อุบลราชธานี - ชาวประมงแม่น้ำโขงอุบลราชธานี หวั่นการก่อสร้างเขื่อนยักษ์ 1.2 แสนล้านบาท “เขื่อนบ้านกุ่ม” ทำลายวงจรชีวิตสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ วอนรัฐศึกษาผลกระทบสร้างแล้วคุ้มค่าจริงหรือไม่
ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดอุบลราชธานี รายงานความเคลื่อนไหวโครงการก่อสร้างไฟฟ้าพลังน้ำฝายขั้นบันไดกั้นแม่น้ำโขง หรือเขื่อนบ้านกุ่มขวางกลางแม่น้ำโขงมูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน มีการลงนามบันทึกความเข้าใจกับประเทศลาว
แต่ไม่มีความชัดเจนด้านผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำโขง มีเพียงการเปิดรายงานผลการศึกษาบางส่วน โดยอ้างจะมีพื้นที่ถูกน้ำท่วมจำนวน 16,641 ไร่ ในเขตบ้านคันท่าเกวียน และมีบ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบเพียง 29 หลังคาเรือน
จากการสอบถามนางสาคร ขันธิวัฒน์ ราษฎรบ้านเลขที่ 62 หมู่ 5 บ้านดงนา ต.หนามแท่ง อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นหมู่บ้านริมแม่น้ำโขงตั้งอยู่เหนือเขื่อนบ้านกุ่มกล่าวว่า ชาวบ้านมีอาชีพจับปลาแม่น้ำโขงเลี้ยงชีวิต โดยชาวบ้านดงนาไม่มีที่ดินใช้ปลูกข้าว จึงต้องเอาปลาแลกข้าว ทั้งปลาสดและปลาร้า หรือขายให้พ่อค้าปลาที่มารับซื้อ ปัจจุบันชาวบ้านสามารถจับปลาเศรษฐกิจคือ ปลานาง ปลาอีตู๋ วันละ 20-50 กิโลกรัม โดยปลาเหล่านี้มีราคารับซื้อสูงถึงกิโลกรัมละ 60-65 บาท ทำให้ชาวบ้านมีชีวิตอยู่ได้
นอกจากชาวบ้านมีอาชีพจับปลาแม่น้ำโขงขาย ก็ยังปลูกพืชผลทั้งข้าวโพด ฝ้าย ถั่วลิสง มัน กระเทียม เพราะดินที่หมู่บ้านมีความอุดมสมบูรณ์ไม่ต้องใส่ปุ๋ยเคมี ทำให้ชาวบ้านมีพืชผักไว้กินและขายสู่ท้องตลาดอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยอยู่ได้สบาย แต่เริ่มมีความกังวลเมื่อเจ้าหน้าที่ของโครงการสร้างเขื่อนบ้านกุ่มมาพูดคุยกับชาวบ้าน
โดยแจ้งว่ามีความจำเป็นต้องสร้างเขื่อนแห่งนี้เพื่อให้ประเทศไทยมีไฟฟ้าใช้ และถ้าการสร้างเขื่อนมีผลกระทบกับปริมาณปลาที่ชาวบ้านจับได้ พร้อมจะส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงปลาในกระชังทดแทน
นางสาคร กล่าวต่อว่า แต่ชาวบ้านไม่อยากเลี้ยงปลาในกระชัง เพราะมีค่าหัวอาหารใช้เลี้ยงปลา ซึ่งชาวบ้านต้องลงทุนสูง ไม่เหมือนการหาปลาในธรรมชาติ ที่ลงทุนเพียงน้ำมันเชื้อเพลิงใช้เติมเครื่องยนต์เรือหางยาวที่ใช้จับปลา จึงต้องการให้มีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธรรมชาติและมนุษย์ที่อยู่ตามริมแม่น้ำโขง
“มันคุ่มค่ากับสิ่งที่ต้องเสียไปหรือไม่” นางสาครกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า เมื่อสัปดาห์ก่อนก็มีความเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาชน อาทิ กลุ่มสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ มูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต สภาทนายความ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายอำเภอโขงเจียม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล โดยเปิดเป็นเวทีสาธารณะรับฟังปัญหาจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างฝายบ้านกุ่ม
โดยผู้ร่วมชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ให้ประชาชนทราบ ก่อนตัดสินใจสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม เพื่อไม่ให้มีปัญหาเหมือนการสร้างเขื่อนปากมูลที่ส่งผลกระทบต่อวิถีคนลุ่มน้ำมูลมาจนถึงทุกวันนี้