ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- 4 จังหวัดอีสานใต้พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้วร่วม 2,000 ราย โคราชมากสุด รองลงมาบุรีรัมย์ แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต ด้าน สคร.5 เตือน ปชช.หมั่นทำความสะอาดภาชนะเพื่อตัดวงจรยุงลายพาหะนำโรค
วันนี้ (24 ก.ค.) นพ.สมชาย ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 (สคร. 5) นครราชสีมา เปิดเผยว่า ในปีนี้การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะในเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนเหมาะแก่การเพาะพันธุ์ของยุงลาย และเป็นเดือนที่มีการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกสูง
ล่าสุด จากรายงานทางระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคระบุว่า ในพื้นที่สาธารณสุขเขต 13 ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา, บุรีรัมย์, ชัยภูมิ และ สุรินทร์ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-5 ก.ค.ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้วจำนวน 1,969 ราย แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นแต่อย่างใด
จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ นครราชสีมา มีผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้วจำนวน 739 ราย รองลงมาเป็น บุรีรัมย์ จำนวน 475 ราย, อันดับที่ 3 คือ สุรินทร์ มีผู้ป่วยจำนวน 393 ราย และ จ.ชัยภูมิจำนวน 362 ราย
“โรคไข้เลือดออกสามารถเป็นได้กับทุกเพศทุกวัยเป็นแล้วอาจถึงตายได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อาการสำคัญของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จะมีไข้สูงลอยอยู่ประมาณ 2-7 วัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีจุดแดงๆ ตามลำตัว แขน ขา บางรายมีอาการคลื่นไส้อาเจียน และเบื่ออาหาร ในรายที่รุนแรงจะกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น เนื่องจากภาวะช็อก ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้ในระยะนี้” นพ.สมชาย กล่าว
นพ.สมชาย กล่าวอีกว่า วิธีการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกได้ดีที่สุด คือ การกำจัดลูกน้ำยุงลายที่อยู่ตามภาชนะที่มีน้ำขังภายในบ้านและบริเวณรอบบ้านอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทุก 7 วัน เพื่อเป็นการตัดวงจรชีวิตของยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนทุกคนทุกหลังคาเรือนร่วมมือร่วมใจกันกำจัดลูกน้ำยุงลายที่บ้านของตัวเอง โดยการปิดฝาภาชนะใส่น้ำทุกภาชนะให้มิดชิด ภาชนะที่ไม่มีฝาปิดต้องขัดล้างและเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน หรือใส่ทรายอะเบท ฆ่าลูกน้ำยุงลาย ปล่อยปลากินลูกน้ำก็ได้ เก็บกวาดขยะบริเวณรอบบ้านให้สะอาด และเพื่อความไม่ประมาท ถ้าลูกหลานนอนกลางวันขอให้กางมุ้งป้องกันยุงกัดด้วย เพราะยุงลายออกหากินในเวลากลางวัน