ศูนย์ข่าวศรีราชา - นักวิชาการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ม.บูรพา ชี้ วาฬยักษ์ 4 ตัว โผล่อ่าวบางแสน เนื่องจากมีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ ส่วนมีประชาชนหวั่นเกรงภัยอันตรายทางทะเลนั้น ไม่ควรวิตกกังวลแต่ก็ให้เตรียมพร้อมไว้
จากกรณีปรากฏการณ์มีวาฬยักษ์ 4 ตัว ว่ายเข้ามาบริเวณชายหาดบางแสน สร้างความแปลกใจต่อนักท่องเที่ยว และผู้พบเห็นเป็นจำนวนมาก ล่าสุด นักวิชาการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี ได้ออกมาชี้แจง และติดตามความเคลื่อนไหวของวาฬฝูงนี้ เพื่อทำการศึกษาความเป็นมาต่อไป
ดร.สุพรรณี ลีโทชวลิต หัวหน้าฝ่ายสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี กล่าวถึงกรณีวาฬ 4 ตัว โผล่บริเวณอ่าวบางแสนนั้น คาดว่า น่าจะเป็นปลาที่อพยพมาจากจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม หรือจังหวัดเพชรบุรี เพราะเมื่อช่วงปี 2548ได้มีผู้พบเห็นวาฬบริเวณดังกล่าวจำนวน 3 ตัว แต่ขณะนี้มาพบเป็น 4 ตัว ซึ่งคาดว่าอาจจะเป็นกลุ่มพ่อ-แม่-ลูก ที่เกิดเพิ่มอีก 1 ตัวก็เป็นไปได้
ในช่วง 1-2 วัน ที่ผ่านมา มีกระแสคลื่นลมแรง และนอกจากนั้น ที่บริเวณปากอ่าวมีน้ำขุ่น ซึ่งอาจทำให้ถูกกระแสลมพัดเข้ามา หรือว่ายน้ำหลงทิศเข้ามาในอ่าวบางแสน ก็อาจเป็นไปได้
ดร.สุพรรณี กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้มีประชาชนหวั่นวิตกว่าจะเกิดภัยพิบัติ ตามที่นักวิชาการได้คาดการณ์ไว้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ควรหวั่นวิตกหรือตื่นตระหนกมากเกินไป แต่หากเฝ้าระวังและ เตรียมความพร้อมไว้ก็ไม่เสียหายอะไร เพราะหากมีปัญหาจริงก็สามารถเตรียมตัวได้ทัน
ในช่วงนี้ พบว่า มีกุ้ง เคย ปลาตัวเล็ก และแพลงตอน บริเวณอ่าวบางแสนเป็นจำนวนมาก คาดว่า ฝูงวาฬดังกล่าวอาจอพยพ มาหากินก็ได้ เพราะการอพยพของฝูงปลานั้นเป็นเรื่องปกติ หากบริเวณไหนมีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ก็สามารถว่ายน้ำมาได้
ดร.สุพรรณี กล่าวต่อไปว่า วาฬดังกล่าวเป็นสัตว์ที่หายากและมีน้อยมาก ดังนั้น จึงเตือนชาวประมง ให้เฝ้าระวังโดยหากพบเห็นควรหลีกเลียงไม่ไปทำอันตราย หรือหากพบเห็นว่ากำลังได้รับอันตราย ก็ควรแจ้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยด่วน และหลังจากนี้ทางเจ้าหน้าที่จะออกติดตามความเคลื่อนไหวต่อไป
ด้าน น.ส.รติมา ครุวรรณเจริญ นักวิชาการด้านสัตว์มีกระดูกสันหลังในทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี กล่าวถึงวาฬที่พบบริเวณอ่าวบางแสน ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นวาฬสายพันธุ์ไหน เนื่องจากยังไม่เห็นรูปร่างลักษณะที่ชัดเจนของวาฬฝูงนี้
อย่างไรก็ตาม คาดว่า น่าจะเป็นวาฬ “Bryde’ s Whales” ซึ่งมี 2 สายพันธุ์ คือ Balaenoptera edeni and B. brydei เพราะที่ผ่านมาเคยพบ วาฬลักษณะดังกล่าวที่ สมุทรสาครสมุทรสงคราม และเพชรบุรี จึงอาจจะเป็นสายพันธุ์เดียวกัน
สำหรับวาฬชนิดนี้ เป็นปลาที่มีอายุยืนยาว โดยตัวโตเต็มที่จะมีอายุ 70-80 ปี และคาดว่าในฝูงนี้ซึ่งมีผู้พบเห็นประมาณ 8 เมตร นั้น ถือว่า ยังโตไม่เต็มที่เท่าไร เพราะตัวโตเต็มที่ จะมีความยาวประมาณ 14-15 เมตร และที่คาดว่าจะเป็นสายพันธุ์ “Bryde’ s Whales” เนื่องจากมีการพบเห็นบ่อยที่ทะเลในประเทศไทย