาคตจะฝากชีวิตช่วงสุดท้ายของตัวเองไว้กับใคร
“มันเป็นนิมิตรหมายอันดีที่บ้านเรามีคนหันมาให้ความสนใจในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล จากโรงพยาบาล ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ซึ่งพวกเขามีผลทำให้เรารู้สึกว่าเราอยากฝากชีวิตไว้กับแพทย์และพยาบาลโรงพยาบาลนี้จังเลย เพราะว่าผู้ป่วยระยะสุดท้าย มันอยู่ในภาวะที่สิ้นหวัง สับสน โดยเฉพาะการรักษาแบบสมัยใหม่ที่ยังขาดมิติทางด้านจิตใจ ถ้าบุคคลากรทางการแพทย์ให้ความสนใจทางด้านนี้มันจะช่วยผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วยได้เยอะมาก และถือเป็นการสร้างกุศลอันใหญ่หลวง เพราะเราสามารถช่วยให้เขาได้ไปอย่างสงบ”
• ไปอย่างสงบด้วยวิปัสสนากรรมฐาน
รศ.ดร.อาภรณ์ เชื้อประไพศิลป์ แห่งคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ผ่านการเรียนรู้จากสถานการณ์จริงเพราะเคยเป็นพยาบาลและเป็นอาจารย์สอนคณะพยาบาลศาสตร์
ประสบการณ์กว่า 30 ปี ทำให้เธอทราบถึงวิธีที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้จากไปอย่างสงบ แม้เวลานี้เธอจะลาออกจากราชการและสอนนักศึกษาปริญญาเอกในบางรายวิชา แต่หน้าที่ในการเป็นผู้ให้ความรู้และช่วยเหลือผู้ป่วย ให้ไปอย่างสงบโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนยังคงเดินหน้าต่อไป
“คนไข้ตายกับมือเรามาเยอะ บางคนก็ไปสงบบางคนก็ไป ไม่สงบ ยิ่งเราเป็นชาวพุทธเรารู้ว่า จิตที่ไปอย่างสงบจะไปสู่ที่ที่ดี เราก็เลยคิดว่า จะหาทางช่วยให้คนไข้ไปอย่างสงบได้อย่างไร ประกอบกับคนรอบข้างของเราด้วย เดี๋ยวคนนี้ก็ไป เดี๋ยวคนนั้นก็ไป และเราเองก็ไม่รู้ว่าจะไปวันไหน ตอนไหน จึงทำให้สนใจศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง”
โดยการศึกษาในช่วงแรกเริ่มของ รศ.ดร.อาภรณ์ คือศึกษาจากคนไข้ ว่าเหตุใดคนไข้บางรายถึงจากไปอย่างสงบ ขณะที่บางรายไม่จากไปอย่างสงบ ต่อมาในปี พ.ศ.2534 เธอเริ่มหันไปสนใจทางด้านการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จึงทำให้ เกิดความเชื่อว่า หากจิตของตัวเราเองสงบ จะสามารถส่งผ่าน ความสงบนั้นไปยังผู้อื่นและช่วยผู้อื่นได้
จากการทดลองปฎิบัติควบคู่กับการทำวิจัย ทำให้เกิดเป็น ขั้นตอนในการช่วยเหลือ และนับวันก็ยิ่งมีความรู้และมีทักษะมากขึ้น ซึ่งเธอได้ลงมือปฎิบัติและทำวิจัยในเรื่องนี้อย่างจริงจังในช่วงเวลาของการเป็นอาจารย์ที่ต้องสอนนักศึกษาปริญาโทและปริญญาเอก
“นักศึกษามีปัญหาจะมาปรึกษาเรา และการลงมือปฏิบัติส่วนใหญ่ก็กับญาติของเพื่อนฝูง ถึงเวลาก็โทรมาตาม เพราะหมอบอกว่าอีกสองชั่วโมงจะไปแล้ว ช่วยไปส่งให้เขาไปอย่าง สงบหน่อย หรือไม่กี่วันนี้ก็มีสอบถามมาทางโทรศัพท์ว่าจะต้องช่วยอย่างไร”
การลงมือปฏิบัติเป็นการเรียนรู้ร่วมกันหลายๆฝ่ายทั้งครอบครัวของผู้ป่วยและนักศึกษา ซึ่งติดตามไปสังเกตการณ์ด้วย ซึ่ง รศ.ดร.อาภรณ์ ได้เล่าถึงขั้นตอนในการช่วยเหลือผู้ป่วยให้จากไปอย่างสงบในแบบของเธอว่า
“อันดับแรกใจเราต้องสงบก่อน เมื่อเราใจสงบเราก็ตั้งอธิษฐานจิต ขอให้เรามีปัญญาที่จะไปช่วยเขา จากนั้นเราต้องเข้าใจสภาวะความเป็นจริงของคนไข้คนนั้นก่อน อยู่ๆเราเข้าไปช่วย เราไม่รู้จักคนไข้ เราก็จะช่วยไม่ค่อยถูกเท่าไหร่ แต่ถ้าเราเข้าใจความเป็นจริงของเขาทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ สังคม แวดล้อม ทุกบริบทของเขาอย่างถ่องแท้ เราก็ช่วยเขาได้ตรงจุด กรณีที่เขาไม่รู้สึกตัวจะสื่อกับเขาโดยใช้สภาวจิต จับมือแล้วก็คุยกับเขา และเอามือวางเบาๆ บนหัวใจของเขา อย่างน้อยที่สุดใจเราซึ่งสงบ จะไปลดอุณหภูมิ ของความรุ่มร้อน ทุรนทุราย นอกจากนี้ คือ การอธิษฐานจิต แผ่เมตตา ขอขมาเจ้ากรรมนายเวร ให้ศีลของเขาบริสุทธิ์ และพยายามบอกเขาว่าตอนนี้เขาอยู่โรงพยาบาลนะ เขาไม่ได้ทำอะไรเลย ที่ผิดศีล ถ้าเป็นศาสนาอื่นก็อธิษฐานแตกต่างกันไป หรือเป็นคนจีน ก็อีกแบบหนึ่ง เราจะทำให้ เหมาะกับบริบท
สมมติว่าเขาเชื่อเรื่องของเจ้าแม่กวนอิม เราก็จะเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เขานับถือ ให้เขาได้ยึดเหนี่ยว คนไม่มีศาสนาเลย หรือไม่สนใจอะไรเลย ก็ให้เขา อยู่อย่างสงบกับสิ่งที่เขาชอบ เช่น ดนตรีและเสียง ระฆัง หรือบางคนแค่ได้ดูพระพุทธรูปก็สงบแล้ว เมื่อจิตเขามีที่ยึด เราก็จะโปรแกรมจิตเขาด้วยคุณความดีที่เขาทำมา บางคนจะพูดถึงเรื่องของสิ่งที่เขาภาคภูมิใจในชีวิต ให้ลูกหลานช่วยพูดในสิ่งที่เขาปีติยินดี มันก็จะหล่อเลี้ยงจิตของเขาให้สงบ ถ้าเขาสามารถสื่อกับเราได้ ก็ดูการหายใจของเขา ลมที่หน้าท้อง การขึ้นลง การขยายของทรวงอก เรา จะผ่อนคลายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เพื่อให้เขาอยู่นิ่ง กับสิ่งที่เป็นคุณความดีหรือว่าเป็นสิ่งที่เขายึดมั่น สิ่งสำคัญคือให้จิตมีที่ยึด ให้จิตอยู่กับความสงบ”
รศ.ดร.อาภรณ์เล่าว่า ในรายของผู้ป่วยสูงอายุที่สนใจเรื่องพิธีกรรม จะนำเรื่องของพิธีกรรมเข้ามาช่วยด้วย อย่างเช่นการถวายผ้าไตร ให้เขาถวายผ้าไตรต่อหน้าพระพุทธรูป หรือทำอะไรก็ได้ที่จะทำให้ผู้ป่วยได้ตอบสนองความต้องการของตัวเอง
มีคุณยายท่านหนึ่งอายุ 92 ปี เมื่อได้ทำพิธีถวายผ้าไตร รับศีล ขออโหสิกรรม กลับมามีพลัง ลุกขึ้นมาทานข้าวได้ และมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกสักระยะ ก่อนที่จะจากไปอย่างสงบ ขณะที่หลายรายก็มีตัวอย่างให้เห็นไม่แตกต่างกัน
ครูจูหลิง ปงกันมูล ครูศิลปะชาวจังหวัดเชียงราย ซึ่งถูก ทำร้ายขณะปฏิบัติหน้าที่ของการเป็นครูที่จังหวัดชายแดนใต้ และถูกนำมารักษาตัวที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ร่วมแปดเดือนก่อนจะเสียชีวิตไป ก็เป็นตัวอย่างของคนไข้อีกหนึ่งรายที่ในที่สุดก็ลาจากโลกนี้ไปด้วยความสงบ
ร่างกายของครูจูหลิง แท้จริงแล้วหยุดทำงานทุกส่วน ทว่าที่ยังยื้อชีวิตตัวเองอยู่ต่อ ก็เพราะยังมีความเป็นห่วงพ่อและแม่ รศ.ดร.อาภรณ์ได้ใช้วิธีพูดให้ครูจูหลิงภาคภูมิใจว่าชีวิตนี้ได้ทำหน้าที่สมบูรณ์แล้ว และสิ่งที่ทำก็เป็นที่รับรู้และชื่นชมของทุกๆคน ตลอดจนให้ความมั่นใจกับครูจูหลิงว่าพ่อและแม่จะมีผู้ดูแลแน่นอน
“บอกเขาว่า ร่างกายมันทำงานให้เราไม่ได้แล้วนะ ทิ้งมันไปเถอะ แล้วเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ความดีจะส่งให้ไปในที่ที่ดีแน่นอน”
ครูจูหลิงจากไปท่ามกลางบุคคลที่เธอรักซึ่งได้รับการปรับตัวเตรียมใจมาเป็นอย่างดีและจากไปพร้อมสิ่งที่เธอรัก ไม่ว่าจะเป็นพู่กัน จานสี กล้องถ่ายรูป และอีกหลายสิ่งที่ผู้เป็น แม่จัดหาใส่กระเป๋านำมาคล้องให้กับมือ มีพระมาสวดมนต์และทำบังสุกุลให้ในห้องไอซียู ขณะที่แพทย์และพยาบาลได้แต่เฝ้าดูอยู่ห่างๆ
รศ.ดร.อาภรณ์ กล่าวว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องบอกญาติ ของผู้ป่วยและคนรอบข้างทุกรายว่า ต้องไม่สร้างบรรยากาศ ของความเศร้าหมอง หรือร้องไห้ใดๆ
“หากคนไข้รับรู้ว่าเราไม่สบายใจ จะทำให้เขาขุ่นมัวด้วย ฉะนั้นเราจะต้องสงบ พยายามไม่ร้องไห้ ถ้าจิตเรานิ่งเท่าไหร่ เมื่อส่งพลังไปช่วยเขาก็จะช่วยได้ดีที่สุด ดิฉันจะฝึกญาติด้วย ในการทำพิธีขอขมา ขออโหสิกรรม ซึ่งมีส่วนทำให้ทุกคนรู้สึกปีติ จากบรรยากาศเศร้าๆ ที่แม่จะเป็นลม เพราะรู้ว่าพ่อ กำลังจะจากไป ก็จะกลายเป็นบรรยากาศของการพูดคุยถึงแต่สิ่งที่ดีๆ”
เธอกล่าวว่าไม่ใช่เรื่องยากในการบอกให้ญาติของผู้ป่วยและคนรอบข้างปฎิบัติตาม และเข้าใจถึงความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะผู้ป่วยระยะสุดท้ายส่วนใหญ่ที่เธอช่วย ญาติเป็นผู้ขอร้องให้ช่วย และทุกครั้งจะมีการตกลงทำความเข้าใจกันก่อนเสมอ อีกทั้งในเวลานี้ การรับรู้ในเรื่องการช่วยเหลือผู้ ป่วยระยะสุดท้ายให้จากไปอย่างสงบ เป็นที่รับรู้กันอย่างแพร่หลาย เพียงแต่บางคนไม่ทราบว่าจะปฏิบัติอย่างไร
“แม้แต่คุณหมอเองก็ต่างบอกว่าต้องมาสนใจทางนี้แล้ว เพราะนอกจากเห็นตัวอย่างจากคนไข้ของตัวเอง ยังพบว่าคน รอบข้างของตัวเองต่างทยอยเสียชีวิตไปด้วยโรคมะเร็ง ด้วยโรคอะไรต่างๆเช่นกัน ขณะที่คนทั่วไป แม้ก่อนหน้านี้จะเป็น คนที่ไม่ค่อยได้ดูแลพ่อแม่เพราะต้องทำงาน เมื่อได้ช่วยให้ท่านได้จากไปอย่างสงบ ก็ช่วยให้เขาได้ลบล้างความรู้สึกผิด และถือว่าเป็นอะไรที่วิเศษที่สุดในชีวิต”
• การช่วยให้ผู้ป่วยได้ไปอย่างสงบ ไม่ได้หมายความว่าการรักษาทาง การแพทย์จะหยุดลง
ต่อไปนี้การเสียชีวิตของผู้ป่วยอาจไม่ได้หมายถึงความล้มเหลวของวิชาชีพแพทย์อีกต่อไป เพราะการช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายในหลายโรงพยาบาลไม่ได้ใช้วิธีเอาชนะความตายเพียงอย่างเดียว แต่การตัดสินใจว่าควรจะรักษาอย่างไรเป็นการประมวลขึ้นจากเหตุและผลหลายๆด้านทั้งจากแพทย์ พยาบาล ผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วย
ผศ.นพ.พรเลิศ ฉัตรแก้ว Mแพทย์ประจำหน่วยเวชบำบัดวิกฤติ ภาควิชาวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผู้เป็นแพทย์ซึ่งประจำอยู่ในห้องไอซียู กล่าวว่าการนำเอาหลักการของการเผชิญความตายอย่างสงบ มาปรับใช้กับการรักษาทางการแพทย์มีผลทำให้ทั้งแพทย์และพยาบาลทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้น ขณะเดียวกันญาติผู้ป่วยและคนรอบข้างก็มีความสบายใจว่าได้มีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยอย่างสุดความสามารถจริงๆ คุณหมอได้เล่าถึงการรักษาผู้ป่วยรายหนึ่งซึ่งป่วยด้วยโรคมะเร็งในปอด และได้รับการรักษาโดยการนำเอาหลักการของการเผชิญความตายอย่างสงบมาปรับใช้ว่า
“คนไข้มีอาการน้ำเต็มปอดและเต็มท้อง เดิมทีถ้าเรามุ่งเน้นรักษาโรคอย่างเดียวเราก็จะคอย เจาะน้ำในปอดออก แล้วก็ใส่เครื่องช่วยหายใจ เจาะออกปุ๊ป บางทีสามวันน้ำก็จะกลับมาใหม่ เจาะอีกก็กลับมาใหม่อีก จนหน้าอกและท้องมีรอยเข็มเต็มไปหมด ซึ่งการรักษาที่มุ่งเอาน้ำออก มันเป็นวิธีที่สร้างความทรมานให้เขา ซึ่งในจุดๆหนึ่งคนไข้ก็จะบอกว่าพอแล้ว ขณะที่เราเอง ก็เห็นว่าไม่สามารถช่วยอะไรได้แล้ว เพราะว่าตัวโรคมันได้กระจายไปยังเยื่อหุ้มปอด และเยื่อหุ้มท้อง”
จุดวิกฤตนี้เองที่ทำให้แพทย์หลายรายกังวลว่าควรจะเดินหน้าต่ออย่างไร หากไม่รักษาต่อจะเป็นการไร้ซึ่งมนุษยธรรมหรือไม่ ทั้งที่ในความเป็นจริงรู้ดีว่า หมดหวังสำหรับการรักษา ในที่สุดทางออกก็คือการช่วยให้ผู้ป่วยได้ไปอย่างสงบ
“เราจะพยายามคุยกับคนไข้และญาติว่าต้องการอย่างไร อยากให้เราดูแลอย่างไรในระยะสุดท้าย ขณะเดียวกันเราก็มีหน้าที่ที่จะให้ข้อมูลกับพวกเขาว่า เราเจาะกันมาห้าครั้งหกครั้งแล้ว มันตอบสนองไม่ดีเท่าไหร่ คนไข้และญาติคิดเห็นอย่างไร”
คุณหมอกล่าวว่าแม้เป้าหมายคือการช่วยให้ผู้ป่วยได้ไปอย่างสงบ แต่ไม่ได้หมายความว่าการรักษาทางการแพทย์จะหยุดลง แพทย์ยังคงต้องหาทางช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด ให้แก่ผู้ป่วยให้ได้มากสุด ร่วมกับกระบวนการช่วยเหลือทางจิตใจ ที่อาจมาจากความต้องการของผู้ป่วยเอง หรือญาติเป็นผู้ชี้แนะ
“ที่ไม่รักษา คือไม่รักษาแบบรุนแรงแล้ว ประเภทที่ต้องไปผ่าตัด เจาะหรือแทงเข็ม แต่เรายังต้องรักษาแบบประคับประคองอยู่ ถ้าเกิดเขามีน้ำเยอะ เหนื่อยมาก เราพอจะมีวิธีแก้เหนื่อยให้เขาได้ไหม เช่น ให้ยาผ่อนคลายทางจิตใจ ทำสมาธิ และวิธีอีกหลากหลาย”
จุดแข็งในชีวิตของผู้ป่วยแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความภาคภูมิใจในชีวิต หรือประสบการณ์ที่สร้างความสุขให้ ตลอดจนการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ทำในสิ่งที่ปรารถนาในชีวิต ล้วนแต่เป็นสิ่งที่จะนำพาจิตใจของผู้ป่วย ให้เลือกอยู่ข้างความสุขมากกว่าความ ทุกข์ นอกจากนี้คุณหมอยังเห็นว่า ผู้ป่วยและ ญาติเป็นปัจจัยที่มีผลมากที่สุดในการช่วยเหลือให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ
“ก่อนหน้านี้ถ้าเราไม่พูดว่าญาติสามารถเข้ามาเฝ้าผู้ป่วยตลอดเวลาได้ ให้พระเข้ามาทำพิธีได้ หรือสามารถจัดห้องให้ผู้ป่วยได้ ทุกคนก็จะเกรงใจคิดว่าทำไมได้ แต่พอเราเปิดโอกาส มันก็ส่งผลไปในทางที่ดี กรณีอย่างคนไข้รายหนึ่งได้จัดงานรดน้ำสงกรานต์ก่อนเสียชีวิต และอีกรายหนึ่งลูกชายได้บวชให้พ่อซึ่งอยู่ในห้องไอซียูพ่อได้เห็นลูกก็มีความสุขก่อนเสียชีวิต แต่การที่ จะเปิดโอกาสให้ญาติได้ทำอะไร ต้องมีข้อตกลง ร่วมกันว่า ต้องไม่สร้างความรบกวนให้คนไข้รายอื่น หรือว่าต้องระวังเรื่องการติดเชื้ออย่างไร ซึ่งเราจะสอนให้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง”
การรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายในแบบที่เติมเต็มซึ่งกันและกันโดยทุกฝ่ายนี้ เป็นทางออกที่ ผศ.นพ.พรเลิศ เชื่อว่าเป็นความหวังและเห็นว่าแพทย์รุ่นใหม่น่าจะให้ความสนใจ อีกทั้งเปิดใจกว้างยอมรับว่าผู้ป่วยแต่ละราย มีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงแตกต่างกันไป
“เราต้องพร้อมที่จะรับฟังเขา และปรับการรักษาของเราให้เหมาะสมให้ได้ เพราะเรามีจุดหมายเดียวกันคือให้คนไข้ได้มีความสงบและทรมานน้อยที่สุด”
• ผลักดัน รร.แพทย์ เปิดหลักสูตรดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
นอกเหนือจากความพยายามในการมุ่งให้เกิด การเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อความตายและพัฒนาทักษะในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผ่านการอบรมซึ่งจัดขึ้นทุกเดือน จัดทำเอกสาร หนังสือ และสื่อทีวี อีกภารกิจสำคัญของเครือข่ายพุทธิกา อันเกี่ยวเนื่องกับโครงการเผชิญ ความตายอย่างสงบ คือการพัฒนาเครือข่ายการช่วยเหลือ ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ประกอบไปด้วยแพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ นักบวช ผู้นำทางศาสนา ฯลฯ
“เราทำกันมาได้สามสี่ปีแล้ว มันพัฒนาและกระจายไปตามโรงพยาบาลต่างๆกว้างขวางขึ้น โรงพยาบาลหลายแห่งเริ่มมีการตั้งหน่วยหรือแผนกการดูแลผู้ป่วยแบบประคับคอง (palliative care) และสถาบันพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล ก็หันมาสนใจใช้ประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ของแต่ละโรงพยาบาล เป็นเกณฑ์วัดคุณภาพของโรงพยาบาล” พระไพศาลกล่าว
แต่สิ่งที่เครือข่ายฯฝันไกลไปกว่านั้นคือการผลักดันให้มี หลักสูตรการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเกิดขึ้นในสถาบันการ แพทย์หรือโรงเรียนแพทย์และผลักดันให้ทุกโรงพยาบาลมีแผนกหรือหน่วยงานที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยตรง
“ตอนนี้ยังมีข้อจำกัดด้านบุคลากร หลายโรงพยาบาล อยากทำ แต่ว่าบุคลากรยังไม่เอื้ออำนวย ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัยการตัดสินใจจากฝ่ายบริหารของโรงพยาบาล อย่างที่เรา ทราบดีว่าโรงพยาบาลก็มีปัญหาหลายอย่าง เฉพาะการดูแลผู้ป่วยธรรมดาไม่ว่าจะเป็น ผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ก็เหนื่อยแล้ว การที่มีหน่วยดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดและประณีต ไม่ใช่แค่ตรวจแล้วต้องให้ยา แต่ต้องมีเวลาให้ผู้ป่วยด้วย มันยังทำไม่ได้”
• เรื่องเล่าจากอาสาสมัครข้างเตียง
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา โครงการเผชิญความตาย อย่างสงบ ได้เพิ่มงานอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรืออาสาสมัครข้างเตียง เข้ามาเป็นอีกหนึ่งภารกิจของโครงการฯด้วย โดยอาสาสมัครเหล่านี้จะมาจากทุกสาขาอาชีพ มีระยะเวลาในการทำงานคนละสามเดือน และได้รับมอบหมายให้ดูแลผู้ป่วย บางรายเป็นกรณีพิเศษ กระทั่งผู้ป่วยเสียชีวิตอาสาสมัครเหล่านี้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในโรงพยาบาล จุฬาฯ และสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ หรือที่รู้จักกันดีในนาม โรงพยาบาลเด็ก มีทั้งอาสาสมัครที่ดูแลผู้ป่วยเด็กระยะสุดท้ายและผู้ป่วยผู้ใหญ่ระยะสุดท้าย โดยอาสาสมัครรุ่นล่าสุดจะเริ่มปฏิบัติงานในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้
การดูแลผู้ป่วยเด็กระยะสุดท้ายอาสาสมัครจะไม่เน้นการใช้เรื่องของศิลปะหรือกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำให้เด็กได้เข้าใจสภาวะการป่วยของตัวเอง มากขึ้น แต่ช่วยให้ผู้ปกครองของเด็กมีที่ยึดเหนี่ยวทางใจ เช่น การพูดคุย ให้กำลังใจ หรือช่วยให้ ผู้ปกครองของเด็กผ่อนคลายจากความเครียดที่ต้องดูแลเด็กมาเป็นเวลานาน เช่นอาสาอยู่เป็นเพื่อนเด็กเพื่อให้ผู้ปกครองของเด็กได้ออกไปเดินเล่น หรือพักผ่อนบ้าง
ส่วนการดูแลผู้ป่วยผู้ใหญ่ระยะสุดท้าย หน้าที่ของอาสาสมัครคือ การเป็นเพื่อนพูดคุย ฟังความคิดและช่วยให้ผู้ป่วยได้ระบายออก ไม่ว่า จะเป็นความกังวลเกี่ยวกับโรค เกี่ยวกับครอบครัวหรือเกี่ยวกับหลายสิ่งที่ผู้ป่วยยังเป็นกังวล
อนุชา เปล่งวิทยา สถาปนิกและนักออกแบบภายใน วัย 52 ปี ซึ่งผ่านการเป็นอาสามัคร รุ่น 1 ประจำปี พ.ศ. 2550 ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยว่า
“มีผู้ถามผมหลายคนว่าได้อะไรในการเป็นอาสาสมัคร ความสุขใจหรือความรู้จากบุคลากรและระบบสาธารณสุข หรือประสบการณ์ในชีวิต หรือผลประโยชน์ที่ซ่อนเร้นในอัตตาตน หรือบุญกุศล หรือกรุณา มันสามารถถูกทั้งหมดหรือผิดทั้งหมดก็ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมได้ชัดๆ เลยคือสัมผัส
ผมจดจำทฤษฎีคัมภีร์อภิธรรมเกี่ยวกับสัมผัสทั้งหกหรือเคยมีประสบการณ์ในสมถะวิปัสสนาที่ผ่านมา แต่นั่น แทบจะไม่ได้ครึ่งหนึ่งของการสัมผัสสื่อสารกับผู้ป่วย สื่อสัมผัสด้วยมิตรไมตรี สัมผัสแห่งกรุณา สัมผัสแห่งความเป็นเพื่อน ที่อยู่บนโลกใบเดียวกัน สิ่งที่ผมได้จากผู้ป่วยในระยะสุดท้าย ราวกับเขาเป็นคุรุทางจิตวิญญาณนั่นคือ สัมผัสใจ”
ปฏิทินอบรม‘เผชิญความตายอย่างสงบ’ ปี 2551
• หลักสูตรขั้นพื้นฐาน : สำหรับคนทั่วไปที่สนใจ (ระยะเวลา 3 วัน 2 คืน)
- วันที่ 6 - 8 มิถุนายน 2551 จ.นครปฐม
- วันที่ 24 - 26 ตุลาคม 2551 จ.นครปฐม
• หลักสูตรขั้นพื้นฐาน : เฉพาะกลุ่ม (ระยะเวลา 3 วัน 2 คืน)
- วันที่ 20 - 22 มิถุนายน 2551 (กลุ่มโรงพยาบาลบ้านหมี่ จ.ลพบุรี)
- วันที่ 26 - 28 กันยายน 2551 (กลุ่มโรงพยาบาลเลย จ.เลย)
- วันที่ 21 - 23 พฤศจิกายน 2551 (กลุ่มโรงพยาบาลดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี)
• หลักสูตรขั้นพัฒนาทักษะการนำทางจิตวิญญาณ : สำหรับคนที่ผ่านอบรม
ขั้นพื้นฐานแล้ว (ระยะเวลา 4 วัน 3 คืน)
- วันที่ 10 - 13 กรกฎาคม 2551 จ.นครปฐม
- วันที่ 5 - 8 ธันวาคม 2551 จ.นครปฐม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ เครือข่ายพุทธิกา โทร.0-2883-0592,0-2886-9881 www.budnet.info และ เสมสิกขาลัย โทร 02-314-7385-6 www.semsikkha.org
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 91 มิ.ย. 51 โดย พรพิมล)