รายงาน...
ประเทศไทยเป็นเมืองเกษตรกรรม ประชาชนใช้ที่ดินในการทำมาหากินมาช้านาน แต่มาระยะหลังดูเหมือนว่าปัญหาที่ดินทำกินของชาวไร่ ชาวนา อันเป็นกระดูกสันหลังของชาติจะเกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการบุกรุกป่าของนายทุนโดยใช้มือของคนจนเป็นผู้ตัดโค่น การประกาศเขตพื้นที่ป่าทับซ้อนที่ดินทำกินของชาวบ้าน ปัญหาความซ้ำซ้อนในการแก้ไขปัญหาที่ดินของหน่วยงานรัฐการ กลายเป็นปัญหาสะสม เพาะบ่ม จนไม่อาจจะเยียวยาได้
ดังนั้น การสนับสนุนให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการที่ดินถือว่าเป็นทางออกที่ดี อย่างน้อยชุมชนมีความเข้าใจท้องถิ่นของตนเองได้เป็นอย่างดีและสามารถแก้ปัญหาได้ถูกจุด ภายใต้ความมุ่งมั่นที่จะหาทางออกให้แก่ชุมชน เมื่อวันที่ 24-25 เมษายน 2551 ที่ผ่านมา เครือข่ายองค์กรชุมชนการปฏิรูปที่ดินทำกิน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ได้จัดสัมมนาสรุปประสบการณ์ ประสานความร่วมมือจัดทำแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาที่ดินอย่างมีส่วนร่วม ณ โรงแรมเบสเวสต์เทิรน์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยเชิญหน่วยงานราชการ องค์กรพัฒนาเอกชน ตัวแทนเครือข่ายองค์กรชาวบ้าน และผู้ที่เกี่ยวข้องประมาณ 150 คน มาระดมสมองสรุปบทเรียนการปฏิรูปที่ดินในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาและร่วมแสวงหาหนทางก้าวไปข้างหน้า
นายบุญยืน คงเพ็ชรศักดิ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนภาคเหนือ กล่าวว่า เรื่องที่ทำกินและเรื่องสัญชาติเป็นปัญหาใหญ่ของชาวบ้านในภาคเหนือตอนบน ปัญหาเรื่องสัญชาติมีการออกกฎหมายมาแก้ไขปัญหาแล้วหลายปี แต่ว่าเรื่องที่ดินยังไม่มีการแก้ไขปัญหา แม้จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ทำกิน และที่ผ่านมามีความพยายามจัดทำข้อมูลหลายพื้นที่ มีการพูดคุยและจัดการประชุมหาทางออกของปัญหา การประชุมครั้งนี้จะเป็นโอกาสหาแนวทางร่วมกันเป็นเครือข่ายและพร้อมประสานกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการพูดคุยกันจะทำให้มองเห็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้ชัดเจนและได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบมากขึ้น
นายบุญยืน กล่าวว่า จากประสบการณ์การดำเนินงานใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้กำหนดแนวทางการทำงานออกเป็น 2 ระยะ คือ ในระยะสั้น ได้มีการสนับสนุนองค์กรชุมชน ให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างพื้นที่ เพื่อการหนุนเสริมการจัดทำข้อมูล พัฒนาความสามารถในการใช้เครื่องมือ ส่วนในระยะยาว ต้องมีการหนุนเสริมความเข้มแข็ง และสามารถเชื่อมโยงบูรณาการได้ เพื่อให้เกิดเป็นพลังขององค์กรชุมชนท้องถิ่น
ส่วนการปฏิรูปที่ดินของเครือข่ายองค์กรชุมชน แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ ที่ดินนอกเขตป่า เป็นที่ดินถูกทำให้เป็นสินค้า การสร้างมูลค่าของที่ดินเพื่อการแลกเปลี่ยนในตลาด ซึ่งจะทำให้มีการเก็งกำไรในที่ดินและทำให้ที่ดินเปลี่ยนมือเร็วยิ่งขึ้น อันเป็นการเร่งให้เกิดการสูญเสียที่ดินทำกิน และมีการกระจุกตัวผูกขาดการถือครองที่ดินของคนส่วนน้อยมากยิ่งขึ้น ในขณะที่การละเลยนโยบายในเรื่องการกระจายการถือครองที่ดิน หรือไม่ได้มีนโยบายในการสร้างความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า “รัฐบาลจะต้องดำเนินนโยบายกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และดำเนินการให้เกษตรกรมีสิทธิในการทำกินอย่างทั่วถึง โดยการปฏิรูปที่ดินหรือโดยวิธีการอื่น”
สำหรับกรณีที่ดินในเขตป่า การประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย การจำกัดการพัฒนา การถูกจับกุม ทั้งหมดนี้ชุมชนได้มีการวางแผนและมีกิจกรรมร่วมกัน คือ การจัดทำแผนที่และข้อมูลรายครัวเรือน โดยใช้แผนที่ 1:4,000 การจัดทำโมเดลภูมิประเทศจำลอง การใช้เครื่อง GPS ในการเก็บข้อมูลรอบนอกชุมชน การจัดทำหลักหมุดแนวเขตที่ดิน สนับสนุนการจัดข้อมูลรายแปลง ขยายพื้นที่ คัดเลือกพื้นที่ตัวอย่าง พัฒนายกระดับระบบกรรมสิทธิ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งมีการรับรองสิทธิชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ
นายกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เรื่องที่ดินเป็นเรื่องใหญ่ ทุกวันนี้ที่ดินหลุดมือไปอยู่กับนายทุนใหญ่ ปัญหาความยากจนคือการไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง ที่ดินเป็นเรื่องความมั่นคงของชีวิต แนวนโยบายของรัฐในการแก้ไขปัญหาที่ดินไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก จนเกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่โดยตรง
ตำบลแม่ทา มีคนอาศัยอยู่ในเขตป่าเยอะมาก มีการครอบครองที่ดินกว่า 5,000 แปลง 10,000 กว่าไร่ ดังนั้นชุมชนจึงได้ร่วมกับ อบต. ออกสำรวจสิทธิพร้อมๆ ไปกับการร่วมกันจัดเก็บข้อมูล โดยความร่วมมือของหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายปกครองและผู้นำธรรมชาติ มีการจัดตั้งอาสาสมัครในการจัดเก็บข้อมูล มี อบต.และชุมชนเป็นแกนหลัก จัดทำแผนที่ 1: 4,000 อนาคตต้องการให้เกิดกระบวนการรับรองสิทธิอย่างเป็นระบบ โดยการออกเป็นโฉนดชุมชน โดยมีข้อแม้ว่าชาวบ้านจะต้องทำพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยทำการเกษตรอินทรีย์เป็นหลัก
ในส่วนของข้อมูลทางเทคนิค มีการจัดทำฐานข้อมูล ขั้นตอนการทำงานตั้งแต่การประชุมหมู่บ้าน การตีเส้นรายแปลง การนำเข้าข้อมลสู่ระบบแผนที่และเชื่อมโยงข้อมูล รวมไปถึงเรื่องการใช้ประโยชน์จากที่ดิน
การแก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วมของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินตำบลแม่ทา ชุมชนจึงได้จัดตั้งกองทุนการจัดการที่ดิน เพื่อดูแลทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า แล้วประสานความร่วมมือระหว่างรัฐและราษฎร์ เชื่อมร้อยเครือข่าย องค์กร บนฐานข้อมูลความเป็นจริงให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและมีแนวคิด ผลักดันจัดทำศูนย์เรียนรู้ชุมชน ส่งเสริมอาชีพเกษตรกรพร้อมไปกับการปรับวิถีการผลิตและการบริโภคให้เพียงพอต่อครอบครัว
ด้านนายนงค์ ฟุงฟู ผู้ใหญ่บ้านแพะใต้ ต.หนองร่อง อ. เวียงหนองร่อง จ. ลำพูน*** กล่าวว่า การเรียกร้องให้รัฐดำเนินการปฏิรูปที่ดินในพื้นที่จังหวัดลำพูน ซึ่งจากการพิสูจน์ข้อมูลพบว่า รัฐน่าจะออกเอกสารสิทธิที่ดินโดยมิชอบ ทั้งที่ดินในเขตป่าและที่ดินนอกเขตป่า ชาวบ้านได้เสนอให้รัฐนำที่ดินที่เป็นหนี้เสียมาจัดสรให้แก่คนจน โดยให้ชุมชนดำเนินการปฏิรูปที่ดินด้วยชุมชนเอง โดยอยู่ในรูปของกรรมสิทธิ์ร่วม เพื่อป้องกันการเปลี่ยนมือแต่ชาวบ้านกลับถูกดำเนินคดีหลายครอบครัว ชุมชนจึงมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินรอบด้าน คนที่อยู่ในเขตป่าต้องสู้กับรัฐ คนที่อยู่นอกเขตป่าต้องสู้กับนายทุน
นายนงค์ กล่าวว่า แนวทางสำคัญที่สุดคือการปฏิรูปที่ดิน เพื่อคนจน เพื่อป้องกันการเปลี่ยนมือ ถ่ายโอน แล้วนำที่ดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อป้องกันการบุกรุกป่า จึงต้องมีการทำแนวเขตให้ชัดเจน แล้วนำที่ดินมาออกโฉนดชุมชน เป็นกรรมสิทธิ์ของส่วนรวม ใช้ประโยชน์ร่วมกัน และสามารถทำกินถึงลูกหลานได้***
สรุปได้ว่านโยบายที่ดินการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินอยู่ในปัจจุบัน ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินในสังคมไทยอย่างแท้จริง เพราะยังไม่มีนโยบายการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอย่างเป็นระบบ เพื่อการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม โดยการใช้มาตรการหลายมาตรการพร้อมกันในการแก้ไขปัญหาโครงสร้างการถือครองที่ดินที่เป็นอยู่ คือการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลจัดการทรัพยากรที่ดิน การจัดตั้งธนาคารเพื่อการปฏิรูปที่ดิน การจำกัดการถือครองที่ดิน รวมถึงการคุ้มครองพื้นที่เพื่อเกษตรกรรม อันจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินให้กับคนยากจนได้อย่างยั่งยืน