ศูนย์ข่าวศรีราชา-โครงการก่อสร้างถนนเลียบชายฝั่งทะเลตะวันออก จังหวัดระยอง จันทบุรี และ ตราด ถึงตอนนี้คืบหน้าเพียง 35% คาดว่าไม่แล้วเสร็จตามกำหนดการเดิมปี 52 อาจต้องเลื่อนไปจนถึงปี 55 สาเหตุที่ล่าช้า เกิดจากปัญหาการก่อสร้างกระทบพื้นที่ป่าชายเลน
นายจิรโชติ ปัญญาประดิษฐ์ ทางหลวงชนบทจังหวัดระยอง กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการถนนเลียบชายฝั่งทะเลจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของภาคตะวันออก และเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทางมากขึ้น ด้วยงบประมาณก่อสร้างสูงถึง 3,000 ล้านบาท โครงการนี้เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2548 และมีกำหนดการแล้วเสร็จคือปี 2552 แต่ถึงตอนนี้ การก่อสร้างยังไม่มีทีท่าว่าจะแล้วเสร็จ เนื่องจากขณะนี้โครงการมีความคืบหน้าเพียง 35% ตอนนี้อยู่ในช่วงดำเนินการก่อสร้างในส่วนที่มีปัญหาน้อยที่สุดก่อน ซึ่งอาจจะทำให้โครงการล่าช้าไปถึงปี 2555
ในส่วนของสาเหตุหลักที่ทำให้โครงการนี้ล่าช้า คือ ปัญหาการรุกล้ำพื้นที่ป่าชายเลน ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เนื่องจากเป็นมติของ ครม. ที่ห้ามมิให้มีการก่อสร้างบริเวณพื้นที่ป่าชายเลน ขณะนี้พื้นที่ ที่กำลังมีปัญหามากที่สุดจนไม่สามารถดำเนินการต่อได้ คือ บริเวณสะพานข้ามปากแม่น้ำประแสร์ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแนวถนน
ทั้งนี้ เนื่องจากว่าโครงการสะพานประแสร์ ได้เกิดขึ้นมาโดยที่ไม่มีค่าเวนคืน เป็นสะพานเชื่อมชุมชน 2 ฝั่งแม่น้ำประแสร์ ซึ่งเป็นชุมชนใหญ่ทั้ง 2 ฝั่ง พยายามให้ท้องถิ่นช่วยประสานชาวบ้านเพื่อขออุทิศอีกส่วนหนึ่ง เนื่องจากเทศบาลกำลังพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ คือ จุดจอดเรือรบหลวงประแสร์ จึงพยายามดึงแนวสะพานเข้าไปใกล้ๆ เมื่อนักท่องเที่ยววิ่งรถขึ้นสะพานจะได้เห็นเรือรบหลวงประแสร์ด้วย จึงมีการตกลงเปลี่ยนแนว ซึ่งก็ไปกระทบเรื่องป่าชายเลน ต้องพยายามออกแบบให้กระทบน้อยที่สุด
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตามกฎหมายป่าชายเลนค่อนข้างจะเข้มงวด จึงต้องดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องสูญเสียงบประมาณเพิ่มมากขึ้นจากเดิมในส่วนของพื้นที่ดังกล่าว 188 ล้านบาท เป็น 325 ล้านบาท เพื่อจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ
ส่วนปัญหาที่รองลงมา คือ พื้นที่การก่อสร้างที่จะต้องดำเนินการขออนุญาตจากภาคประชาชน ส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสมือนเป็นการขออุทิศพื้นที่เพื่อการก่อสร้างโครงการ แต่หากไม่ได้รับความร่วมมือ ก็คงจะต้องมีการเวนคืนที่ดิน ซึ่งเป็นแนวทางสุดท้ายในการแก้ปัญหา
นายจิรโชติ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของภาคประชาชน ส่วนใหญ่ประชาชนในจังหวัดจันทบุรีและระยองจะเห็นด้วยกับโครงการนี้ แต่มีประชาชนบางส่วนไม่เห็นด้วยคือ จังหวัดตราด ไม่ยอมให้มีการก่อสร้างถนนเลียบชายทะเล เนื่องจากเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็น ประกอบกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศป่าชายเลน ทำให้โครงการในพื้นที่จังหวัดตราดต้องชะลอลงไป
สรุปในภาพรวมแล้ว โครงการนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป และเร่งแก้ปัญหาต่าง ๆให้โครงการแล้วเสร็จไม่ให้นานเกินไป เพื่อให้สามารถใช้เป็นเส้นทางส่งเสริมการท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาท่องเที่ยว ในพื้นที่ภาคตะวันออกได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการเดินทางระหว่างจังหวัดในภาคตะวันออกมีทางหลวงหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) เป็นเส้นทางหลักเพียงเส้นเดียว โดยมีเส้นทางเสริมบางช่วงระหว่างกรุงเทพฯถึงอำเภอแกลง จ.ระยอง เช่น ทางหลวงหมายเลข 34 (บางนา-บางปะกง) ทางหลวงหมายเลข 36 (ชลบุรี-ระยอง) ทางหลวงหมายเลข 344 (ชลบุรี-แกลง)เป็นต้น ส่วนพื้นที่จากอำเภอแกลง จ.ระยองจนถึงจังหวัดตราดนั้น มีเส้นทางเสริมทางหลวงหมายเลข 3 น้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเส้นทางสั้นๆ และมีโครงข่ายการจราจรที่ไม่สมบูรณ์
เมื่อถึงช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น สงกรานต์ หรือช่วงหน้าผลไม้ จะมีผลกระทบต่อการจราจร ที่สำคัญส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ความมั่นคง ตลอดจนผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ดั้งนั้น โครงการถนนเลียบชายฝั่งทะเลก็จะช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ด้วย และสามารถเชื่อมกับถนนหลักต่างๆได้ด้วย
สำหรับ โครงข่ายถนนสายรอง เลียบชายฝั่งทะเล เป็นเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยว ถนนและสะพานในโครงการดังกล่าว จึงเน้นไปที่ความ สวยงาม ร่มรื่น และมีความสะดวกสบาย รูปแบบของถนนจะ เป็น 2 ช่องทางการจราจร กว้าง 7 เมตร มีไหล่ทางกว้างข้างละ 1.50 เมตร ระยะทางยาว ประมาณ 100 กิโลเมตร บริเวณข้างทางจะมีพื้นที่ที่สามารถปลูกต้นได้ และจัดสร้างสถาปัตยกรรมบริเวณสองข้างทาง รวมทั้งก่อสร้างที่พักริมทาง และจุดชมทิวทัศน์ตลอดสาย