xs
xsm
sm
md
lg

มข.ฟื้นชีพสุราแช่ไทย-โชว์ผลงานวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่ตลาดโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีสัมมนาสัมมนาเชิงวิชาการ นำเสนอผลงานวิจัยและเปิดตัวผลิตภัณฑ์ ภายใต้โครงการ “โครงการสร้างสมรรถนะเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการผลิตสุราแช่ไทยเพื่อการแข่งขันในตลาด” ที่โรงแรมโซฟิเทล ราชาออคิด จังหวัดขอนแก่น
ศูนย์ข่าวขอนแก่น-นักวิจัยม.ขอนแก่นรุกฟื้นชีวิตสุราแช่ไทย หลังผู้ผลิตสุราล้มเลิกกิจการเหลือไม่ถึง 10% เหตุคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ซ้ำขัดกฎหมายสรรพสามิต ดันตั้งศูนย์วิจัยการหมักเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์การเกษตรช่วย ดึงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีช่วยพัฒนาคุณภาพ ชูจุดเด่นประโยชน์ต่อสุขภาพ ล้างภาพมอมเมา พร้อม เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์และวิจัยด้านการตลาด ในลักษณะครบวงจร มั่นใจมีศักยภาพขยายตลาดถึงต่างประเทศ ชี้” สาโทสยาม” เริ่มส่งออกต่างประเทศแล้ว

เมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์วิจัยการหมักเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) จัดสัมมนาเชิงวิชาการ นำเสนอผลงานวิจัยและเปิดตัวผลิตภัณฑ์ ภายใต้โครงการ “โครงการสร้างสมรรถนะเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการผลิตสุราแช่ไทยเพื่อการแข่งขันในตลาด” โดยมีนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการผลิตสุราแช่ในพื้นที่ภาคอีสาน สื่อมวลชน ร่วมเวทีสัมมนา ณ ห้องออคิดบอลรูม โรงแรมโซฟิเทล ราชาออคิด อำเภอเมืองขอนแก่น

ผศ.ดร.คณิต วิชิตพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายแผนและพัฒนา คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะหัวหน้าโครงการสร้างสมรรถนะเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการผลิตสุราแช่ไทยเพื่อการแข่งขันในตลาด เปิดเผยว่า สภาพทั่วไปของผู้ประกอบการสุราแช่ไทย ณ ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการที่ยังคงการผลิตไม่ถึง 10% เพราะมีหลายปัจจัยไม่อำนวยต่อการผลิตสุราแช่ต่อไปได้

ปัญหาหลักคือ คุณภาพสุราแช่ไม่ได้มาตรฐาน รสชาติไม่ถึงระดับที่ผู้บริโภคพอใจ หรือมีความไม่สม่ำเสมอและไม่คงตัว ทั้งรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ไม่ดึงดูดผู้บริโภค ไม่เข้าใจกระบวนการผลิตนำสินค้าออกสู่ตลาด ขาดการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาคุณภาพและกระบวนการผลิต ทำให้ผู้ประกอบการขาดทุนและต้องเลิกกิจการไป

ขณะเดียวกันการผลิตสุราแช่ ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังขัดต่อกฎหมายสรรพสามิต จำกัดการผลิต ไม่ให้ผู้ผลิตสุราแช่ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังแรงม้าสูง และผลการรณรงค์ขององค์กรที่เกี่ยวข้อง ปลูกฝังจิตสำนึกประชาชนไม่ดื่มสุรา ทำให้การผลิตสุราแช่ไทยเข้าข่ายมอมเมาประชาชน หลายปัจจัยดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการสุราแช่ที่เคยมีจำนวนหลายพันรายเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมานั้นต้องล้มเลิกกิจการในที่สุด

อย่างไรก็ตาม สุราแช่เป็นการแปรรูปผลิตผลการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น ควรได้รับการส่งเสริมและพัฒนายกระดับขีดความสามารถของผู้ผลิตสามารถแข่งขันในตลาด โดยนักวิจัยเห็นว่าควรปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์การดื่มสุราแช่ไทย ให้เป็นการดื่มเพื่อสุขภาพ เนื่องจากวัตถุดิบที่นำมาผลิตสุราแช่ มีคุณค่าทางโภชนาการ หลายชนิดมีสารแอนตีออกซิแดนต์สูง

ผศ.ดร.คณิต กล่าวต่อว่า ภายใต้โครงการสร้างสมรรถนะ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการผลิตสุราแช่ไทยเพื่อการแข่งขันในตลาด ได้จัดตั้งศูนย์วิจัยการหมักเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยรวบรวมนักวิจัยจาก 3 คณะวิชา คือ คณะเทคโนโลยี คณะวิทยาการจัดการ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ร่วมกันค้นคว้าวิจัย เพื่อยกระดับขีดความสามารถการผลิตสุราแช่ไทย โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่ ไปใช้วิจัยต่อยอดภูมิปัญญาชาวบ้าน พัฒนาขั้นตอน วิธีการ ระบบการผลิต เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ยกระดับกระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์สู่ระบบอุตสาหกรรม ตอบสนองความต้องการตลาดในอนาคต ทั้งพัฒนารูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม สะดุดตา มีความเป็นเอกลักษณ์

เบื้องต้น มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตสุราแช่ 3 ชนิดร่วมกับผู้ประกอบการ 3 รายได้แก่ ไวน์ลิ้นจี่ร่วมกับไร่คลายกังวล จ.เลย ไวน์กระชายดำร่วมกับ หจก.ชุมแพไวน์อาร์มี่ จ.ขอนแก่น และสาโท ร่วมกับ หจก.สัมฤทธิ์มั่นคง จ.นครราชสีมา

กระบวนการทำงานคณะทำงานได้รวบรวมข้อมูลจากผู้ขาย ผู้บริโภคสุราแช่แต่ละชนิด เพื่อกำหนดลักษณะผลิตภัณฑ์สุราแช่ที่ผู้บริโภคชอบและต้องการ พัฒนากระบวนการผลิต โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนมั่นใจว่าได้สุราแช่ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด ทั้งค้นคว้าทดลองให้ได้รสชาติ กลิ่น สี ฉลากและบรรจุภัณฑ์ที่ตรงใจคอสุราแช่ไทย รวมถึงการวางแผนการตลาดให้กับสุราแช่ไทยให้เข้าสู่การแข่งขันตลาดสุราไทยและต่างประเทศ

สำหรับการวิจัยไวน์กระชายดำ ที่ยังคงการผลิตและจำหน่ายในตลาดท้องถิ่นอยู่แล้ว คณะนักวิจัยพบว่ากระชายดำ มีสารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ มีสารแอนตีออกซิแดนต์สูง จึงใช้จุดขายในแง่สรรพคุณบำรุงกำลังและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพออกสู่ตลาด เช่นเดียวกับไวน์ลิ้นจี่ จะช่วยแปรรูปผลผลิตที่ล้นตลาด เป็นผลิตภัณฑ์มีมูลค่าสูงขึ้น โดยนำเปลือกลิ้นจี่ ที่มีสารแอนตีออกซิแดนต์สูงเช่นกัน มาใช้เป็นส่วนผสมในขั้นตอนการหมัก เป็นไวน์ลิ้นจี่ที่มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ

ส่วนสาโท ภายใต้ชื่อ “สาโทสยาม” สถานภาพปัจจุบันมีความเข้มแข็งทางการตลาดดีอยู่แล้ว ปัจจุบันมีช่องทางจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น ทั่วประเทศ โดยคณะนักวิจัยได้พัฒนากระบวนการหมักที่เร็วขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ทั้งพัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ ให้หลากหลายตรงกับความต้องการยิ่งขึ้น

หัวหน้าโครงการสร้างสมรรถนะ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการผลิตสุราแช่ไทย เพื่อการแข่งขันในตลาด กล่าวว่า ลู่ทางการขยายตลาดสุราแช่ไทย ยังมีศักยภาพที่สามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะ สาโทสยาม อยู่ระหว่างการส่งออกตลาดต่างประเทศ ที่ประเทศเยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ โดยชูจุดขายสาโทเมืองไทย ในลักษณะเดียวกับสาเกญี่ปุ่น

ขณะที่อีก 2 รายมีศักยภาพทำตลาดไวน์ในประเทศ โดยเฉพาะไวน์กระชายดำ ของหจก.ชุมแพไวน์อาร์มี่ น่าจะสามารถเพิ่มช่องทางการจำหน่ายไปสู่ระดับประเทศ ผ่านร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ส่วนไวน์ลิ้นจี่ ยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิต ให้พร้อมรับต่อการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมในอนาคต
ผศ.ดร.คณิต วิชิตพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายแผนและพัฒนา คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะหัวหน้าโครงการสร้างสมรรถนะเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการผลิตสุราแช่ไทยเพื่อการแข่งขันในตลาด
 สาโทสยาม อยู่ระหว่างการขยายตลาดต่างประเทศ
ไวน์กระชายดำ ที่ได้รับการพัฒนาโดยชูจุดขาย มีสารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ
ไวน์ลิ้นจี่ อยู่ระหว่างการพัฒนากระบวนการผลิตให้พร้อมรองรับต่อการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม

กำลังโหลดความคิดเห็น