xs
xsm
sm
md
lg

สคร.7 เตือน 8 จว.อีสานไข้เลือดออกระบาดหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี ฟันธงปี 2551 จะมีผู้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกมากกว่าปีก่อน เหตุเพราะยุงลายกลายพันธุ์สามารถเป็นพาหะนำโรคได้ทั้งขณะยังเป็นลูกน้ำ และยุงลายตัวผู้ก็เป็นพาหะนำโรคได้เช่นเดียวกับยุงตัวเมีย วอนทุกบ้านร่วมต้านโรค โดยคว่ำกะโหลก กะลา ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 (สคร.7) จ.อุบลราชธานี เปิดเผยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงวันที่ 5 เมษายนปีนี้ มีผู้ป่วยไข้เลือดออกในพื้นที่รับผิดชอบ 8 จังหวัดภาคอีสาน จำนวน 294 ราย คิดเป็นอัตราป่วยร้อยละ 4.05 โดยจังหวัดกาฬสินธุ์มีผู้ป่วยมากที่สุด รองลงมาคือ ศรีสะเกษ ยโสธร และมุกดาหาร แต่ยังไม่ผู้เสียชีวิต ส่วนยอดผู้ป่วยทั้งประเทศมีทั้งสิ้น 9,173 ราย

โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ในช่วงเวลาเดียวกันคิดเป็นร้อยละ 78.85 และมีอัตราส่วนการตายเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 เท่า โดยภาคกลางมีผู้ป่วยมากที่สุด รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือ

สำหรับแนวโน้มการป่วยในปี 2551 คาดว่า จะรุนแรงและมีการระบาดในวงกว้าง โดยมีผลมาจากภาวะโลกร้อนที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้ยุงมีการเจริญเติบโตเร็ว แต่วงจรชีวิตของยุงสั้นลง ยุงตัวเล็กลง แต่ปัญหาที่สำคัญคือยุงกินเลือดบ่อยขึ้น เพราะมีระบบการย่อยเลือดดี เมื่อยุงกินเลือดบ่อย ก็เกิดการกระจายของโรคได้ดี และมีแนวโน้มการติดเชื้อสูงขึ้น

นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกอย่าง คือ ปัจจุบันไม่ได้พบเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเฉพาะในยุงตัวเมียเท่านั้น แต่ยังพบเชื้อในยุงตัวผู้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีรายงานการตรวจพบเชื้อไวรัสไข้เลือดออกในลูกน้ำ จึงแสดงว่า แม่สามารถถ่ายทอดเชื้อไวรัสไปยังลูกได้ ดังนั้นยุงในธรรมชาติบางส่วน

จึงมีเชื้อไข้เลือดออกอยู่ในตัวแล้ว และไข้เลือดออกที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรคสามารถกระจายเชื้อติดต่อได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กอ้วน ซึ่งเมื่อติดเชื้อจะมีปัญหาในการักษามาก

สำหรับอาการของโรค คือ ผู้ป่วยมีอาการตัวร้อนตลอดเวลา หน้าแดง ตาแดง โดยไม่เป็นหวัด ถ้ามีอาการดังกล่าวแล้วไม่รีบรักษา จะเกิดอาการช็อคและเสียชีวิตภายใน 1-2 วัน หากสงสัยจะมีคนในบ้านป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกต้องรีบไปพบแพทย์ และคนรอบข้างต้องรีบป้องกันเบื้องต้นอย่าให้ถูกยุงกัด และจัดการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

ส่วนผู้ที่ยังไม่ป่วยก็ต้องตรวจสอบอุปกรณ์ภาชนะต่างๆที่อยู่ในที่อยู่อาศัย เช่น กระป๋อง กะลา ยางรถยนต์เก่า ถังขยะอย่าให้มีน้ำขัง เพราะจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้อย่างดี และไม่ควรรอเจ้าหน้าที่มาพ่นยา เพราะอาจไปได้ไม่ทั่วถึงรวมฉีดพ่นไม่ตรงจุด ทุกบ้านจึงควรตรวจสอบทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายด้วยตนเองจะเป็นการดีที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น