เลย- ชาวบ้านตำบลเชียงคาน บุกยื่นหนังสืออุตสาหกรรมจังหวัด ค้านการอนุมัติประทานบัตรทำเหมืองแร่บนพื้นที่สาธารณะ หวั่นไม่ปลอดภัยจากผลกระทบสิ่งแวดล้อม เผยทางการพยายามปิดบังข้อมูล ไม่แจงแผนงานโครงการ-ความปลอดภัยสุขภาพ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 11.00 น.วันนี้ (19 พ.ย.) ได้มีตัวแทนชาวบ้านจากตำบลเชียงคาน จ.เลย ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือคัดค้านการขอประทานบัตรเหมืองแร่เหล็ก บริเวณป่าสาธารณประโยชน์ ป่าภูเหล็ก ต่ออุตสาหกรรมจังหวัดเลย
นายกัญจน์ วงศ์อาจ หนึ่งในตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า ตามที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลย ได้ประกาศคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ บริเวณพื้นที่สาธารณะประโยชน์ภูเหล็ก ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตามระดับชั้นได้แจ้งให้ทราบ พวกตนซึ่งเป็นชาวบ้านที่อาจได้รับผลกระทบจาการทำเหมืองแร่ จึงได้ใช้สิทธิ์เข้ายื่นคำร้องคัดค้านการขอประทานบัตรเหมืองแร่ในแปลงที่ดินดังกล่าว
ทั้งนี้ พวกตนมีที่ดินทำกินเป็นที่นาและที่สวนโดยรอบพื้นที่สัมปทานทุกทิศทาง มีขอบเขตเป็นพื้นที่ติดต่อกันกับแปลงขอประทานบัตร เมื่อพิจารณาจากบทเรียนที่มีผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ในพื้นที่อื่นๆ ชาวบ้านล้วนแล้วแต่ได้รับความเดือดร้อน พวกตนย่อมได้รับผลกระทบโดยตรงและรุนแรงกว่าบุคคลอื่นในพื้นที่ ทั้งจากการใช้พื้นที่ทำมาหากิน การใช้ชีวิตประจำวันและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
ทั้งจากแร่เหล็กที่ทำให้น้ำเกิดเป็นสนิมเหล็กหรือสารเคมีแฝงอื่นๆ การทับถมพื้นที่ทำกินจากการพังทลายของดิน ระบบนิเวศที่เสียไปจากการทำลายหน้าดิน ทำลายหน้าดิน
นายกัญจน์ กล่าวอีกว่า ลักษณะของพื้นที่ขอประทานบัตรแม้มิได้ทับทางน้ำแต่เป็นพื้นที่ชั้นบนที่อยู่ชิดติดกันชนิดแยกไม่ออก และเมื่อมีการขุดตักทำเหมืองเต็มพื้นที่ การไหลบ่าทับถมของตะกอนดิน การพังทลายย่อมปิดทับทางน้ำอย่างแน่นอนหรืออาจทำให้เปลี่ยนทางไหลของน้ำ ประการสำคัญคือ พื้นที่ประทานบัตรตั้งอยู่ระหว่างตอนกลางที่มีทางไหลของน้ำได้ไหลสู่ห้วยทรายใหญ่และห้วยน้ำฮวยโดยตรงและไหลลงแม่น้ำโขง ชาวบ้านจึงจะได้รับผลกระทบทั้งความไม่แน่นอนของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
รวมถึงผลกระทบทางสภาพแวดล้อมอื่นๆ ที่ไม่มีใครที่ไม่มีใครยืนยันและรับรองในระยะยาวได้ เนื่องจากเส้นทางที่สายน้ำทั้งสองไหลผ่านล้วนเป็นพื้นที่เกษตรกรรมหล่อเลี้ยงผู้คนในตำบลเชียงคาน
ที่ผ่านมา ยังไม่มีหน่วยงานใดของรัฐมาให้ข้อมูลยืนยันรับรองถึงความปลอดภัยของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่เหล็ก หรือผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ และไม่มีการรับรองถึงคุณภาพชีวิตที่มีอยู่อย่างปกติสุขเช่นเดิม
นอกจากนี้ ปัญหาด้านการขนย้ายแร่ออกจากพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบทั้งจากเสียงและควันจากรถบรรทุกขนาดใหญ่ ฝุ่นฟุ้งกระจายจากการขุดตักหรือการขนย้าย พื้นถนนชำรุดเป็นอันตรายในการสัญจร โดยเฉพาะผู้ที่ทำมาหากินอยู่ในพื้นที่ทำเหมืองล้วนเป็นราษฎรที่อาศัยในเขตเทศบาลตำบลเชียงคาน ซึ่งเป็นเส้นทางที่รถบรรทุกแล่นผ่านเส้นทางหลักของชุมชน
“พวกตนจึงต้องมายื่นหนังสือคัดค้าน เพื่อให้ทางราชการตัดสินใจให้รอบคอบและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง” นายกัญจน์ กล่าว