xs
xsm
sm
md
lg

ลาวตื่นตัวปลูกพืชพลังงานทดแทน จีนตั้ง รง.-ไทยส่งออกต้นมัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เพียง5เดือนมีการส่งออกลำต้นมันสำปะหลังไปยังสปป.ลาวมูลค่าร่วมล้านบาทแล้ว
หนองคาย -รัฐบาลลาวเปิดสัมปทานต่างชาติปลูกพืชพลังงานทดแทน 4 แขวงใหญ่ ส่วนไทยรับอานิสงส์ส่งออกลำต้นมันสำปะหลัง ศุลกากรหนองคายเผยเพียง 5 เดือน ยอดส่งออกมูลค่าเกือบล้านบาท เผย ธุรกิจปลูกพืชพลังงานทดแทนสดใส นักลงทุนจีนเตรียมตั้งโรงงานผลิตพลังงานทดแทนในเวียงจันทน์ ส่วนหัวมันดิบนำกลับเข้าไทยลงเรือส่งจีนเพื่อผลิตเป็นแป้งมันฯ

นายวิศวะ ปิติสุขสมบัติ นายด่านศุลกากรหนองคาย เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ส.ป.ป.ลาว) มีแหล่งพลังงานน้ำมันเป็นของตนเอง ในแต่ละปีลาวต้องสั่งนำเข้าน้ำมันคิดเป็นเงินหลายพันล้านบาท โดยร้อยละ 85 นำเข้าจากประเทศไทย และร้อยละ 15 นำเข้าจากเวียดนาม เมื่อตรวจสอบตัวเลขสะสมย้อนหลังหลายปีพบว่า ลาวเสียเปรียบดุลการค้าจากการนำเข้าสินค้าประเภทน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นมูลค่ามหาศาล

รัฐบาลลาวจึงมีนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานทดแทน เพื่อลดการขาดดุลการค้าและดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ ส่งเสริมการลงทุนและเพื่อให้เกิดกิจกรรมการสร้างงานภายในประเทศ ทั้งนี้พบว่า สปป.ลาวมีศักยภาพทางด้านนี้ คือ ยังมีพื้นที่ว่างเปล่า ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์และยังมิได้นำมาใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก ประกอบกับแรงงานในภาคเกษตรกรรมมีอย่างเพียงพอ หรือประมาณ 2.6 ล้านคนจากประชากรทั่วประเทศ

ขณะนี้รัฐบาลลาวได้ส่งเสริมให้มีการปลูกมันสำปะหลัง สบู่ดำ ละหุ่ง และปาล์มน้ำมัน โดยมีทั้งการเปิดให้ต่างชาติเข้าสัมปทานปลูกพืชพลังงานทดแทนเหล่านี้ใน 4 แขวงใหญ่ คือ แขวงเวียงจันทน์ แขวงบอลิคำไซ แขวงเชียงขวาง และ แขวงจำปาสัก แต่เนื้อที่ยังไม่สามารถระบุได้ว่ามากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่ามีประเทศที่เข้ามาลงทุนปลูกพืชพลังงานทดแทนในลาวแล้ว 4 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น อิตาลี และเกาหลีใต้ เบื้องต้นได้มีการนำลำต้นมันสำปะหลังพันธุ์จากประเทศจีนมาปลูก แต่ปรากฏว่าผลผลิตที่ได้ไม่ดีพอ อาจจะมีสาเหตุจากหลายปัจจัย จึงมีการหันมาสั่งนำเข้าลำต้นมันสำปะหลังจากประเทศไทยแทน เนื่องจากประเทศไทยและสปป.ลาวมีสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศใกล้เคียงกัน ทำให้มันสำปะหลังจากไทยสามารถเจริญเติบโตได้ดีใน ส.ป.ป.ลาว

นายวิศวะ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 มีผู้ประกอบการส่งออกของไทย 4 บริษัท ยื่นเรื่องต่อศุลกากรหนองคาย เพื่อส่งออกลำต้นมันสำปะหลังทางด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จ.หนองคาย โดยในเดือนมกราคม ส่งออกจำนวน 180 ตัน กุมภาพันธ์ 600 ตัน มีนาคม 60 ตัน เมษายน 488 ตัน และช่วง 1-15 พฤษภาคม 554 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 941,000 บาท และมีแนวโน้มว่าจะมีการนำลำต้นมันสำปะหลังส่งออกไปสปป.ลาวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับลำต้นมันสำปะหลังที่ส่งออกไปลาว จะมีแหล่งที่มาจากหลายจังหวัดของไทย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นลำต้นมันสำปะหลังจากจังหวัดนครราชสีมา ส่วนสบู่ดำนั้นปริมาณการนำเข้าจากประเทศไทยมีน้อยกว่ามันสำปะหลัง เนื่องจากสบู่ดำในพื้นที่ประเทศลาวมีพันธุ์จำนวนมาก และสามารถขยายเพาะพันธุ์ได้เอง

ในการดำเนินการลงทุนด้านการเกษตรในสปป.ลาว รัฐบาลลาวเปิดให้ต่างชาติเข้าทำสัญญาสัมปทานด้านเกษตรกรรม เป็นระยะเวลานานประมาณ 20-30 ปี แล้วแต่ประเภทของการเกษตร ซึ่งผลผลิตของมันสำปะหลังที่ได้จากการเพาะปลูกในลาวนั้น ส่วนใหญ่จะนำไปผลิตเป็นพลังงานทดแทน ขณะนี้ทราบว่ามีนักธุรกิจจีนตั้งโรงงานผลิตพลังงานทดแทนในเชิงอุตสาหกรรมที่นครหลวงเวียงจันทน์แล้ว แต่ยังเป็นช่วงทดลองผลิตพลังงานทดแทน และอีกส่วนหนึ่งจะนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น แป้งมันสำปะหลัง และจะมีการนำหัวมันสำปะหลังจากลาวกลับเข้ามาในประเทศไทย มายังแหลมฉบัง เพื่อนำส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศที่สาม โดยเฉพาะที่ประเทศจีน

ในส่วนของศุลกากรหนองคาย ซึ่งได้ส่งเสริมการค้า มีการให้บริการส่งออก ซึ่งปัจจุบันได้ใช้ระบบ E- Custom ซึ่งเป็นระบบไร้เอกสาร หรือ paperless ในการส่งออก เป็นระบบการส่งออกที่สะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สามารถนำสินค้าส่งออกทางสะพานมิตรภาพไทย – ลาว ได้ทันที ผู้ประกอบการไม่ว่าปลูกมันสำปะหลัง รับซื้อลำต้นมันสำปะหลังไปขายต่อ เหล่านี้ล้วนสร้างมูลค่ารายได้ให้แก่ประเทศไทย

นายด่านศุลกากรหนองคาย กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้รับการประสานงานจาก ดร.คำเผย ผันทะจอน รองเจ้าแขวงสะหวันนะเขต ส.ป..ลาว ว่า ทางลาวยินดีที่จะสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศในธุรกิจการเกษตร แต่ในขณะนี้มีนักลงทุนจากหลายประเทศเข้าไปจับจองขอสัมปทาน เพื่อลงทุนด้านการเกษตรเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่มีประมาณ 13 ราย

ประกอบด้วย ไทย เวียดนาม และจีน พื้นที่ที่ขอสัมปทานไปแล้วประมาณ 102,358 เฮกตาร์ หรือประมาณ 639,737.5 ไร่ เกรงว่า พื้นที่จะเบียดกัน ซึ่งบริษัทจะต้องเข้าไปสำรวจอีกครั้งหนึ่งและอำนาจของทางแขวงจะอนุมัติได้ครั้งละไม่เกิน 100 เฮกตาร์ หรือประมาณ 625 ไร่ หากเกินครั้งละ 100 เฮกตาร์จะต้องขออนุมัติจากรัฐบาลกลาง และเป็นช่วงที่รัฐบาลกลางขอระงับ ประกอบกับทางจีนและเวียดนาม ยังมีความต้องการด้านยางพาราและเสบียงอาหารจำนวนมาก จึงมีการลดภาษีและขั้นตอนการนำเข้าให้แก่ลาว

ในขณะที่ภาครัฐของไทยยังไม่มีท่าที ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปรับอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านให้สอดรับกับสถานการณ์ เพราะเกรงจะไปกระทบต่อภาคการเกษตรของไทย ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่ และเมื่อใดที่จีนและเวียดนามหรือประเทศคู่แข่งอื่นเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อป้อนตลาดหรือขายในนามของเขา ก็จะเสียโอกาสไป

นอกจากนี้ อาจจะกลายเป็นคู่แข่งถาวรและแทนที่ภาคธุรกิจไทยจะได้เป็นเจ้าของธุรกิจในต่างประเทศก็อาจจะกลายเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตในต่างประเทศ ดังนั้น ภาครัฐควรทบทวนว่าสินค้าเกษตรใดที่ผลิตยังไม่เพียงพอ ยังขาดแคลน ตลาดยังมีความต้องการสูง หรือควรเปิดตลาดให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีฐานการผลิตไม่มากนัก เพื่อควบคุมระบบปกป้องไม่ให้ประเทศคู่แข่งเข้าไปใช้ประโยชน์และมีผลกระทบเป็นภัยคุกคามต่อประเทศไทยตามมาในภายหลัง
กำลังโหลดความคิดเห็น