สุรินทร์ - ทหารพรานกองกำลังสุรนารี เพิ่มกำลังคุมเข้ม “ปราสาทตาเมือนธม” ชายแดน จ.สุรินทร์พร้อมทั้งวางลวดหนามปิดกั้นทางขึ้นและบริเวณรอบปราสาท หลังบิ๊กทัพทหารภูมิภาคที่ 4 กัมพูชา นำกำลังติดอาวุธบุกขอเข้าชมปราสาท ตะลึง! พบหลักสีแดงพิสูจน์เขตแดนฝ่ายเขมรโผล่ริมถนนทางหลวง บ.หนองคันนา ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ลึกเข้ามายังฝั่งไทยกว่า 2 กม. ด้าน “ผบ.กกล.สุรนารี” ยันทหารไทยตั้งฐานปฏิบัติการในปราสาทตาเมือนธมมาหลายปีแล้ว และเป็นการรักษาอธิปไตยตามปกติ พร้อมสั่งให้หน่วยทหารพรานในพื้นที่เป็นผู้พิจารณาเสริมกำลัง
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณี พล.ต.โป เฮง รองผู้บัญชาการทหารภูมิภาคที่ 4 และ พ.อ.เนียะ วงศ์ รองผู้บังคับกองพลน้อยที่ 42 กัมพูชา นำกำลังทหารกว่า 50 นายพร้อมอาวุธครบมือและสื่อมวลชนกัมพูชา ขอเข้าชมปราสาทตาเมือนธม ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ แต่ถูกทหารพรานกองร้อยจู่โจมที่ 960 กรมทหารพรานที่ 26 กองกำลัง (กกล.) สุรนารี กองทัพภาคที่ 2 (ทภ.2) ได้เจรจาให้ถอยร่นกลับไปเพราะหวั่นเกิดปัญหาเช่นเดียวกับปราสาทพระวิหาร จ.ศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา อีกทั้งทางการกัมพูชากลับอ้างว่าไทยนำกำลังทหารเข้ายึดครองปราสาทตาเมือนธมตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมานั้น
ล่าสุด วันนี้ (4 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวได้เดินทางเข้าไปสังเกตการณ์ บริเวณพื้นที่ปราสาทตาเมือนธม บ.หนองคันนา ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ปราสาทของกลุ่มปราสาทตาเมือนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด (ประกอบด้วย ปราสาทตาเมือน, ปราสาทตาเมือนโต๊ด, ปราสาทตาเมือนธม) และเป็นปราสาทหลังแรกที่ตั้งอยู่ติดกับแนวชายแดนไทย-กัมพูชา พบว่า กองร้อยทหารพรานจู่โจมที่ 960 กรมทหารพรานที่ 26 กองกำลัง (กกล.) สุรนารี กองทัพภาคที่ 2 (ทภ.2)ได้จัดวางกำลังทหารพรานตรวจการณ์บริเวณทางขึ้นปราสาทตาเมือนธม ด้านฝั่งประเทศกัมพูชา และพื้นที่ใกล้เคียงเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งได้จัดทำลวดหนามปิดกั้นบริเวณประตูทางขึ้นปราสาทและโดยรอบตัวปราสาทตาเมือนธมไว้อย่างหนาแน่น
เจ้าหน้าที่ทหารพรานกองร้อยจู่โจมที่ 960 รายหนึ่งเปิดเผยว่า สถานการณ์บริเวณพื้นที่นี้ไม่น่ากังวลอะไร ทหารไทยกับทหารกัมพูชาที่ตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ตรงข้ามกับกำลังทหารไทยบริเวณทางขึ้นปราสาทตาเมือนธมฝั่งกัมพูชาได้มีการพูดจากันด้วยดี การเจรจาของทหารทั้ง 2 ฝ่าย อยู่ในระดับมิตรไมตรีที่ดีต่อกัน ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้ขอให้คณะกำลังทหารของรองแม่ทัพภูมิภาคทหารที่ 4 กัมพูชา ได้เข้าใจ และรอการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาเพราะเป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีการปักปันเขตแดนที่ชัดจน ซึ่งฝ่ายทหารกัมพูชาก็เข้าใจและเดินทางกลับไป
“แต่ฝ่ายทหารไทยไม่ได้นิ่งนอนใจและเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติไทย จึงต้องเสริมอัตรากำลังทหารพรานเข้ามาดูแลพื้นที่ปราสาทแห่งนี้มากขึ้นอีก” ทหารพรานกองร้ายจู่โจมที่ 960 กล่าว
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า ที่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 11 ริมถนนทางหลวงชนบท บ.หนองคันนา ต.ตาเมียง อ.พนม เข้าไปยังปราสาทตาเมือนธม และ อยู่บริเวณปราสาทตาเมือนโต๊ด ห่างจากปราสาทตาเมือนธม ราว 500 เมตร แต่ลึกเข้ามาในเขตประเทศไทยประมาณ 2 กิโลเมตร พบว่า มีถังน้ำมันขนาด 200 ลิตรคว่ำครอบหลักท่อเหล็กเทปูนซีเมนต์ข้างในและทาด้วยสีแดงเอาไว้ พร้อมทั้งมีรั้วลวดหนามล้อมรอบอย่างมิดชิด แต่ไม่สัญลักษณ์หรือข้อความบ่งบอกใดๆ
ชาวบ้านบอกว่า หลักสีแดงดังกล่าว เป็นหลักเขตแดนหรือหลักพิสูจน์เขตแดนใหม่ที่ฝ่ายกัมพูชาเข้ามาทำไว้เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และชาวบ้านในพื้นที่พยายามสอบถามข้อเท็จจริงกับเจ้าหน้าที่ทหารที่ดูแลพื้นที่บริเวณดังกล่าวแต่ไม่ได้รับคำชี้แจงแต่อย่างใด
ทางด้าน พล.ต.กนก เนตระคเวสนะ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี (ผบ.กกล.สุรนารี) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า หลักสีแดงดังกล่าวเป็นหลักเพื่อพิสูจน์เขตแดนในการสำรวจเบื้องต้นของคณะกรรมการปักปันเขตแดนไทย-กัมพูชาซึ่งเป็นหลักยืนยันแนวเขตของแต่ละฝ่ายที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ โดยกัมพูชาใช้หลักสีแดง และ ไทยใช้หลักสีน้ำเงิน
สำหรับ หลักสีแดง ที่บริเวณริมถนน บ.หนองคันนา ต.ตาเมียง อ.พนมดังรัก นั้น เป็นหลักฝ่ายกัมพูชายืนยันแนวเขตยึดตามแผนที่ฉบับของฝรั่งเศส ส่วนหลักสีน้ำเงินของฝ่ายไทย ตั้งอยู่ตรงจุดแนวเขตที่ไทยยึดถือคือบริเวณแนวสันปันน้ำ ห่างจากตัวปราสาทตาเมือนธมเข้าไปยังฝั่งกัมพูชาประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งปัญหาที่ยังไม่สามารถตกลงปักปันเขตแดนกันได้เนื่องจาก ทั้ง 2 ประเทศยึดถือแผนที่คนละฉบับ
“ส่วนการที่ทหารไทยเข้าไปตั้งฐานปฏิบัติการส่วนหน้าอยู่ที่บริเวณปราสาทตาเมือนธม นั้น ได้ดำเนินการมานานหลายปีแล้ว เป็นการรักษาอธิปไตยของไทยตามปรกติ และการเสริมกำลังทหารเข้าไปพื้นที่ปราสาทตาเมือนธมและโดยรอบปราสาทตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ก็ได้สั่งการให้หน่วยทหารพรานในพื้นที่เป็นผู้พิจารณาแล้ว” พล.ต.กนก กล่าว
อนึ่ง ปราสาทตาเมือนธม บ.หนองคันนา ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ 1 ใน 3 ของกลุ่มปราสาทตาเมือน (ประกอบด้วย 1.ปราสาทตาเมือน 2.ปราสาทตาเมือนโต๊ด ห่างจากปราสาทตาเมือน 200 เมตร และ 3.ปราสาทตาเมือนธม ตั้งอยู่ติดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ห่างจากปราสาทตาเมือนโต๊ด 500 เมตร) สร้างขึ้นในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย ซึ่งนับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุด เป็นโบราณสถานศิลปะเขมร สมัยปาบวน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 18 (พ.ศ.1560-1630) ปราสาทแห่งนี้ประกอบด้วยอาคารหลายหลังได้แก่
1.ปราสาทประธาน สร้างด้วยหินทราย มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งหันหน้าไปทางทิศใต้ส่วนยอดหรือชั้นหลังคาพังทลายลงมา ภายในปรากฎหลักฐานที่สำคัญ คือ ศิวลึงค์ ที่สกัดจากหินทรายธรรมชาติ และมีท่อโสมสูตรหรือท่อระบายน้ำมนต์จากการสักการะบูชาศิวลึงค์ ต่อจากปราสาทประธานไปยังระเบียงคต ด้านทิศตะวันออก
2.ปราสาทบริวาร 2 องค์ สร้างด้วยหินทรายตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงเหนือของปราสาทประธาน
3.บรรณาลัย 2 หลัง สร้างด้วยศิลาแลงตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน
4.ระเบียงคต สร้างด้วยหินทราบล้อมรอบอาคารที่กล่าวมา มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีประตูซุ้ม (โคปะรุ) ทางเข้าออกทั้ง 4 ด้าน ต่อจากประตูซุ้มด้านทิศใต้มีบันไดทางขึ้นสร้างด้วยศิลาแลง
5. สระน้ำ อยู่ภายนอกระเบียงคตด้านทิศเหนือ กรุด้วยศิลาแลง
ทั้งนี้ กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะปราสาทตาเมือนธมตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา พบหลักฐานทางโบราณคดีเป็นจำนวยมาก เช่น ศิวลึงค์ เทวรูป และ ศิลาจารึก เป็นต้น ซึ่งกรมศิลปากรได้จัดสรรงบประมาณเข้าบูรณะครั้งใหญ่ในปี 2541 แต่ถูกฝ่ายกัมพูชาประท้วง จึงได้ชะลอการบูรณไว้จนถึงปัจจุบัน