ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – เลาะถนน R3a เปิด Land Link สปป.ลาว เขตเศรษฐกิจใหม่ที่อยู่กลาง “ทะเลคน” ที่พร้อมเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคกว่า 200 ล้านคน พร้อมสิทธิพิเศษทางการค้าจาก 48 ประเทศทั่วโลก วันนี้ยังเต็มไปด้วยทุนจีน เวียดนาม เกาหลี ที่ต่างพาเหรดเข้ายึดพื้นที่จุดยุทธศาสตร์ต่อเนื่อง ลุยลงทุนทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ-เกษตรกรรม-ท่องเที่ยวและบริการ ตั้งแต่หัวยันท้ายถนน
ขณะที่ กรมเจรจาการค้า กระทรวงพาณิชย์ คณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ (คสศ.)นำตัวแทนองค์กรธุรกิจเอกชนกว่า 100 ราย ทั้งกลุ่มทุนขนส่งในเครือข่ายสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย (สขบท.) ผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงแรม เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ศึกษาดูงาน และหารือจับคู่ธุรกิจ เรื่อง “การพัฒนาความร่วมมือระหว่างไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว ) ด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การขนส่ง และลอจิสติกส์ บนเส้นทาง R3a หรือ R3e” ระหว่างวันที่ 15-18 พฤษภาคม 2551
ทั้งนี้ เพื่อกรุยทางให้นักลงทุนไทยเข้าลงทุนตามแนวถนน R3a ที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว รอเชื่อมต่อกับสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อมปลายทางถนนที่บ้านดอนขี้นก เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว เข้ากับ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ของไทย ส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ สปป.ลาว จาก Land Lock เป็น Land Link นั้น
พบว่า ตลอดแนวเส้นทาง 247 กม. ที่เป็นเหมือนจุดเชื่อมทางบกระหว่างไทย เข้ากับซูเปอร์ไฮเวย์ของ จีน (โม่หาน เมืองลา เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา-นครคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน สาธารณรัฐประชาชนจีน ล้วนมีกลุ่มทุนต่างประเทศเข้าจับจองพื้นที่ลงทุนตลอดแนว
นายเฉลิมพล พงศ์ฉบับนภา อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์ สปป.ลาว ระบุว่า หลังจาก R3a และถนนหมายเลข 9 (ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ; East –West Economic Corridor) เสร็จ ทำให้ สปป.ลาว กลายเป็นสะพานเชื่อมโยงอินโดจีน (Land Bridge) เต็มรูปแบบ ทำให้ลาวตกอยู่ท่ามกลางประเทศเศรษฐกิจดาวรุ่ง คือ เหนือ ติด จีน มีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน เฉพาะหยุนหนัน มากกว่า 43 ล้านคน, ตะวันตก ติดไทย ประชากร 65 ล้านคน, ตะวันออก ติดเวียดนาม ประชากร 83 ล้านคน, ตอนใต้ติดกัมพูชา ประชากร 13 ล้านคน เฉพาะตามแนวตะเข็บชายแดนของลาว ก็มีตลาดผู้บริโภคไม่ต่ำกว่า 200 ล้านคน
“กล่าวได้ว่า วันนี้ลาวอยู่ท่ามกลางทะเลคน รอบด้านล้วนเป็นประเทศที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ภายในประเทศมีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมหาศาล”
นอกจากนี้ สปป.ลาว ยังเป็นประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมด 48 ประเทศ เป็น GSP 35 ประเทศ, สิทธิพิเศษทางการค้าแบบให้เฉพาะ ผ่านกรอบข้อตกลงต่าง ๆ เช่น AFTA ที่ให้แก่สมาชิกอาเซียน-สมาชิกอาเซียนเก่าให้แก่สมาชิกอาเซียนใหม่ (AISP) ที่ไทยให้ จำนวน 301 รายการ อัตราภาษี 0-5% ระยะเวลา 3 ปี , ไทยให้แก่ สปป.ลาว ในกรอบ ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ระหว่างกัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม (ACMECS )ภาษี 0%จำนวน 11 รายการ รวมถึงในกรอบ ASEAN-CHINA 202 รายการ และในกรอบ Early Harvest Program ตลอดจนกรอบ 2 ฝ่าย ลาว-เวียดนาม / ลาว-จีน ที่ล้วนเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนใน สปป.ลาวทั้งสิ้น
ส่วนแง่การท่องเที่ยว ยังสามารถอาศัยความเป็นแลนด์ลิงก์ ของ สปป.ลาว เชื่อมโยงการท่องเที่ยวในกลุ่มที่มีมิติทางด้านภาษา-วัฒนธรรมเดียวกัน อันมีลักษณะทางสังคมเครือญาติ ระหว่างไทย-สปป.ลาว-เชียงรุ่ง หรือสิบสองปันนา ของจีน-รัฐฉาน ประเทศพม่า และไทยอาหม ในอินเดีย ได้อีกด้วย
“แต่ประเด็นสำคัญสำหรับไทยในวันนี้ก็คือ ไทยไม่ได้เป็นคู่ค้าสำคัญเพียงรายเดียวของ สปป.ลาว เหมือนในอดีตอีกต่อไป เพราะจีน-เวียดนาม กำลังโหมเข้าลงทุนใน สปป.ลาว อย่างต่อเนื่อง”
ในปี 2550 การลงทุนใน สปป.ลาว ที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากกรมส่งเสริม และคุ้มครองการลงทุนภายในและต่างประเทศ สปป.ลาว มีทั้งสิ้น 191 โครงการ 1,136.91 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนของทุนจีนมากที่สุดถึง 47 โครงการ มูลค่า 496.06 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือเวียดนาม จำนวน 35 โครงการ มูลค่าการลงทุน 155.93 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ไทย อยู่อันดับ 3 จำนวน 31 โครงการ มูลค่าลงทุน 92.72 ล้านเหรียญสหรัฐ อันดับ 4 เป็นเกาหลี จำนวน 24 โครงการ มูลค่าลงทุน 82.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อันดับ 5 เป็นมาเลเซีย จำนวน 3 โครงการ มูลค่า 53.21 ล้านเหรียญสหรัฐ
นายติงลี เยยเชง รองประธานสภาการค้า และอุตสาหกรรม แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว ผู้อำนวยการบริษัท หุ้นส่วนการค้าพัฒนาขาออก-ขาเข้า จำกัด กล่าวว่า ถ้าดูโครงการลงทุนขนาดใหญ่จากนักลงทุนต่างประเทศตามแนวถนน R3a สายนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนจีน-เกาหลีทั้งสิ้น โดยล่าสุดก็มีกลุ่มทุนเกาหลี จับมือกับ จีน ยื่นขออนุมัติพัฒนาเขตปลอดภาษี-คลังสินค้า บริเวณติดกับจุดก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 บ้านดอนขี้นก แขวงบ่อแก้ว เนื้อที่กว่า 10 เฮกตาร์ รองรับสะพานฯ
หลังจากที่ก่อนหน้านี้กลุ่มทุน จีน ได้รับส่งเสริมการลงทุนในโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยวครบวงจรอาเซียน สามเหลี่ยมทองคำ ในนามบริษัท ดอกงิ้วคำ กรุ๊ป จำกัด มูลค่าการลงทุน 86 ล้านเหรียญสหรัฐ (จีน 69.28 ล้านเหรียญสหรัฐ, สปป.ลาว 17.32 ล้านเหรียญสหรัฐ) และจะเพิ่มทุนอีกในปีต่อๆ ไป
ดร.เพ็งทาวัน ดาวพรเจริญ หัวหน้าคณะกรรมการประสานงานด้านการค้า การลงทุน แขวงหลวงน้ำทา กล่าวว่า เฉพาะแขวงหลวงน้ำทา ในปี 2007 มีการลงทุนทั้งใน-ต่างประเทศ มูลค่าทั้งสิ้น 90 กว่าล้านเหรียญสหรัฐเป็นการลงทุนจากต่างประเทศ 22 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในกลุ่มทุนจากต่างประเทศนี้ เป็นทุนจาก จีน มากกว่า 70% ที่เหลือเป็นไทย กับเวียดนาม
โดยเฉพาะ จีน มีทั้งการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็น (ชายแดนลาว-จีน)ในนามบริษัทบ่อเต็น แดนคำ จำกัด ที่เช่าพื้นที่จาก สปป.ลาว เนื้อที่ 1,640 เฮกตาร์ ระยะเวลา 30 ปี ต่ออายุได้อีก 2 ครั้งๆละ 30 ปี มูลค่าการลงทุนนับหมื่นล้านบาท (จะมีการโยกย้ายชาวจีนเข้ามาในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 30,000 คน), โครงการลงทุนปลูกยางพารา/ข้าวสาลี เลียบตามเส้นทาง R3a รวมเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 6,000-7,000 เฮกตาร์ ตลอดจนการค้า-บริการ ที่ล่าสุดมีนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนก่อสร้างโรงแรมระดับ 3 ดาว ในหลวงน้ำทาแล้ว รายแรกกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง อีกรายกำลังยื่นเรื่องขออนุมัติ รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่ส่วนใหญ่จะนำเข้าจาก จีนเป็นหลัก
ทั้งนี้ ไม่รวมธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ธุรกิจบริการอื่น ๆ ก็มีนักลงทุนจาก จีน เข้ามาลงทุนในหลวงน้ำทามากขึ้นเรื่อยๆ เช่น คลังสินค้า-จุดพักรถขนส่งสินค้า บริเวณติดกับเมืองใหม่บ่อเต็น ที่นักลงทุนจีนเข้ามาดำเนินการในนามบริษัท ขนส่ง จำกัด แห่งประเทศลาว, ศูนย์กระจายสินค้าด้านเหนือเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็น ฯลฯ
ส่วนของนักลงทุนไทย ที่ปรากฏเป็นรูปธรรม ขณะนี้ดูเหมือนจะมีเพียงร้านอาหาร-ห้องพัก “เฮือนลาว” ของนักธุรกิจท้องถิ่นเชียงราย บริษัทขุดค้นถ่านหินเวียงภูคา จำกัด (ร่วมทุนไทย-ลาว), กลุ่มซีพี เมล็ดพันธุ์ ที่กำลังขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพด-ข้าวสาลี ในระบบคอนแทร็กฟาร์มมิง เข้ามาในแขวงบ่อแก้ว-หลวงน้ำทา ในพื้นที่ 5 เมืองทุกข์ยาก (จากทั้งหมด 8 แขวงของ สปป.ลาว) กลุ่มบ้านปู ที่กำลังเริ่มเดินเครื่องโรงงานผลิตไฟฟ้าหงษา เป็นต้น
เมื่อดูภาพรวมการลงทุนของไทยใน สปป.ลาว แล้ว แม้ว่าจะมียอดรวมมากถึง 40% ของการลงทุนจากต่างประเทศ ที่เหลือเป็นชาวจีน เวียดนาม มาเลเซียและประเทศอื่นๆ ก็ตาม แต่การเข้าไปลงทุนของนักธุรกิจไทย ส่วนใหญ่มุ่งเน้นการลงทุนด้านสินค้าเกษตรเป็นหลัก ซึ่งเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างแตกต่างไปจากชาวจีนและเวียดนาม ที่มีความชำนาญเรื่องเทคโนโลยีขุดเจาะทรัพยากรแร่ธาตุต่างๆ
ขณะที่นักลงทุนจีน มุ่งลงทุนในทรัพยากรที่มีมูลค่าสูง เช่น การขุดเจาะแร่ธาตุต่างๆ เช่น เหล็ก ถ่านหิน แบไรต์ ทองคำ เป็นต้น ทั้งๆ ที่ความจริงไทยก็มีความชำนาญเรื่องการขุดเจาะแร่ธาตุไม่น้อย แต่กลับไม่เข้าไปลงทุนทำให้สูญเสียโอกาสอย่างน่าเสียดาย