ศูนย์ข่าวศรีราชา - ศูนย์ส่งเสริมการส่งออกภาคตะวันออก เตรียมหนุนแนวคิดหอการค้าจันท์ฯ เร่งโครงการแปรรูปเงาะเพื่อการส่งออก พร้อมศึกษาแนวทางผลิตเครื่องคว้านเงาะเสริมศักยภาพการแปรรูปที่วางเป้าหมายให้เป็นผลสำเร็จในปี 52 รับจำนวนผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดในปีหน้า หลัง ผลผลิตปี 51ที่มีมากกว่า 2 แสนตันฉุดราคาขายในตลาดให้ตกต่ำต่อเนื่อง ด้านผู้ส่งออกทุเรียนระบุตัวเลขส่งออกต่างประเทศยังดี โดยปี 51 ภาคตะวันออกมียอดส่งออกทุเรียนเฉลี่ย 4-7 หมื่นตัน หรือเกือบ 200 ล้านบาท
นางรุ่งศรี เฑียรพาณิชย์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ส่งเสริมการส่งออกภาคตะวันออก (จันทบุรี) เผยถึงการกระจายผลผลิตผลไม้ในพื้นที่ภาคตะวันออกในปี 2551 ทั้งการส่งออกไปยังต่างประเทศและการบริโภคภายในประเทศว่า ในส่วนของการส่งออกโดยเฉพาะทุเรียนพบว่าไม่มีปัญหาเนื่องจากตลาดหลักอย่างจีน ฮ่องกง และไต้หวัน ยังนิยมบริโภคทุเรียนจากไทย แต่ปัญหาที่พบคือผลผลิตที่มีคุณภาพกลับไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ขณะที่การกระจายสินค้าภายในประเทศ กลับต้องประสบปัญหาจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง จนทำให้พ่อค้าจากภาคอีสานและเหนือ ไม่กล้าวิ่งรถเปล่าเพื่อขนผลไม้ไปจำหน่ายเพราะเกรงว่าจะไม่คุ้มทุน
“ในปีนี้ภาคตะวันออกประสบปัญหา เรื่องผลผลิตที่ประดังออกสู่ตลาดพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะเงาะที่มีกว่า 2 แสนตัน ขณะที่การระบายสู่ตลาดในประเทศเป็นด้วยความยากลำบากเนื่องจากพ่อค้าจากภาคอีสานและเหนือไม่กล้าตีรถเปล่ามารับ เพราะสู้ค่าน้ำมันไม่ไหวราคาจึงตกต่ำต่อเนื่อง หลายหน่วยงานต้องช่วยกันเข้ามาพยุงราคา เช่น อบจ.ก็เข้ามารับซื้อแต่เงาะมันมีมากเมื่อเอาไปฝากไว้ในห้องเย็นที่มีในจังหวัดก็ไม่พอจึงเกิดการเน่าเสีย ในปีหน้าเราจึงวางเป้าหมายที่จะแปรรูปเงาะเพื่อการส่งออก ซึ่งขณะนี้ได้หารือร่วมกับหอการค้าจังหวัดจันทบุรี ที่เป็นเจ้าของโครงการผลิตเครื่องคว้านเงาะเพื่อการแปรรูป”
นางรุ่งศรี ยังกล่าวถึงการจับมือร่วมกับหอการค้าจังหวัดจันทบุรีในการค้นคว้าและวิจัยการผลิตเครื่องคว้านเงาะ เพื่อทนแทนแรงงานคนที่กำลังขาดแคลนในภาคเกษตร ว่าจะพยายามดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนผลผลิตจะออกสู่ตลาดในปี 2552 เพื่อแปรรูปเงาะให้เป็นเงาะกระป๋องสำหรับการส่งออก ซึ่งจะทำให้ราคาจำหน่ายเงาะในตลาดภาย ในประเทศดีขึ้น
นอกจากนั้น หลังหมดฤดูกาลผลไม้ สำนักงานจะเดินหน้าสนับสนุนโครงการเครือข่ายเกษตรกรที่กำลังดำเนินการอยู่ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ความรู้ในการผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ที่สำคัญคือ การเพิ่มผลผลิตทุเรียนคุณภาพเพื่อการส่งออกให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด
ส่วนในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ ศูนย์ส่งเสริมการส่งออกฯ จันทบุรี ยังจะจัดให้มีการสัมมนาในหัวข้อการให้ความรู้ในการส่งออกผลไม้ ซึ่งจะเชิญทั้งผู้ส่งออกและเกษตรกรมาให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำเอก สารหรือแม้แต่การหาตลาดส่งออก รวมทั้งกาผลักดันให้เกษตรกรผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพมากขึ้นเพื่อสนับสนุนการเพิ่มปริมาณผลไม้ที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ
ตัวเลขส่งออกทุเรียนปีนี้เกือบ 200 ล้าน
นายเกียรติศักดิ์ ตั้งเจริญสุทธิชัย ผู้บริหาร บริษัท ไต๋ฟู้ด จำกัด ผู้ส่งออกทุเรียนในพื้นที่จังหวัดระยอง เผยว่าตลาดส่งออกทุเรียนของภาคตะวันออก ในปีนี้ค่อนข้างดีแต่ติดปัญหาด้านราคา เพราะปีนี้ประ เทศจีนประสบปัญหาพายุไต้ฝุ่นค่อนข้างมากจึงทำให้เรือสินค้า ซึ่งบรรทุกทุเรียนจากภาคตะวันออก ต้องติดอยู่นอกน่านน้ำหลายลำ และเมื่อพายุสงบการเข้าท่าพร้อมกันของเรือทำให้ทุเรียนจากไทยที่ส่งไปจำหน่ายแต่ละงวด ตกค้างภายในตลาดจำนวนมาก ผลที่ตามมาคือราคาจำหน่ายที่ตกต่ำ แต่อย่างไรก็ตาม การส่งออกทุเรียนไปต่างประเทศของภาคตะวันออกแต่ละปีมีประมาณ 4-7 หมื่นตัน
“ในปีนี้ยอดการส่งออกน่าจะไม่น้อยกว่าในปีก่อนๆ คือน่าจะอยู่ที่ประมาณ 4-7 หมื่นตัน เฉพาะบริษัทฯผมในช่วง 2-3 เดือน ที่ผ่านมา ก็มียอดส่งออกประมาณพันตันซึ่งถือว่าน้อยมากเพราะเราไม่สามารถหาทุเรียนคุณภาพส่งไปจำหน่ายได้ทั้งที่ตลาดยังต้องการอีกเยอะ โดยราคาจำหน่ายทุเรียนในต่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 22-25 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งก็คิดว่าในปีนี้ยอดส่งออกรวมไม่น่าจะเกือบ200 ล้านบาท” นายเกียรติศักดิ์ กล่าว