xs
xsm
sm
md
lg

“ม.อุบลฯ” เตรียมเปิดเวทีเสวนา “กัมพูชาศึกษา” หวังฟื้นความร่วมมือฉันท์เพื่อนบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - นักวิชาการคณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลฯ จัดเวทีแลกเปลี่ยนผลงานวิจัยกลุ่มชนชาติพันธุ์อนุลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะชนชาติกัมพูชาเพื่อสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และการเมือง เนื่องจากเป็นชาติพันธุ์ที่มีภาษาพูดและวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน

วันนี้ (8 ส.ค.) รศ.สมหมาย ชินนาค อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงการจัดสัมมนาโครงการกัมพูชาศึกษาครั้งที่ 1 ซึ่งจะจัดที่โรงแรมลายทอง อ.เมืองอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 25-26 ส.ค.ศกนี้ เพื่อเป็นเวทีให้นักวิชาการที่ศึกษาความสัมพันธ์ของกลุ่มประเทศอนุลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ได้แลกเปลี่ยนผลงานวิจัยความเป็นมาด้านขนบธรรมเนียมประเพณีของกลุ่มชนตามลุ่มน้ำ ซึ่งมีความผูกพันมีความคล้ายคลึงด้านวัฒนธรรมความเชื่อ

ทั้งประเทศจีน (กลุ่มคนในมณฑลยูนนาน) พม่า เวียดนาม ลาว กัมพูชา และไทย โดยเฉพาะชนชาติกัมพูชามีความใกล้ชิดกับไทยมาตั้งแต่อดีต กระทั่งมีประชาชนทีอาศัยอยู่ตามตะเข็บแนวชายแดนไทย-กัมพูชาใช้ภาษาเขมรเป็นภาษาพูดเช่นเดียวกับคนกัมพูชา

ด้วยความคล้ายคลึงทั้งภาษาและศิลปวัฒนธรรม ทำให้เกิดความร่วมมือทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง โดยเฉพาะหลังยุคสิ้นสุดสงครามเย็นกลุ่มภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเป็นกลุ่มประเทศที่มีความเติบโตด้านการค้าการลงทุนอย่างรวดเร็ว ทำให้มีผลกระทบจากการพัฒนาของการเติบโตทางเศรษฐกิจการค้า ประเทศไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้พยายามให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการมาโดยตลอด

แต่ยังไม่มีเวทีใช้นำเสนอผลงานวิจัยที่นักวิจัยทั้งส่วนกลางและภูมิภาคได้ศึกษาไว้ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับประเทศเพื่อนบ้านให้อยู่กันอย่างสันติ มีความกินดีอยู่ดีร่วมกัน

ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยกลุ่มยุทธศาสตร์การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับต่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักการจัดทำยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านอุดมศึกษากับประเทศกัมพูชา จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการในภูมิภาคที่มีแผนพัฒนางานด้านกัมพูชาศึกษาชัดเจน จัดโครงการสัมมนาทางวิชาการ “กัมพูชาศึกษา ครั้งที่ 1” เพื่อเป็นเวทีให้กับนักวิชาการและผู้ทำงานด้านกัมพูชาศึกษาของไทย ได้นำเสนอผลงานทางวิชาการของตน

รศ.สมหมาย กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันก็จะได้รับฟังการนำเสนอผลงานทางวิชาการจากนักวิชาการชาวกัมพูชา เพื่อนำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีกิจกรรมการเรียนการสอนและการวิจัยเกี่ยวกับกัมพูชาศึกษา ทำให้เกิดความร่วมมือทำวิจัย การจัดการเรียนการสอน

รวมทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างบุคลากรของหน่วยงานและสถาบันต่างๆ เกี่ยวกับกัมพูชาศึกษาในอนาคต และเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำแผนยุทธศาสตร์โครงการความร่วมมือทางอุดมศึกษาระหว่างไทยกับกัมพูชาในอนาคตด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น