ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – นักวิชาการ มช.ชี้หากมองในแง่วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ “ปราสาทพระวิหาร” ไม่ใช่ของไทยอยู่แล้ว หากการจดมรดกโลกทำให้ไทยเสียดินแดนไม่ควรโทษเฉพาะ“นพดล” แต่ต้องรวมไปถึงผู้ที่ยอมรับแผนที่ ค.ศ.1907 ของฝรั่งเศส ซึ่งใช้เป็นหลักฐานในการขึ้นศาลโลก เสนอทางออก 2 ประเทศบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกัน บินสูงอ้างอย่าปล่อยให้มีการปลุกปั่นสร้างกระแสชาตินิยมจนมองเห็นเขมรเป็นศัตรู
วันนี้ (9 ก.ค.) คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการเสวนาวิชาการหัวข้อ “วิวาทกรรมเขาพระวิหาร : การใช้โบราณสถานเป็นเครื่องมือทางการเมืองระหว่างประเทศ” มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าว และเปิดโอกาสให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสรับรู้ และเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น ในมุมมองเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเมือง และสังคม ตลอดจนผลกระทบที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยมีนักศึกษาและผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังการเสวนาประมาณ 100 คน ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในระหว่างการเสวนาว่า ปราสาทพระวิหารนั้น หากมองในแง่ของวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์แล้งคงต้องยอมรับว่าเป็นของกัมพูชา เพราะถูกสร้างขึ้นโดยบรรพชนแขมร์กัมพูชา (ขอม) ที่อาศัยอยู่ในกัมพูชาปัจจุบัน
ทั้งนี้เห็นว่า กรณีปราสาทพระวิหาร ที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันอยู่ในเวลานี้ กำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองทั้งในส่วนของประเทศไทยและกัมพูชา กล่าวคือในส่วนของไทย ฝ่ายที่พยายามโค่นล้มรัฐบาลก็ใช้กรณีนี้โจมตีรัฐบาลว่าทำให้ไทยเสียดินแดนให้กับกัมพูชา ขณะที่เอ็นจีโอในกัมพูชา ก็โจมตีรัฐบาลว่ากำลังตกหลุมพรางของไทย และจะนำไปสู่การเสียดินแดน ซึ่งในที่สุดแล้วไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นฝ่ายใดที่เสียดินแดน
นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์สมชาย แสดงความเห็นว่า สมมติว่าผลจากการที่คณะกรรมการมรดกโลกรับรองให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก จะทำให้ไทยเสียดินแดนจริง เหตุใดจึงมีแต่ความพยายามที่จะโทษว่า เป็นความผิดของนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่เพียงผู้เดียว
โดยมองว่าควรโทษตั้งแต่คณะทนายความของไทยนำโดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่ทำให้ไทยแพ้ในการตัดสินของศาลโลกในกรณีเขาพระวิหาร หรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ อดีตเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ที่เคยเสด็จปราสาทพระวิหาร โดยที่ก็ยอมรับโดยนัยว่าพื้นที่ตรงนั้นไม่ได้เป็นของไทย รวมไปถึงผู้ลงนามยอมรับในแผนที่ ค.ศ.1907 ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่ใช้เป็นหลักฐานในการขึ้นศาลโลกด้วย
ขณะเดียวกัน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงสิ่งที่ควรจะทำต่อไปว่า ทุกฝ่ายควรจะตระหนักว่า การขีดเส้นแบ่งเขตแดนจนเกิดขึ้นเป็นรัฐไทย เพิ่งจะมีขึ้นในสมัย ร.5 เท่านั้น โดยที่ก่อนหน้านั้นดินแดนไม่ได้มีการขีดแบ่ง ผู้คนสามารถไปมาหาสู่กันได้และมีความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วย
ทั้งนี้เห็นว่า ในเวลานี้อย่าปล่อยให้มีการปลุกปั่นสร้างกระแสชาตินิยมขึ้น จากกรณีปราสาทพระวิหารแล้วทำให้คนไทยมองเห็นกัมพูชาเป็นศัตรู ซึ่งสังคมไทยจะต้องมีสติและไตร่ตรองให้ดีเพื่อไม่ให้เกิดความเกลียดชังระหว่างกันขึ้น
นอกจากนี้เสนอว่าน่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะให้มีการบริหารจัดการพื้นที่ บริเวณปราสาทพระวิหารและโดยรอบร่วมกันระหว่างไทยและกัมพูชา เพราะมีตัวอย่างลักษณะเดียวกันนี้ให้เห็นมาแล้วในยุโรป
ด้านอาจารย์เอกกมล สายจันทร์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ เป็นเพราะปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนพื้นที่เขตแดนระหว่างรัฐ และผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น จากการเป็นมรดกโลกของปราสาทพระวิหาร เพราะปัจจุบันการท่องเที่ยว ถือเป็นสิ่งที่นำรายได้เข้าสู่กัมพูชาอย่างมาก ส่วนจะเกี่ยวข้องกับกรณีเกาะกงหรือไม่นั้น ส่วนตัวไม่มีข้อมูลเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม เห็นว่ากรณีปราสาทพระวิหารที่เกิดขึ้นนี้เป็นเหยื่อของการเมืองทั้ง 2 ประเทศ โดยในส่วนของกัมพูชา กำลังมีการเลือกตั้งก็ใช้ในการเรียกคะแนน ส่วนไทยกลุ่มที่เคลื่อนไหวก็ใช้เป็นเครื่องมือในการปลุกกระแสชาตินิยม
ทั้งนี้ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล เป็นนักวิชาการในสายเดียวกันกับนายนิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ แห่งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ที่เคยออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐธรรมนูญ 2550 โดยอ้างว่า คมช.มัดมือชก เพราะร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มี 4,650 บรรทัด แต่คนไทยอ่านหนังสือแค่ปีละ 7 บรรทัด จะต้องใช้เวลาถึง 600 ปี จึงจะอ่านร่างรัฐธรรม 2550 จบ