บุรีรัมย์ - กรมศิลปากรทำพิธีบวงสรวงใหญ่ ขอขมาสิ่งศักดิ์บนปราสาทพนมรุ้ง ก่อนระดมทีมช่างบูรณะซ่อมแซมเทวรูปที่ถูกทุบทำลายเสียหายทั้งหมด ให้แล้วเสร็จใน 30 วัน ด้านอธิบดีกรมศิลป์ยันไม่กระทบต่อการยื่นเสนอเป็นมรดกโลก กับ ยูเนสโก ส่วนเรื่องคดียังไม่คืบ
วันนี้ (4 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเกรียงไกร สัมปัสชลิต อธิบดีกรมศิลปากร ได้เดินทางมาเป็นประธานประกอบพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บนอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ โดยมี นายนพวัชร สิงห์ศักดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนเข้าร่วมทำพิธีกว่า 200 คน
โดยมีการประกอบพิธีทั้งแบบพราหมณ์ และพิธีสงฆ์ เพื่อความเป็นสิริมงคล และบอกกล่าวขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก่อนระดมทีมช่างจากกรมศิลปากร และช่างในจังหวัดบุรีรัมย์ร่วมกันบูรณะซ่อมแซมเทวรูปองค์เทพบริวารบนปราสาทพนมรุ้ง ที่ถูกคนร้ายทุบทำลายเสียหาย 19 องค์
หลังประกอบพิธีบวงสรวง นายเกรียงไกร อธิบดีกรมศิลปากร ได้นำชิ้นส่วนประติมากรรมแขนทวารบาลส่วนที่แตกหักที่ซ่อมแซมแล้ว ประกอบเข้ากับส่วนที่ไม่เสียหายเพื่อเป็นปฐมฤกษ์ ที่จะนำไปสู่การบูรณะซ่อมแซมเทวรูปองค์อื่นๆ ที่ถูกทุบทำลายเสียหาย โดยจะทำการซ่อมแซมจากองค์ปราสาทประทานลงไปจนถึงเศียรพญานาค สะพานนาคราชด้านล่างประสาท ซึ่งคาดว่า จะแล้วเสร็จภายใน 30 วันตามกำหนด
นายเกรียงไกร สัมปัสชลิต อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า การซ่อมแซมจะต้องทำอย่างละเอียดให้คล้ายของจริงมากที่สุด โดยจะมีการตรวจสอบวัตถุดิบ เช่น หินทราย สี รวมถึงการตรวจอายุของวัตถุดิบที่จะมาเป็นส่วนผสม ให้มีอายุเทียบเท่ากับของเดิมและใกล้เคียงที่สุด ซึ่งหลังจากนี้คาดว่าจะใช้เวลาทำการซ่อมแซมให้แล้วเสร็จทั้งหมดประมาณ 30 วัน
นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับวนอุทยานประวัติศาสตร์เขาพนมรุ้ง จะไม่กระทบกับการยื่นเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาขององค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติ เพราะองค์ปราสาทส่วนใหญ่ยังมีความสมบูรณ์ และส่วนที่เสียหาย ยังสามารถบูรณะซ่อมแซมให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมได้ โดยกรมศิลปากรมีนโยบายที่จะเสนอโบราณสถานที่เป็นอุทยาน ให้เป็นมรดกโลกทั้งหมด
ส่วนด้านการรักษาความปลอดภัย กรมศิลปากรจะได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำท้องถิ่น ที่มีโบราณสถานตั้งอยู่ในพื้นที่ เข้ามาสร้างสำนึก ในการมีส่วนร่วมวางมาตรรักษาความปลอดภัยโบราณสถานที่มีทั้งประเทศกว่า 5,000 แห่ง เป็นการป้องกันกลุ่มแก๊งค์มิจฉาชีพ หรือผู้ไม่หวังดี เข้าไปโจรกรรมหรือทุบทำลาย ซ้ำรอยอีก
สำหรับคดี ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เร่งติดตามหาตัวคนร้ายที่ก่อเหตุ และผู้บงการอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีความคืบหน้า ยังอยู่ในระหว่างการสืบสวนหาข้อมูลจากหลายแหล่ง เพื่อให้เกิดความแน่ชัดและไม่ให้กระทบต่อผู้บริสุทธิ์ โดยยังพุ่งเป้าประเด็นหลักคือกลุ่มผู้มีความรู้ด้านไสยศาสตร์
ขณะที่ชาวบ้านบ้านดอนหนองแหน ต.ตาเป๊ก อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งหมู่บ้านตั้งอยู่ห่างปราสาทพนมรุ้ง 1 กิโลเมตร ที่ยังมีความโกรธแค้นกลุ่มคนร้ายใจบาป ได้ร่วมกันประกอบพิธีจุดธูปเทียน ต่อหน้าศาลเจ้าพ่อพรหมทองครองเมือง คุณยายสายทองพญาฤทธิ์ ที่ปกปักรักษาหมู่บ้าน เพื่อสาปแช่งกลุ่มคนร้ายใจบาป ที่บุกขึ้นไปประกอบพิธีก่อนทุบทำลายองค์เทพบริวารบนปราสาทพนมรุ้ง จนได้รับความเสียหาย
พร้อมภาวนาขอให้สิ่งศักดิ์ทั้งหลายและศาลตาพรหม ได้ช่วยเจ้าหน้าที่จับกุมตัวคนร้ายและผู้บงการได้โดยเร็ว เพราะโบราณสถานดังกล่าว เป็นสถานที่ที่ประชาชนเคารพศรัทธา มาตั้งแต่บรรพบุรุษ และขอให้คนร้ายได้ประสบเคราะห์กรรมจากที่ได้กระทำต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนปราสาทพนมรุ้งไว้โดยเร็ว
ชาวบ้านที่มาร่วมในการประกอบพิธีบวงสรวงสาปแช่ง บอกว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่สร้างความสะเทือนใจให้กับประชาชนในหมู่บ้าน และชาวจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นอย่างมาก ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะมีคนร้ายที่มีจิตใจบาป มาทุบทำลายปราสาทได้ จึงขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ลงโทษคนร้ายและผู้บงการดังกล่าวอย่างสาสมโดยเร็ว