xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายเกษตรพื้นที่สูงถกทางรอด ปรับวิถีการผลิตไร่หมุนเวียนใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการออนไลน์ – เครือข่ายเกษตรกรบนพื้นที่สูงเปิดเวทีสมัชชาไร่หมุนเวียน ถกทางรอดจากปัญหาถูกจับกุม จำกัดใช้ที่ดิน เดินหน้าเชื่อมโยงเครือข่าย สร้างองค์ความรู้จัดการรักษาป่า ดิน น้ำ ปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต หลีกให้พ้นพืชเชิงเดี่ยวทำลายทรัพยากร-สิ่งแวดล้อม สร้างวงจรหนี้

วันนี้ (6 พ.ค.) ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรบนพื้นที่สูง ได้จัดเวทีสมัชชาไร่หมุนเวียน ณ ห้องประชุมใหญ่สนามกีฬาสมโภช 700 ปี จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเครือข่ายกลุ่มเกษตรภาคเหนือ สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมชาวไทยภูเขา นักวิชาการ นักพัฒนาองค์กรเอกชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ร่วมสัมมนาครั้งนี้กว่า 250 คน เพื่อประเมินสถานการณ์ไร่หมุนเวียนในระดับพื้นที่ และสร้างองค์ความรู้ เชื่อมโยง ขับเคลื่อนการทำไร่หมุนเวียนผลักดันสู่นโยบายของรัฐ

นางปีณี มูแก้ว เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ บ้านห้วยหอย ต. แม่วี อ. แม่วาง จ. เชียงใหม่ กล่าวว่า เกษตรกรบนที่ราบสูงของภาคเหนือประสบกับปัญหาการทำไร่หมุนเวียน เพราะถูกเจ้าหน้าที่สั่งห้ามทำไร่ ห้ามใช้ที่ดิน และถูกจับกุมดำเนินคดีในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหากมองกันจริงๆ แล้ว การทำไร่หมุนเวียนในอดีตเป็นเกษตรวัฒนธรรม

การทำไร่หมุนเวียนถูกมองว่าเป็นปัญหาของการทำลายป่าไม้ มีการตัด เผา ต้นไม้ก่อนเพาะปลูก แล้วทิ้งพื้นที่ให้พักฟื้นตามระยะเวลาที่เหมาะสม โดยเน้นความหลากหลายของพันธุ์พืชและความมั่นคงทางอาหาร จากการศึกษาพบว่าการทำไร่หมุนเวียนเป็นระบบการเกษตรที่พัฒนามาจากวิถีชีวิต ความเชื่อทางวัฒนธรรมประเพณี เป็นการจัดการป่าแบบยั่งยืนนำไปสู่ความหลากหลายของระบบนิเวศน์มานาน สามารถสร้างอากาศ สร้างน้ำ สร้างสิ่งมีชีวิตในไร่หมุนเวียนสูงมาก อาหารในไร่หมุนเวียนมีครบถ้วนทั้ง ข้าว เผือก มัน พืชผัก รวมกว่า 207 ชนิด แม้แต่วัฒนธรรมก็อยู่ในไร่หมุนเวียน พอหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวพบว่ามีความหลากหลายของพันธุ์พืชแค่ 40 กว่าชนิดเท่านั้น

"ตอนนี้ข้าวแพง ปลูกผักขายซื้อข้าวไม่คุ้มกัน การที่ชาวบ้านทำไร่หมุนเวียนเป็นความสุขมากกว่า มีอาหารครบครัน ไม่ต้องใส่สารพิษ ปุ๋ยเคมี สิ่งแวดล้อมดี ไม่ต้องตายผ่อนส่ง การส่งเสริมให้ชาวบ้านมาปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น กะหล่ำปลี ข้าวโพด ซึ่งเป็นนโยบายที่ส่งเสริมการอยู่ดีมีสุขเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ กล่าวและย้ำว่า การทำไร่หมุนเวียนเป็นการเปิดช่วงสั้นๆ ก่อนฝนตกเท่านั้น ปัจจุบันก็มีการจำกัดพื้นที่ชัดเจนเพื่อนำไปสู่การจัดการแก้ปัญหาที่ดินทำกินได้ในอนาคต ดังนั้นการทำเกษตรที่สูงจึงดีต่อระบบนิเวศน์อย่างยั่งยืน

นางสาวเสอะเยียเบ่ง งามยิ่ง เครือข่ายกะเหรี่ยงภาคตะวันตก บ้านป่าผาก ต. วังยาว อ. ด่านช้าง จ. สุพรรณบุรี กล่าวว่า บ้านป่าผากมีชาวบ้านอาศัยอยู่ 230 ครับครัว เป็นชาวเขาที่มีจิตวิญญาณที่จะรักษาสิ่งแวดล้อม การทำไร่หมุนเวียนของชาวบ้านตอนนี้แทบไม่เหลือแล้ว เพราะถูกจำกัดการใช้ที่ดินอยู่ในวงแคบ แม้ที่ผ่านมาการอยู่กับป่าจะเป็นวัฒนธรรม สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ชาวบ้านที่ยังต้องพึ่งพาระบบการทำไร่หมุนเวียน ได้รับการแรงกดดันเพิ่มขึ้นเป็นระลอก จึงต้องมีการปรับตัว โดยเงื่อนไขต่างกันทั้งจากภายในและภายนอกชุมชน

เครือข่ายกะเหรี่ยงภาคตะวันตก มีการทำไร่หมุนเวียนเป็นระบบการผลิตหลัก ทำสวนเป็นระบบรอง การเก็บหาของป่าเป็นอาชีพเสริม ส่วนรอบการทำไร่หมุนเวียนจะอยู่ระหว่าง 5-7 ปี หากรอบการหมุนทำไร่หมุนเวียนน้อยจะทำให้ผลผลิตน้อยลง จนชาวบ้านหลายครอบครัวต้องหันมาปลูกพืชเชิงพานิชย์ ใช้ที่ดินอย่างถาวร ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง มีความเสี่ยงต่อการตลาดและมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น

ที่ผ่านมา ชาวบ้านป่าผาก เคยระดมความคิดกันหลายครั้ง เพื่อต้องการให้ระบบการทำไร่หมุนเวียนหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านมาอีกครั้ง แต่ก็เป็นไปได้ยาก เคยเสนอขอเช่าที่ดินมาหลายครั้งแต่เรื่องก็ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร วันนี้ชุมชนจึงยังไม่มีความมั่นคงในชีวิต

ด้านนางประไพศรี เดชอุดมวงค์ศา ชาวเขาเผ่าลาหู่ อ. แม่อาย จ. เชียงใหม่ กล่าวว่า การทำไร่หมุนเวียนของชาวบ้านไม่มีแล้ว เพราะกลัวการถูกจับกุม หากถูกจับต้องเสียเงินมาก เสียเวลาในการหาเลี้ยงชีพ ชุมชนจึงหาทางออกโดยการรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่าย ร่วมกันแก้ปัญหา สร้างอำนาจต่อรองกับภาครัฐ แล้วหันมาทำนาครอบครัวละ 4-5 ไร่ เพื่อทดแทนการทำไร่หมุนเวียน หลังเก็บเกี่ยวก็เลี้ยงสัตว์ การปรับเปลี่ยนชีวิตเช่นนี้เป็นการหาทางออกที่ดีที่สุดแล้ว ดีกว่าการปลูกพืชเมืองหนาวหรือออกไปขายแรงยังต่างถิ่น นอกจากนี้ยังได้เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเกษตรบนที่ราบสูงกว่า 200 เครือข่ายแล้ว

นางสาวสุวิมล มีแสง เจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนภาคเหนือ กล่าวว่า เพื่อความเป็นอยู่ของชุมชนและไม่ย้ายถิ่นฐานออกไปขายแรงงาน และเพื่อเป็นการจัดการป่าด้วยการทำไร่หมุนเวียนเป็นการรักษา ดิน น้ำ ป่า อากาศ และลดต้นทุนการผลิต สู่การใช้ที่ดินอย่างบูรณาการ พอช. จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนงบประมาณจำนวน 8 ล้านบาทตามโครงการแก้ไขปัญหาหมอกควัน เพื่ออำนวยให้ชุมชนจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน NGO และภาคประชาชน โดยมีชุมชนเป็นแกนหลักสำคัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น