พะเยา – อบจ.พะเยา ส่งมอบปุ๋ย 60 ตัน ที่ผลิตจากโรงงานปุ๋ยอินทรีย์มูลค่า 100 ล้านบาทตามโครงการยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดล้านนา และใช้ผักตบชวาในกว๊านพะเยาวันละ 100 ตันเป็นวัตถุดิบ ให้เกษตรกรนำไปทดลองใช้ชิมลางก่อนเดินหน้าผลิตเต็มรูปแบบวางขายในราคาถูกให้เกษตรกรทั่วพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนหนุนการเกษตรปลอดสารพิษ
นายไพรัตน์ ตันบรรจง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา เป็นประธานส่งมอบปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดจำนวน 60 ตัน และปุ๋ยน้ำชีวภาพจำนวน 95 แกลลอน ซึ่งผลิตโดยโรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ต.แม่ใส่ อ.เมือง จ.พะเยา ให้กับนายวินัย เหล่าเทิดพงษ์ เกษตรจังหวัดพะเยา เพื่อส่งมอบต่อให้แก่เกษตรกรทั้ง 9 อำเภอในจังหวัดพะเยา เพื่อนำไปทดลองใช้ในแปลงสาธิต และแปลงทดลองการใช้ปุ๋ย จำนวน 6,827 ไร่ ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งหลังจากนี้ก็จะมีการติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง ก่อนผลิตตามจำนวนเพื่อส่งขายปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยน้ำชีวิภาพคุณภาพสูง ราคาถูกให้เกษตรกรในจังหวัดพะเยาและ อีก 7 จังหวัดภาคเหนือตอนบนเพื่อส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมีที่มีราคาสูง และเพื่อหนุนเกษตรปลอดสารพิษ ตาม โครงการ ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพเพื่อเกษตรปลอดภัย ของจังหวัดพะเยา และองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา กล่าวว่า โครงการ “ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพเพื่อเกษตรปลอดภัย” ได้รับงบประมาณจากงบยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดล้านนา 100 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยน้ำชีวภาพ และอาหารสัตว์ ซึ่งใช้วัตถุดิบจากผักตบชวาในกว๊านพะเยาที่มีจำนวนมากในปริมาณ 100 ตันต่อวัน เพื่อใช้ผลิตปุ๋ยอัดเม็ด 20 ตันและปุ๋ยน้ำชีวภาพ 1,000 ลิตรต่อวันโดยจากการสำรวจพบว่าผักตบชวาในกว๊านพะเยา สามารถขยายพันธุ์ได้วันละ 1,700 ตัน
ดังนั้น คาดว่าจะมีปริมาณวัตถุดิบเพียงพอไปอีกประมาณ 15 ปี หลังจากนั้นอาจใช้พืชทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบแทนได้ โรงงานผลิตปุ๋ยดังกล่าว ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน อบจ.พะเยา ให้เอกชนเข้าดำเนินการโดยการสัมปทานเป็นเวลา 20 ปี เพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ราคาถูกจำหน่ายให้แก่เกษตรกร
ด้านนายภัทรพัฒน์ สังข์ทอง ผู้จัดการโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ฯ กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตปุ๋ยได้ตามเป้าที่ตั้งไว้คือ 20 ตันต่อวัน ทั้งนี้ เนื่องจากเครื่องอบปุ๋ยมีปัญหา อีกทั้งช่วงนี้เป็นฤดูฝนตากปุ๋ยไม่ได้
แต่อย่างไรก็ตามทางโรงงานเตรียมสั่งซื้อเครื่องอบชุดใหม่ในราคากว่า 10 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตปุ๋ยได้ไม่น้อยกว่าวันละ 20 ตันอย่างแน่นอน ขณะปุ๋ยมีจำหน่ายเฉพาะหน้าโรงงานเท่านั้น โดยจำหน่ายถุง 30 กิโลกรัมในราคาถุงละ 300 บาท ซึ่งหากผลิตมากกว่านี้ราคาก็จะถูกลง
ส่วนคุณภาพนั้นได้ผ่านการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรแล้วว่า มีคุณภาพสูงตรงตามที่ทางการกำหนด ทั้งนี้ หากเกษตรกรนำไปทดลองใช้ในแปลงสาธิต และแปลงทดลองการใช้ปุ๋ยแล้ว ทางโรงงานก็จะเดินหน้าผลิตปุ๋ยให้ได้ตามเป้าที่กำหนด ภายหลังจากติดตั้งเครืองอบแล้วเสร็จ เพื่อส่งจำหน่ายในราคาถูกให้กับเกษตรกรในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงต่อไป