xs
xsm
sm
md
lg

สหกรณ์หนุน GAP ชาวนาทุ่งกุลาทำตลาด-สร้างแบรนด์ข้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการออนไลน์ -บูรณาการโครงการผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐานเพื่อการส่งออก เป้าเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และรายได้แก่เกษตรกร พร้อมยกระดับมาตรฐานการผลิต ตั้งแต่ไร่นาถึงการส่งออก เผยสหกรณ์กลุ่มเกษตรกรได้รับประโยชน์เต็มที่

นายจิตรกร สามประดิษฐ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียงของประเทศ ผลผลิตมีความพิเศษในเรื่องความนุ่มและความหอม เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

แต่การทำนาในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ยังมีปัญหาในเรื่องดินเค็ม ดินเสื่อม น้ำท่วมสลับแห้งแล้ง ประสิทธิภาพการผลิตต่ำ ปัจจัยการผลิตราคาสูง การตลาดที่ขาดประสิทธิภาพ

จากปัญหาดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำโครงการผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐานเพื่อการส่งออกขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มรายได้แก่เกษตรกรและยกระดับมาตรฐานการผลิตตั้งแต่ระดับไร่นาจนถึงการส่งออก

การดำเนินการทางกระทรวงเกษตรฯ ได้ระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมการข้าว และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมกันทำงานแบบบูรณาการ

ทั้งนี้ ได้มีการเชื่อมโยงตั้งแต่การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ตรวจสอบรับรองมาตรฐาน และการจัดการธุรกิจการตลาดข้าวหอมมะลิ โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2547-2551 เป้าหมายพัฒนาพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ 1.27 ล้านไร่ ให้สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวเป็น 470 กก.ต่อไร่ หลังสิ้นสุดโครงการ เกษตรกร 85,000 ครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น 19,680 บาท/ครัวเรือน และเพิ่มมูลค่าส่งออกข้าวหอมมะลิ ปีละ 2,367.72 ล้านบาท

“ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีการฝึกอบรมให้ความรู้เรื่องการผลิตข้าวหอมมะลิดีที่เหมาะสม (GAP) ให้กับผู้นำเกษตรกร และผู้นำสหกรณ์ จำนวนกว่า 7,500 ราย เพื่อส่งเสริมความรู้เรื่องกระบวนการผลิตข้าวหอมมะลิที่ถูกต้องทั้งระบบ โดยกรมตั้งเป้าว่าความรู้เรื่อง GAP ที่จัดทำขึ้นน่าจะทำให้ข้าวเปลือกมีคุณภาพดีขึ้น และจะทำให้ผลผลิตเฉลี่ยข้าวหอมมะลิของเกษตรกรเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10” นายจิตรกร กล่าว

รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า กรมฯ ยังได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้สหกรณ์มีการปรับปรุงอุปกรณ์เพื่อการตลาด และเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปของโรงสีของสหกรณ์ในพื้นที่ ที่เข้าร่วมโครงการ โดยกำหนดให้รับซื้อผลผลิตข้าวจากสมาชิกสหกรณ์ที่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดด้วย

“ข้าวทั้งหมดจะถูกส่งเข้าสู่โรงสีข้าวของสหกรณ์ปรับปรุงคุณภาพที่สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เพื่อแปรรูปตรวจสอบคุณภาพ และบรรจุเป็นแบรนด์สินค้าเดียวกันก่อนส่งจำหน่ายยังตลาดต่อไป ซึ่งมาตรการดังกล่าว นอกจากจะช่วยควบคุมคุณภาพข้าวหอมมะลิในโครงการให้เป็นมาตรฐานเดียวกันแล้ว ยังจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการปลอมปนที่เกิดขึ้นอีกด้วย” นายจิตรกร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น