xs
xsm
sm
md
lg

“สำนักศิลปากร 12” โคราชสั่งเพิ่มกำลังคุมเข้ม“พนมรุ้ง”-โบราณสถานอีสานใต้ทุกแห่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา สั่งเพิ่มมาตรการป้องกันรักษาความปลอดภัยปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์และโบราณสถาน โบราณวัตถุอีสานใต้ทุกแห่ง หวั่นเกิดเหตุพนมรุ้ง วันนี้ ( 20 พ.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ผอ.สำนักศิลปากรที่ 12 โคราช สั่งเพิ่มมาตรการป้องกันรักษาความปลอดภัยปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ และเสริมกำลังรปภ.ทุกจุด พร้อมจัดขรก.นอนเฝ้าทุกคืนระบุโดยรวมเสียหายไม่มากส่วนใหญ่เป็นรูปปั้นจำลอง พร้อมกำชับพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานล่างคุมเข้มในการดูแลโบราณสถาน โบราณวัตถุไม่ให้ซ้ำรอย “พนมรุ้ง”

ช่วงค่ำวันนี้ ( 20 พ.ค.) นายศักดิ์ชัย พจน์นันท์มาณิชย์ ผู้อำนวยการ สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา ซึ่งดูแลรับผิดชอบในพื้นที่ จ.นครราชสีมา, บุรีรัมย์ ,ชัยภูมิ และ สุรินทร์ กล่าวถึงกรณีปราสาทพนมรุ้ง ภายในอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ถูกกลุ่มคนร้ายเข้าไปทุบทำลายได้รับความเสียหายหลายจุด ว่า จากรายงานเบื้องต้นของหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง โดยภาพรวมแล้วไม่ได้รับความเสียหายมากนัก ส่วนใหญ่การถูกทำลายเป็นรอยกะเทาะ บิ่น และแตกหักเล็กน้อย เช่น ปทุมปากพญานาค บริเวณสะพานนาคราช ทางขึ้นปราสาท , แขนทั้ง 2 ข้างของทวารบาลเฝ้าประตูด้านทิศใต้ปราสาทซึ่งเป็นองค์จำลองหักเสียหาย

ส่วนศิวลึงค์ภายในห้องกลางปราสาทประธานถูกย้ายออกจากจุดเดิมไปเพียงเล็กน้อย ซึ่งศิวลึงค์ดังกล่าวเป็นศิวลึงค์จำลองมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก การเคลื่อนย้ายต้องใช้คนไม่ต่ำกว่า 3-4 คน

นายศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ได้รายงานให้ทางอธิบดีกรมศิลปากรทราบเบื้องต้นแล้ว และได้สั่งกำชับให้เพิ่มมาตรการป้องกันรักษาความปลอดภัยบริเวณปราสาทพนมรุ้งให้แน่นหนามากขึ้น เนื่องจากอุทยานฯ ดังกล่าวมีพื้นที่กว้าง และมีทางขึ้นไปยังปราสาทได้หลายเส้นทาง

“จากเดิมทางอุทยานฯ จัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำอยู่ 3 จุด บริเวณด้านหน้าประตูทางขึ้น , ด้านหลัง และ รอบบริเวณปราสาท จากนี้ไปจะต้องเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและให้เดินตรวจรอบอุทยานฯ ถี่ขึ้น และจัดให้มีข้าราชการมาเฝ้าเวรยามในตอนกลางคืนทุกคืนเพื่อป้องกันไม่ให้คนร้ายขึ้นมาทำลายโบราณสถาน หรือขโมยโบราณวัตถุต่างๆ ซึ่งเป็นมรดกล้ำค่าของประเทศชาติได้อีก” นายศักดิ์ชัย กล่าว

นายศักดิ์ชัย กล่าวอีกว่า สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับปราสาทพนมรุ้งครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการทำลายโบราณวัตถุ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นความคึกคะนองหรือแกล้งทำมากกว่า แต่ทั้งนี้จะต้องรอการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกครั้งหนึ่งจึงจะสามารถสรุปสาเหตุที่แท้จริงได้ ส่วนตนจะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบความเสียหายอย่างละเอียดภายในสัปดาห์หน้านี้เนื่องจากเรามีเจ้าหน้าที่และหัวหน้าอทุยานฯ ดูแลโดยตรงอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่รับผิดชอบทั้ง 4 จังหวัด ซึ่งมีอุทยานประวัติศาสตร์อยู่ 2 แห่ง คือ อุทยานฯ พิมาย จ.นครราชสีมา และอุทยานฯ พนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ , พิพิธภัณฑ์ 3 แห่ง รวมถึงหอสมุดแห่งชาติ ปราสาทหินและโบราณสถานโบราณวัตถุอีกจำนวนมากนั้น ได้สั่งการให้แต่ละพื้นที่เพิ่มความเข้มงวดในการดูแลโบราณสถานโบราณวัตถุเพื่อไม่ให้บุคคลที่ไม่หวังดีขึ้นไปทำลายหรือขโมยโบราณวัตถุออกมาได้
กำลังโหลดความคิดเห็น