xs
xsm
sm
md
lg

ทุนLogisticไทยรุกR3-ลุยหาคู่เปิดDC ดันHUBจีน-อาเซียน/ซีพีมุ่งเข้า 2 แขวงลาวเหนือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สะพานข้ามแม่น้ำโขง ที่มีการปรับรูปแบบเพิ่มทางรถไฟ
เชียงราย – ทุนไทยแห่หาช่องลงทุนตามแนวถนน R3a เผยกลุ่มLogistic เล็งเปิด DC-ขนส่งสินค้า ขณะที่ ซีพี ขยายพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรภายใต้ระบบคอนแทร็กฟาร์มมิ่งเข้าหลวงน้ำทา-บ่อแก้ว ด้าน “บ้านปู” ทุ่ม 2 พันล้านดอลลาร์ ผลิตไฟฟ้าจากลิกไนต์ คาดเริ่มเดินเครื่องผลิตได้กลางปีนี้ ตัวแทนรัฐ/เอกชน เชื่อมั่นR3a-สะพานข้ามน้ำโขงแห่งที่ 4 เสร็จดันหลวงน้ำทา/เชียงราย เป็น HUB ให้จีน-อาเซียนแน่

ในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการศึกษาดูงาน และหารือจับคู่ธุรกิจ ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย และแขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว ระหว่าง 13-18 พฤษภาคม 2551 ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ หอการค้า จ.เชียงราย ร่วมกันจัดขึ้นนั้น ในวันแรกมีนักธุรกิจเข้าร่วมสัมมนากว่า 100 คน มีนายชนะ นาคสุริยะ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิด และท่านคำพอน ชัยคำพิสูน รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) นายนพดล สระวาสี รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เข้าร่วม

ภายในงานสัมมนามีการจัดปาฐกถาพิเศษ การอภิปราย การแบ่งกลุ่มเพื่อการลงทุนใน สปป.ลาว ทั้งด้านลอจิสติกส์ เกษตรและการค้าชายแดน ก่อนที่คณะจะเดินทางไปศึกษาดูงานที่แขวงบ่อแก้ว และแขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว ระยะทาง 196 กิโลเมตร(กม.) บนถนน R3a ส่วนหนึ่งของเส้นทาง "คุน-มั่งกงลู่"

ท่านคำพอน กล่าวว่า ปัจจุบันถนน R3a ได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการแล้วโดยผู้นำของแต่ละประเทศร่วมกันเปิดที่นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว ไปเมื่อเร็วๆ นี้ สำหรับรายละเอียดการใช้ถนนสายนี้คงต้องศึกษาและพิจารณาโดยหารือกับแต่ละแขวงอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามพบว่าก่อนการเปิดใช้ถนนก็มีกลุ่มทุนไทยเข้าไปลงทุนกันแล้วหลายราย โดยเฉพาะเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี ที่เข้าไปลงทุนด้านการเกษตร คอนแทร็กฟาร์มมิ่ง ฯลฯ พื้นที่ลาวตอนเหนืออย่างคึกคัก รวมทั้งบริษัทบ้านปู จำกัด ที่เข้าไปลงทุนด้านกิจการพลังงานถ่านหินลิกไนต์ ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะมีการลงทุนกันมากขึ้นต่อไปโดยเฉพาะหลังจากสะพานข้ามแม่น้ำโขงสร้างแล้วเสร็จในปี 2554 ซึ่งเบื้องต้นได้มีการตกลงระหว่างไทย-สปป.ลาว-จีน เสร็จเรียบร้อยแล้ว

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับบริษัทบ้านปู จำกัด ของไทยได้เข้าไปลงทุนที่เหมืองแร่หงสา-ลิกไนต์ เมืองหงสา แขวงไชยบุรี สปป.ลาว เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 72,000 ล้านบาทโดยร่วมทุนกับกลุ่มทุนของ สปป.ลาว คาดว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านเมกะวัตต์ และจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตทุกปี โดยจะเริ่มเปิดดำเนินการได้กลางปี 2551 นี้เป็นต้นไป

ขณะที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ถนน R3a ถือเป็นถนนเชื่อมเหนือ-ใต้ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเชียงราย เป็นประตูของประเทศไทย สามารถเชื่อมตั้งแต่ประเทศจีนลงไปถึงสิงคโปร์ และเส้นทางสำคัญคือผ่าน สปป.ลาว ดังนั้น วิธีการที่จะทำให้เกิดความร่วมมือใน สปป.ลาว ที่สำคัญที่สุดคือเราต้องให้การสนับสนุน สปป.ลาว และหาวิธีการให้ สปป.ลาว ได้รับประโยชน์ร่วมกันให้มากที่สุด โดยเฉพาะประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวไปเยือนปีละกว่า 14 ล้านคนและมาเยือนเชียงรายประมาณ 1 ล้านคน จึงควรส่งเสริมให้เข้าไปใน สปป.ลาว ด้วย

"ในอดีตลาวเป็นแลนด์ล็อกแต่ปัจจุบันกลายเป็นแลนด์ลิงก์ไปแล้ว โดยมีความสำคัญในการคมนาคม การค้าการลงทุน ดังนั้นการทำแผนร่วมกันระหว่างไทย-ลาว เพื่อพัฒนาการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวร่วมกันจึงมีความสำคัญมาก ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งไทยและ สปป.ลาว ได้มาร่วมกัน"

นายชนะ กล่าวว่า ใน ค.ศ.2015 หรือ พ.ศ.2558 หรือ 7 ปี ข้างหน้าจะมีการรวมตัวของประเทศในอาเซียน 9 ประเทศ เป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ซึ่งทำให้มีภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก สำหรับจังหวัดเชียงราย ซึ่งด้านเหนือติดสหภาพพม่า และมีแม่น้ำโขงเชื่อมผ่าน ส่วนด้านตะวันออกติด สปป.ลาว ทำให้เป็นชายแดนสามประเทศ ทั้งยังเชื่อมต่อไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ระยะทางราว 300 กม.เท่านั้น มีเส้นทางถนนสาย R3a เชื่อมต่อ จีน-สปป.ลาว สู่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย และ ถนนสาย R3b เชื่อม จีน-พม่า สู่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย

ฝ่ายไทยควรเข้าไปร่วมมือกับ ส.ปป.ลาว ในการพัฒนาการค้า การท่องเที่ยว ตามถนน R3a ซึ่งยังมีพื้นที่ที่รอการพัฒนาอีกหลายด้าน และในส่วนสินค้า โอทอป ก็น่าจะร่วมกันส่งเสริมให้จริงจัง เชื่อว่า ไทยและ สปป.ลาว จะได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างมาก

นายชวลิต ตั้งอริยกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ที่ได้เดินทางไปมอบพันธุ์ปลาให้กับแขวงบ่อแก้ว เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กล่าวว่า เครือซีพี มีแผนที่จะเข้ามาส่งเสริมการเพาะปลูกพืช โดยเฉพาะข้าวโพด – สาลี ในพื้นที่ 8 แขวงของ สปป.ลาว รวมถึงแขวงบ่อแก้ว 2 เมือง แขวงหลวงน้ำทา 3 เมือง ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างทำเรื่องขอข้อมูลจากทางการ สปป.ลาวอยู่ โดยจะเป็นการลงทุนในลักษณะคอนแทรกฟาร์มมิ่ง ส่งเสริมให้เกษตรกรลาวปลูก ซีพีรับประกันราคาให้ เช่นเดียวกับที่เคยทำในแขวงอื่น ๆ เช่น ไชยบุรี ที่ทำให้เกษตรกรลาว ขายผลผลิตข้าวโพดได้ในราคาสูงถึง 6.50 บาท/กก.จากเดิมที่ขายได้ 4.50 บาท/กก. และเชื่อว่าอนาคตข้าวโพดจะมีราคาสูงถึง 10 บาท ซึ่งจะทำให้ผลผลิตของลาวขายได้ไม่น้อยกว่า 7 -8 บาท/กก. เพราะเป็นพืชพลังงานไปแล้ว

“การลงทุนในลาวบริษัทจะไม่ยึดผลประโยชน์เป็นที่ตั้ง แต่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนลาวให้ดีขึ้น และเชื่อมั่นว่า ถ้าหากรัฐบาลไทยสนับสนุนเต็มที่ การลงทุนตามแนวถนน R3a หรือในทางสากลเรียกเป็น R3e จะประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมแน่นอน”

ด้านนายวิเชียร กาญจนวิไล กรรมการบริหารบริษัทThai Logistics Alliance Co.,Ltd. หรือทีแอลเอ กล่าวว่าด้วยการสนับสนุนจากกระทรวงพาณิชย์ทำให้ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับลอจิสติกส์กว่า 45 คน ได้ประชุมหารือกันหลายครั้งเพื่อรวบรวมกลุ่มเอกชนคลัสเตอร์ต่างๆ ให้มาทำธุรกิจร่วมกันอย่างมั่นคงและสามารถช่วยเหลือกันได้ทุกด้าน โดยที่ผ่านมามีเอกชนขนาดกลางและเล็กประชุมกันแล้วถึง 8 ครั้ง ล่าสุดจึงร่วมทุนกันเป็นทีแอลเอดังกล่าวนับรวมจำนวนเอกชนได้ 31 บริษัท ซึ่งถือว่ามีความพร้อมในการลงทุนทั้งในและระหว่างประเทศเพราะมีทุกคลัสเตอร์รวมกันทั้งภาคการขนส่ง การผลิต คลังสินค้า ฯลฯ

นายวิเชียร กล่าวว่า การสัมมนาและศึกษาดูงานใน สปป.ลาว ตามถนน R3a ครั้งนี้บริษัทจึงมีความสนใจจะเข้าไปลงทุน และได้ศึกษาแล้วพบว่าอิทธิพลด้านการลงทุนของประเทศจีนตามเส้นทางนี้มีอยู่สูงมาก การร่วมทุนกันดังกล่าวจึงคิดว่าจะเหมาะสมในการเข้าไปแข่งขันกับกลุ่มทุนใหญ่ๆ ของจีน ซึ่งดีกว่าการปล่อยให้เอกชนแต่ละรายเข้าไปลงทุนเองซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่า เบื้องต้นได้ตั้งเป้าหมายครั้งนี้ว่าจะเข้าไปประกอบการขนส่งและหาพันธมิตร โดยสนใจจะเข้าไปประกอบกิจการขนส่งสินค้าและสร้างศูนย์กระจายสินค้าหรือDC ใน สปป.ลาว จากนั้นจะหาพันธมิตรทางธุรกิจ 3 ฝ่าย คือไทย-สปป.ลาว และจีนตอนใต้ เพื่อให้สามารถประกอบการได้ในเร็วๆ นี้ จึงขอให้รัฐบาลเจรจาเปิดทางให้เอกชนไทยเข้าไปลงทุนได้สะดวกด้วย

ด้านนายสมชาย ทองคำคูณ รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย ฝ่ายพัฒนาระบบลอจิสติกส์ และกรรมการผู้จัดการบริษัทไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด กล่าวว่าบริษัทก็รอจะเข้าไปลงทุนในถนนR3 a เช่นกัน เพราะบนถนนสายนี้ยังไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่คึกคักมากพอ มีเพียงการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกของจีนทางชายแดน สปป.ลาว-จีน เท่านั้น ส่วนรถโดยสารประจำทางส่วนใหญ่เป็นรถตู้หรือขนาด 6-7 เมตร ขณะที่บริษัทของเรามีรถโดยสารขนาดใหญ่สามารถให้บริการได้ ซึ่งเราคาดหวังว่ารัฐบาลไทยจะดำเนินการเหมือนกรณีชายแดนด้าน จ.มุกดาหาร-สปป.ลาว-เวียดนาม ซึ่งได้มีการเจรจากับรัฐบาล สปป.ลาว จนถึงขั้นให้สัมปทานเดินรถโดยสารกับบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) มาแล้ว

“สำหรับครั้งนี้คงเข้าไปศึกษาข้อมูล เช่น ระเบียบการเข้าออกเมือง ระเบียบการใช้ถนน การเดินรถที่แตกต่างกัน หาพันธมิตรเพื่อลงทุนร่วมกัน เป็นต้น”

ปรับแบบสะพานข้ามโขง-เพิ่มทางรถไฟ

ขณะที่นายสงวน ซ้อนกลิ่นสกุล รองเลขาธิการหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่าเมื่อเร็วๆ นี้กรมทางหลวงได้จัดประชุมเชิงวิชาการการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง ระหว่างห้วยทราย-อ.เชียงของ ที่โรงแรมริเวอร์ไซด์ อ.เชียงของ เพื่อนำเสนอ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทำให้ได้ทราบข้อมูลว่าสะพานเริ่มต้นจากถนนหมายเลข 1020 (เชียงราย-เชียงของ) หมู่บ้านดอนมหาวัน ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ โดยอยู่ห่างจากแม่น้ำโขง 5 กิโลเมตร โดยมีถนนต่อไปยังตัวสะพาน โดยกรมทางหลวงได้กันที่ดินกว้าง 80 เมตร เอาไว้ตลอดแนว

สำหรับสะพานออกแบบให้มีเสาตอม่อกลางแม่น้ำโขง 4 ต้น แต่ละต้นห่างกัน 110 เมตร ผิวจราจรของสะพานมี 4 ช่องจราจรๆ ละ 7 เมตร มีไหล่ทางข้างละ 2.50 เมตร และมีเกาะกลางถนนกว้าง 4.20 เมตร ซึ่งจะใช้ในการเชื่อมต่อของระบบรางรถไฟในอนาคต บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง มีการกันที่ดินเอาไว้สำหรับสร้างอาคารด่านพรมแดน ด่านศุลกากร ฯลฯ กว้าง 300 เมตร ยาว 1 กิโลเมตร ซึ่งกรมศุลกากรมีแผนจะก่อสร้างด่านศุลกากร และศูนย์สนับสนุนระบบลอจิสติกส์ขนาดใหญ่เอาไว้แล้วด้วย ด้านงบประมาณคณะรัฐมนตรีของไทยได้ตกลงกับจีนและสปป.ลาว ไว้ที่ประมาณ 31 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยไทยและจีนตกลงจะช่วยกันเสียค่าใช้จ่ายฝ่ายละ 50% เริ่มก่อสร้างในปี 2552 แล้วเสร็จในปี 2554

ด้านนายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธาน คสศ.10 จังหวัดภาคเหนือ และประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่าแบบแปลนของสะพานข้ามแม่น้ำโขงจะสังเกตเห็นว่าผิวจราจรกว้างข้างละ 7 เมตร แต่ตรงเกาะกลางมีความกว้างกว่า 4.20 เมตร ซึ่งมีไว้สำหรับรองรับระบบขนส่งทางรางหรือรถไฟ ดังนั้นการผลักดันให้มีศูนย์กระจายสินค้าใน จ.เชียงราย จึงมีความเหมาะสมเพื่อจะได้ใช้เป็นสถานีขนถ่ายสินค้าและสับเปลี่ยนรางรถไฟ เพราะถ้าเราสร้างในพื้นที่ช้าก็อาจจะมีการลงทุนใน สปป.ลาว ก่อนได้

นายนพดล สระวาสี รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการจับคู่ธุรกิจไทย- ลาว ครั้งนี้ เขาหวังว่าจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยมีพันธมิตรธุรกิจใน สปป.ลาว มากขึ้น เพื่อช่วยพัฒนาการค้า การลงทุนตามแนวถนนสายเศรษฐกิจแห่งนี้ ซึ่งเชื่อมั่นว่า จะทำให้การค้า การลงทุนขยายตัวอย่างมาก หลังจากที่มีการเปิดใช้เส้นทางเต็มระบบ
นายนพดล สระวาสี รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (ที่ 2 จากซ้าย) ขณะเดินทางไปดูจุดก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 บริเวณบ้านดอนขี้นก เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว
ชวลิต ตั้งอริยกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น