ตาก – ทีมเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร – ตำรวจ สภ.พะวอ ลุยจับแหล่งผลิตสารยาฆ่าหญ้าปลอมชายแดนตาก ได้ของกลางมูลค่ากว่าล้าน ชี้มีด็อกเตอร์ดังอยู่เบื้องหลัง ใช้น้ำเจือจางยาฆ่าหญ้าจริงก่อนติดฉลากปลอมส่งขายทั่วภาคเหนือตอนล่างทำกำไรมหาศาล
นายสาโรจน์ ลักษณะวิลาศ เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร, นายดิเรก ตนพะยอม ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิต กรมวิชาการเกษตร ได้นำกำลังกว่า 20 นายประสานกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.พะวอ อ.แม่สอด จ.ตาก เข้าตรวจสอบบ้านไม่มีเลขที่และเพิงพักกลางไร่ข้าวโพด หมู่ 1 ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อวันที่ 3 ก.ค.51 ที่ผ่านมา หลังสืบทราบว่าเป็นแหล่งผลิตสารเคมีปลอม(ยาฆ่าหญ้า)
เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่พบแต่คนเฝ้าบ้านทราบชื่อนางบานชื่น ไม่ทราบนามสกุล ส่วนคนงานซึ่งเป็นชาวพม่าต่างวิ่งหลบหนีเข้าป่าหลังบ้านก่อนเจ้าหน้าที่ไปถึง
จากการตรวจเพิงพักและบนบ้านพบสารเคมีปลอมจำนวนมาก บางส่วนบรรจุแกลลอนติดสติกเกอร์เรียบร้อยเตรียมส่งขายจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีแกลลอนเปล่าที่เตรียมนำไปบรรจุอีกหลายร้อยใบจนท.จึงตรวจยึดสารเคมีทั้งหมดรวม 3,631 ลิตร แกลลอนเปล่า 900 ใบ รวมทั้งอุปกรณ์การผลิตต่างๆจำนวนมาก รวมมูลค่าทั้งหมด 1,400,000 บาท
นายสาโรจน์ เปิดเผยว่า การจับกุมในครั้งนี้เนื่องจากทางกรมฯได้รับแจ้งจากเกษตรกรว่ามีสารเคมีปลอม (ยาฆ่าหญ้า)ระบาดในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างอย่างแพร่หลายทั้ง จ.พิษณุโลก กำแพงเพชร และตาก จึงออกติดตามตรวจสอบแล้วพบว่าแหล่งผลิตอยู่ในพื้นที่จังหวัดตาก โดยตรวจพบสาเคมีปลอมส่วนหนึ่งวางขายในสำนักงานสหกรณ์การเกษตรอุ้มผาง จ.ตาก จึงติดตามหาแหล่งผลิตและพบว่าอยู่ในบ้านหลังดังกล่าว ซึ่งโรงงานแห่งนี้ทราบว่าเป็นของด็อกเตอร์ชื่อดังคนหนึ่ง (ขอสงวนนาม) และจะย้ายแหล่งผลิตไปหลายแห่งไม่อยู่เป็นที่เพราะกลัวถูกจับกุม
พฤติกรรมของผู้ผลิตยาฆ่าหญ้าปลอมรายนี้ จะนำยาฆ่าหญ้าของจริงในท้องตลาดมาเจือจางด้วยการผสมกับน้ำและใส่สีให้เหมือนของจริง จากนั้นจะบรรจุลงแกลลอนติดสติกเกอร์ปลอมที่ทำขึ้นเองแต่เหมือนของจริง แล้วส่งออกจำหน่ายให้กับร้านค้าประจำในราคาที่ถูกกว่าที่มาจากบริษัท สร้างกำไรให้กับขบวนการนี้อย่างมหาศาล แต่เกษตรกรต้องชอกช้ำเพราะนำไปใช้แล้วไม่ได้ผล ซึ่งชาวบ้านที่อยู่ระแวกใกล้เคียงบอกว่าช่วงใกล้รุ่งจะมีรถบรรทุกเข้ามานำสินค้าออกอาทิตย์ละอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ไม่ได้สงสัยนึกว่าบรรทุกผลผลิตทางการเกษตร