xs
xsm
sm
md
lg

“สมภพ” ชี้คลัง-ธปท.ขัดแย้งเสี่ยงหายนะ ฟันธงนโยบายกดดอกแค่หวังคะแนนนิยม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก – “สมภพ มานะรังสรรค์” ฟันธง ข้อขัดแย้งคลัง-แบงก์ชาติ เสี่ยงก่อหายนะเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ทำภาวะเงินออมสั่นคลอน ชี้คลังวางเป้ากดดอกเบี้ย หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ รักษาคะแนนนิยม ขณะที่ ธปท.มุ่งรักษาเสถียรภาพทางการเงิน หวั่นทุนนอกทะลักเข้าฟันกำไรจากส่วนต่างดอกเบี้ย แนะรัฐบาลหากต้องการอุ้มรากหญ้าถาวร ต้องเดินตามรอย จีน ที่มุ่งพัฒนาธุรกิจ SMEs

ในการจัดสัมมนาคลินิกเสริมสุขภาพเศรษฐกิจ ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 2 และ 3 จัดขึ้นที่โรงแรมลีลาวดี จ.พิษณุโลก เมื่อ 7 ส.ค.51 โดยเชิญ รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง บรรยายพิเศษหัวข้อ “การปรับตัวของ SMEs ภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจ” มีนักธุรกิจสนใจรับฟังไม่ต่ำกว่า 500 คนนั้น

รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า จีนคือ ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาธุรกิจ SMEs สิ่งแรกที่นโยบาย “เติ้ง เสี่ยงผิง”มองทะลุคือ การผลิตอาหารให้เพียงพอก่อนที่จะเปิดประเทศเมื่อปี 1978 การเปิดกว้างในภาคการเกษตร โดยนำที่ดินไปผลิตอาหาร ส่งผลให้ธุรกิจเล็กๆในภาคเกษตร ค่อยพัฒนาเป็นธุรกิจปุ๋ยเคมี เครื่องมือเกษตร และธุรกิจส่งเสริมปัจจัยการผลิต เท่ากับต่อยอดภาคการเกษตร และพัฒนาไปถึงรถจักรยานยนต์รถยนต์ในที่สุด

นับจากนี้ต่อไปจีนจะมีบทบาททางเศรษฐกิจโลกมากที่สุด โดยการเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิก จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นอีกมาก โดยดูได้จากทุกประเทศที่จัดกีฬาโอลิมปิกที่ผ่านมา ล้วนทำให้เศรษฐกิจในประเทศนั้นๆดีขึ้น

สำหรับนเศรษฐกิจไทยที่ดูเหมือนว่าแย่ เพราะเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย แต่ที่ยืนอยู่ได้ ก็เพราะส่งออกไปยังจีน ถือปรับตัวเก่ง ลดการส่งออกไปยังอเมริกาปรับไปยังตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะจีน ละตินอเมริกา แอฟริกาฯลฯ ทำให้เศรษฐกิจไทยปี 51 ไม่ได้ย่ำแย่

รศ.ดร.สมภพ เปิดเผยอีกว่า อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจครึ่งปีหลังนั้นค่อนข้างวิกฤต หลายปัจจัยลบรุมล้อม เงินเฟ้อสูงเป็นประวัติการณ์ แต่อาจไม่ถึง 2 หลัก อาจอยู่ที่ระดับ 9 เปอร์เซ็นต์ แต่ทำให้ประชาชนทุกวันนี้ขาดทุน ถ้าใครฝากเงินที่สถาบันการเงิน ขาดทุนทันที 6% กล่าวคือ เงินเฟ้อ 9% ลบด้วยเงินฝาก 3% มิหนำซ้ำยังมีความขัดแย้งเรื่องนโยบายการเงินว่าด้วยอัตราดอกเบี้ย

รศ.ดร.สมภพ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ต้องการขึ้นดอกเบี้ย เพราะต้องการเอาใจธุรกิจรากหญ้า-ธุรกิจเอกชนต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ให้ต่ำกว่าเดิม กลัวเสียคะแนนนิยม แต่อีกด้านหนึ่งแบงค์ชาติต้องการขึ้นดอกเบี้ย เพราะต้องการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน

ปัจจุบันนี้มีเงินต่างประเทศจำนวน 5-6 แสนล้านบาท กำลังจ่อทะลักเข้าเมืองไทย เพื่อต้องการนำเงินมาหากำไรส่วนต่างจากดอกเบี้ย โดยเงินลงทุนต่างชาติจะเข้ามาอย่างเสรี ดำเนินการออกพันธบัตร เท่ากับว่าดูดเงินในระบบของไทย เพราะต้องยอมรับว่าดอกเบี้ยของโลกอยู่ในระดับสูง แต่ดอกเบี้ยของไทยยังถูกอยู่

สังเกตได้ว่า สถาบันการเงินออกพันธบัตรช่วงนี้ ก็สามารถขายได้หมด ดังนั้นถ้าแบงก์ชาติยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย ภาวะเศรษฐกิจจะอยู่ในภาวะวิกฤต เพราะจะมีเงินลงทุนต่างประเทศรอดูดเงินอยู่

ส่วนข้อขัดแย้งนโยบายทางการเงินระหว่างคลังและแบงก์ชาติ ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ด้านหนึ่งต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs แต่อีกด้านหนึ่งต้องการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน

ภาวะเศรษฐกิจไทยที่คงอยู่ได้เพราะเสาหลัก 4 ประการ คือ 1.สินค้าภาคเกษตรกรรมยังดีอยู่ 2.ภาวะส่งออกของไทยสามารถพึ่งพาตลาดจีน และลาตินอเมริกา 3.ภาวะเงินออมในประเทศ 4.ทุนสำรองของประเทศที่อยู่ในระดับสูง

ปัญหาวันนี้ คือ ภาวะเงินออมในประเทศ”กำลังถูกสั่นคลอนอย่างหนัก ผลจากการขัดแย้งนโยบายการเงินการคลัง หากปล่อยอย่างนี้เงินออมในประเทศจะขาดแจงจูงใจ และหันไปลงทุนอย่างอื่นแทน ขณะเดียวกันผู้มีรายได้ประจำก็ถูกเงินเฟ้อคุกคาม รายได้เท่าเดิมและรายจ่ายเพิ่มขึ้น

ขณะที่ปัจจัยเรื่องน้ำมันกำลังมีแนวโน้มลดลง ประเมินแล้วว่าผลจากเศรษฐกิจอเมริกาตกต่ำ ลดการใช้น้ำมันลง จาก 22 หรืออยู่ 20 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่การลดลงของราคาน้ำมันโลกกลับเป็นผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจไทย ไม่ฉุดให้เงินเฟ้อไทยสูงจนเกินไป แต่ก็มีผลกระทบข้างเคียงบ้าง คือ ตลาดหุ้นไม่สดใส เพราะหุ้นพลังงานถ่วงน้ำหนักในตลาดหุ้นมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น