xs
xsm
sm
md
lg

“ยายไฮ 2” โผล่ที่เชียงรายพบ 73 ครอบครัวเสียที่นาทำอ่างเก็บน้ำฟรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เชียงราย – พบชาวบ้านจากเมืองเทิง กว่า 73 ครอบครัว เดินซ้ำรอย “ยายไฮ” ไม่ผิดเพี้ยน หลังยอมเสียสละที่ดินทำกินพร้อมเอกสารสิทธิให้รัฐสร้างอ่างเก็บน้ำตั้งแต่ 20 ปีก่อน จนถึงวันนี้กลับไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินคืน เผยบางรายได้ที่ไร้เอกสารสิทธิแลกเปลี่ยน แต่สุดท้ายกลับถูก อบต.ข้างเคียงยึดเป็นที่สาธารณะประกาศเป็นเขตห้ามเข้า ขณะที่ดินเก่าจมอยู่ใต้น้ำ เหลือแค่เอกสารสิทธิ น.ส.3 ไว้ดูต่างหน้า จนต้องรวมกลุ่มกันร้องผู้ว่าฯช่วยด่วน

วันนี้ (7 ส.ค.) ได้มีชาวบ้านจากหลายหมู่บ้านในพื้นที่ ต.ปล้อง อ.เทิง จ.เชียงราย จำนวน 20 คน เดินทางไปชุมนุมกันที่ศาลากลาง จ.เชียงราย เพื่อขอให้ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ช่วยเหลือเรื่องปัญหาที่ดินทำกิน ที่เรื้อรังมากว่า 20 ปี

กลุ่มชาวบ้านระบุว่า แต่เดิมพวกเขามีที่ดินทำกินคนละ 10-20 ไร่ ตกทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษตั้งแต่ 20 กว่าปีก่อน โดยเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิอย่างหลากหลาย ส่วนใหญ่เป็น นส.3 ที่เตรียมจะเป็นโฉนด แต่ปรากฏว่า เมื่อปี 2528-2529 กรมชลประทานได้เข้าไปดำเนินโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยขุนปล้องตามพระราชดำริ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตรของชาวบ้าน

พื้นที่ก่อสร้างอยู่ในเขตหมู่บ้านปล้อง ต.ปล้อง จึงมีการตกลงกันในตำบลและเห็นพ้องกันว่าให้ชาวบ้านเกือบ 100 คนเสียสละที่ดินทำกินประมาณ 1,000 ไร่ โดยทางอดีตกำนันและทางสภาตำบล จะจัดหาที่ดินทำกินให้ใหม่ในพื้นที่หมู่บ้านหนองแรด ต.หนองแรด อ.เทิง ทำให้ชาวบ้านได้ไปจับจองพื้นที่เพื่อทำกินทดแทนในที่ดินประมาณ 1,394.2 ไร่ ติดต่อกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่นั้น

นายบุญทา ไชยคำ อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ต.ปล้อง และแกนนำชาวบ้าน กล่าวว่า แต่เมื่อหลายปีก่อนทางราชการได้แบ่ง ต.ปล้อง โดยแยกไปตั้งเป็น ต.หนองแรด ขึ้นอีกตำบลหนึ่ง ทำให้เกิดมี อบต.ปล้อง และ อบต.หนองแรด ขึ้นมาบริหารจัดการพื้นที่ และในส่วนของที่ดินที่ชาวบ้านเข้าไปทำนาเพื่อทดแทนพื้นที่สร้างอ่างเก็บน้ำนั้น อยู่ในเขต ต.หนองแรด

ขณะที่ตัวชาวบ้านส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขต ต.ปล้อง ทำให้เกิดปัญหาขึ้นเพราะที่นาที่เคยทำก็ถูกชาวบ้านแถบนั้นเข้าไปทำลาย ประชาคมชาวบ้าน ต.หนองแรด ไม่ยอมให้ชาวบ้านเข้าไปทำนาต่อมาก็ประกาศเป็นที่ดินสำหรับเลี้ยงสัตว์ และ อบต.หนองแรด ก็ทำประชาคมกันว่า จะไม่ยอมให้ใครเข้าไปใช้ประโยชน์อีกแล้วทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก จนถึงปัจจุบันก็ไม่มีใครเข้าไปทำกินได้อีก ต้องปล่อยร้างไป

ทั้งที่แต่เดิม แต่ละคนเคยมีเอกสารสิทธิกันทั้งนั้น เมื่อย้ายเข้าไปทำกินในพื้นที่ดังกล่าวก็ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และรอคอยว่าทางราชการจะคืนเอกสารสิทธิให้ แต่ผ่านไปร่วม 20 ปีก็ไม่ได้เอกสารสิทธิ์คืนทั้งของใหม่และของเก่า

“มีเพียงบางคนที่ยังเก็บเอกสารสิทธิเก่าเอาไว้ แต่ที่ดินจริงก็จมอยู่ใต้อ่างไปหมดแล้ว ขณะที่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็ไปร้องเรียนต่อทาง อบต.ปล้อง ก็ไม่มีอำนาจเพราะอยู่คนละพื้นที่ ด้าน อบต.หนองแรด ก็ไม่ยอม อ้างว่าเป็นที่ดินสาธารณะ เมื่อร้องเรียนไปยังทางอำเภอติดต่อกันหลายปีจนหลายคนแก่เฒ่าบางคนตายกันไปบ้างแล้วเหลือคนที่ประสบปัญหาจริงอยู่จำนวน 73 ราย เรื่องก็เงียบหายไปอีก จนต้องรวมตัวกันประท้วง เพื่อเรียกร้องให้ทางจังหวัดช่วยเหลือ”

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมครั้งนี้ส่วนใหญ่พบว่า ป็นผู้สูงอายุกันมากแล้ว โดยมีอยู่รายหนึ่งชื่อยายแว่น ไชยคำ อายุ 84 ปี บ้านเลขที่ 8 หมู่ 4 ต.ปล้อง นำเอกสารสิทธิ นส.3 ไปแสดงด้วย พร้อมทั้งกล่าวทั้งน้ำตาว่าตนและลูกหลายเคยมีที่ดินทำกิน ในพื้นที่สร้างอ่างเก็บน้ำประมาณ 12 ไร่กว่าๆ ก็เห็นว่าทางราชการมาสร้างอ่างเก็บน้ำจะเป็นผลดีต่อส่วนรวม เพราะทำให้มีแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ จึงจำใจต้องเสียสละ แต่ปรากฎว่าหลังเสียสละแล้วต้องไปทำนาในพื้นที่ไกลกว่าเดิมคือ ต.หนองแรด ในปัจจุบัน

ล่าสุด ก็ไม่เหลือที่ดินให้ทำกินอีกเลยเพราะประสบปัญหาดังกล่าว เหลือเพียงเอกสารสิทธิเก่าๆ ที่เก็บไว้ดูต่างหน้าและเป็นสิ่งยืนยันว่าตนเคยมีที่ดินอยู่จริง แต่ได้สูญเสียไปแล้ว จึงอยากให้ทางราชการช่วยเหลือไม่เช่นนั้นคงไม่มีข้าวกินในปีถัดไปแน่นอน

สภาพของยายแว่นดังกล่าว ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมนำไปเปรียบเทียบว่าไม่ต่างกับนางไฮ ขันจันทา ชาวนาที่ประสบปัญหาจากการสร้างเขื่อนที่ จ.อุบลราชธานี จึงต่างมีความหวังว่าทางจังหวัดจะช่วยเหลือให้ได้เอกสารสิทธิใหม่หรืออย่างน้อยๆ ก็หวังจะได้มีที่ดินทำกินไว้ประทังชีวิตไปก่อน

ขณะที่ นายไตรสิทธิ์ สินสมบูรณ์ทอง ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้มอบหมายให้นายประเสริฐ พลีชีพ จ่า จ.เชียงราย รับเรื่องจากชาวบ้านแต่ก็แจ้งว่าการให้เอกสารสิทธิฉบับใหม่ให้ชาวบ้านคงเป็นไปได้ยาก เพราะที่ดินที่ชาวบ้านเคยเข้าไปทำกินดังกล่าวเป็นที่ นสล.หรือที่หนังสือสำคัญที่หลวง และปัจจุบันก็ถือเป็นที่ดินสาธารณะแนวทางเบื้องต้น จึงเป็นไปได้ที่จะต้องมีการเรียกทุกฝ่ายมาหารือทั้งชาวบ้าน อำเภอ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแรด กำนันคนเก่าๆ ที่เคยช่วยชาวบ้านในเรื่องนี้และผู้ที่เกี่ยวข้อง กับการสร้างอ่างเก็บน้ำดังกล่าว รวมทั้งอาจเป็นไปได้ที่จะชาวบ้านเช่าที่ดินในราคาถูก
กำลังโหลดความคิดเห็น