xs
xsm
sm
md
lg

รถเมล์เข้าเชียงใหม่หาย 40%-ทุนขนส่งจี้รื้อระบบรางหนีวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มรถโดยสาร เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ต้องปรับตัวขนานใหญ่จาก ปัญหาน้ำมันแพง ซึ่งรวมทั้ง เมล์เขียวของบริษัท ชัยพัฒนาขนส่ง จำกัด ผู้ให้บริการรถโดยสารยักษ์ใหญ่ของภาคเหนือด้วย
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – กลุ่มทุนรถโดยสารภาคเหนือหมดทางดิ้นหนีน้ำมันแพง จำต้องจอดรถทิ้งไว้รอวันปิดกิจการกันระนาว ชี้เฉพาะรถระหว่างจังหวัดที่วิ่งเข้าเชียงใหม่ จอดทิ้งกันแล้ว 30-40% - ปิดกิจการไปแล้ว 3-4 ราย ยักษ์เมล์เขียวชี้ระยะยาวยังไร้ทางแก้ที่ชัดเจน ระบุแผนใช้ NGV ยังง่อนแง่น / ปตท.ไม่แน่นอน ด้านสมาพันธ์ขนส่งฯจี้รัฐรื้อแผนรถไฟ เจียดงบทำรางเชื่อม 3 หัวเมือง ลดคนใช้ถนน 40% - ประหยัดต้นทุนLogistic

นายสมชาย ทองคำคูน กรรมการผู้จัดการบริษัทชัยพัฒนาขนส่ง จำกัด ผู้ให้บริการรถโดยสารยักษ์ใหญ่ของภาคเหนือ (เมล์เขียว-Green Bus) อุปนายกภาคเหนือ ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้ยังบอกกันไม่ได้เหมือนกันว่า กลุ่มทุนขนส่งจะทำกันอย่างไรถึงจะอยู่รอด ขณะที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติในระดับใด

เบื้องต้นต้องประคองตัวให้ได้ ประหยัดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมความเร็วของรถให้อยู่ในระดับที่ประหยัดน้ำมันที่สุด – ลดเวลาติดเครื่องรอผู้โดยสารในสถานี – ยืดระยะเวลาระหว่างเที่ยววิ่งให้ยาวขึ้น ฯลฯ แล้วนำเม็ดเงินที่ได้จากการประหยัดค่าใช้จ่ายในสัดส่วน 25% มาตั้งเป็นรางวัลจูงใจให้พนักงานแทน

นายสมชาย บอกอีกว่า ในส่วนของบริษัทมีรถอยู่ 100 กว่าคัน รถร่วมอีก 400 กว่าคัน นอกจากจะใช้วิธีข้างต้นแล้ว ก็ให้รถบางคันทดลองใช้น้ำมัน B5 ที่ ปตท.ทำออกมา เบื้องต้นลดต้นทุนได้ประมาณ 70 สตางค์ – 1 บาท แต่ก็กำลังดูประสิทธิภาพของเครื่องยนต์อยู่ว่า ได้รับผลกระทบอย่างไรหรือไม่ พร้อมกับเริ่มทยอยเปลี่ยนรถใหม่เข้ามาให้บริการ โดยสั่งซื้อจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เพราะการใช้รถใหม่ สามารถลดต้นทุนทั้งค่าน้ำมันเชื้อเพลิง – ค่าซ่อมบำรุง ได้ประมาณ 10-15%

ส่วนแนวทางการเปลี่ยนเครื่องยนต์ เพื่อหันไปใช้ NGV ณ วันนี้ นอกจากจะต้องใช้ต้นทุนสูงถึง 1 ล้านบาท/คัน ถ้า 100 คัน ก็ตก 100 ล้านบาทแล้ว ปัญหาสำคัญก็คือ ปตท.ยังไม่สามารถให้ความมั่นใจได้ว่า จะสามารถส่งก๊าซได้ทันต่อความต้องการหรือไม่ เพราะเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้ก็ไม่พอต่อความต้องการผู้บริโภคอยู่แล้ว ซึ่งรถโดยสารไม่สามารถที่จะรอเติมก๊าซได้นานแน่นอน ดังนั้น แนวทางนี้จะต้องรอจนกว่า ปตท.จะให้ความมั่นใจได้ว่า สามารถส่งก๊าซเพียงพอ และทันต่อความต้องการได้เท่านั้น

“ตอนนี้ในส่วนของบริษัทอาจจะยังพอยื้อได้ เพื่อรอแนวทางแก้ไขในระยะยาวที่มั่นใจได้ แต่ในส่วนของรถร่วม ที่เข้ามาวิ่งกับเรา หลายรายต้องจอดรถทิ้งไว้รอวันปิดกิจการ และมีประมาณ 3-4 รายแล้ว ที่แจ้งขอเลิกกิจการ เพราะทนขาดทุนไม่ไหว”

นายสมชาย ยังบอกอีกว่า และจากการพูดคุยกับนายสถานีขนส่งเชียงใหม่ ทราบว่า ปัญหาการขาดทุนของผู้ประกอบการรถโดยสารในภาคเหนือเริ่มขยายวงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยดูได้จากปริมาณรถโดยสารที่วิ่งเข้า-ออก สถานีเชียงใหม่ ขณะนี้พบว่า มีรถโดยสารหายไปแล้วมากถึง 40% เพราะผู้ประกอบการต้องจอดรถทิ้งไว้ ซึ่งแน่นอนว่าบางส่วนคงปิดกิจการไปแล้ว

ด้านนายยู เจียรยืนยงพงษ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารสมาคมขนส่งทางบก เปิดเผยว่า การขนส่งเมืองไทยยังจำเป็นต้องใช้รถอยู่ แต่ภายใต้วิกฤตน้ำมันแพงที่ไม่มีทีท่าว่าจะยุติเมื่อใด หรือเท่าไหร่ ประเทศไทยจำเป็นต้องหันมาพัฒนาระบบรางมาสนับสนุน เพื่อลดต้นทุนลอจิสติกส์ให้ได้

แม้ว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะรัฐมนตรี จะมีมติให้พัฒนาการขนส่งระบบรางทั่วประเทศ 3 แสนล้านบาท โดยส่วนตัวเห็นว่า เป็นไปไม่ได้ภายใต้โครงสร้างของการรถไฟฯที่เป็นอยู่ขณะนี้

นายยู กล่าวอีกว่า ที่จริงแล้วรัฐบาลไม่จำเป็นต้องใช้งบสูงถึง 3 แสนล้านบาท เพื่อพัฒนาการขนส่งระบบรางครอบคลุมทั่วประเทศ แต่น่าจะปรับแผนหันมาพัฒนาระบบรางเชื่อมเพียงหัวเมือง 3 เส้นทางหลัก คือ กรุงเทพฯ – นครสวรรค์ , กรุงเทพฯ-นครราชสีมา , กรุงเทพฯ – เพชรบุรี ซึ่งแต่ละเส้นทางมีระยะเพียง 150 กิโลเมตร(กม.) โดยให้รถไฟในช่วงนี้วิ่งได้ด้วยความเร็ว 160-200 กม./ชม. ซึ่งเมื่อสินค้าที่ขนส่งมาทางรถจากภูมิภาคต่าง ๆ เข้ามาถึงทั้ง 3 จังหวัดก็เปลี่ยนมาใช้รถไฟได้ จะช่วยลดปริมาณการใช้รถ-ใช้ถนนเข้ากรุงเทพฯ ได้ไม่น้อยกว่า 40%

กำลังโหลดความคิดเห็น