ศูนย์ข่าวศรีราชา – สถาบันวิทย์ ม.บูรพา แจงอย่าตื่นตูมแมงกะพรุนเกยหาดเป็นเรื่องธรรมชาติ ชี้นักท่องเที่ยวช่วงนี้ควรหลีกเลี่ยงการเล่นน้ำทะเล
ดร.เสาวภา สวัสดิ์พีระ รองผู้อำนวยการ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี เผยว่า จากกรณีที่บริเวณชายหาดบางแสนในช่วงนี้มีแมงกะพรุนขึ้นเกยตื้นบนชายหาดจำนวนมากนั้น และมีนักท่องเที่ยวไปสัมผัสจนเกิดอันตราย ทำให้ทางเทศบาลเมืองแสนสุข ออกประกาศเตือนนักท่องเที่ยวบริเวณชายหาดบางแสน ให้ระวังแมงกะพรุนเกยตื้น เพราะอาจทำให้ นักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บได้
สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ม.บูรพาจึงลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า แมงกะพรุนที่เกยตื้นทั่วหาด เป็นปรากฏการณ์ปกติซึ่งเกิดขึ้นทุกปีในช่วงฤดูมรสุม ไม่ได้เกิดจากน้ำทะเลเน่าเสีย หรือขาดความอุดมสมบูรณ์แต่อย่างใด
แมงกะพรุนพวกนี้ส่วนใหญ่จะอาศัยกระแสน้ำพัดพา ล่องลอยไปตามพื้นที่ต่าง ๆ เมื่อเกิดพายุ คลื่นลมแรง แมงกะพรุนก็จะถูกพัดพาไปตามกระแสน้ำและคลื่นลม จึงทำให้บริเวณชายฝั่งหลังจากมีพายุฝนมีแมงกะพรุนลอยอยู่เป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม สถาบันวิทยาศาสตร์ฯ ได้ลงสำรวจพื้นที่แล้ว ในช่วงเช้าของวันนี้ (14 พ.ค.) พบว่า ในระยะทาง 100 เมตร มีแมงกะพรุนขึ้นมาเกยตื้นประมาณ 50-60 ตัว แมงกะพรุนส่วนใหญ่ที่พบจะมีลักษณะสีขาวใส ขนาดเท่าถ้วยแกง และบางตัวก็มีสีแดง ซึ่งเป็นแมงกะพรุนไฟ ทั้งนี้นักท่องเที่ยวต้องระมัดระวังอย่างมากในการลงเล่นน้ำ เพราะหากสัมผัสแมงกะพรุนโดยตรง อาจทำให้เกิดอาการแพ้ ปวดแสบ ร้อน คัน และอาจรุนแรงถึงขั้นเกิดเป็นอาการเรื้อรังได้
ดร.เสาวภา กล่าวต่อว่า วิธีการแก้พิษแมงกะพรุนสามารถทำได้ โดยรีบขึ้นจากน้ำทะเลทันที หากมีหนวดของแมงกะพรุนขาดติดอยู่ควรคีบออกให้หมด และล้างด้วยน้ำสะอาด แต่ไม่ควรขัดถู เพราะจะทำให้เซลล์พิษยิ่งแตกและแพร่กระจากมากขึ้น
หลังจากนั้นให้ใช้ผักบุ้งทะเล ตำผสมกับเหล้าขาว ทาที่แผล หรืออาจแช่บาดแผลด้วยน้ำส้มสายชูแบบอ่อน ประมาณ 30 นาที และล้างออก หลังจากนั้นใช้น้ำแข็งหรือน้ำอุ่นประคบ ขอให้นักท่องเที่ยวอย่าตื่นตระหนก เพราะเป็นการดำรงชีวิตตามธรรมชาติของแมงกะพรุน หากเป็นไปได้หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำทะเลในช่วงมรสุมจะดีกว่าเพื่อความปลอดภัย