xs
xsm
sm
md
lg

รมช."มีดอีโต้" บินด่วนเข้าสกลฯ ตรวจสอบคดีตำรวจจับปุ๋ยปลอม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สกลนคร - รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ บินด่วนไปสกลนคร ตรวจสอบคดีตำรวจจับปุ๋ยปลอมเต็มรถสิบล้อมูลค่า 4 แสน ขยายผลจับกุมโรงงานผลิตปุ๋ยปลอมที่สระบุรี ตะลึงพบปุ๋ยปลอมอีกกว่า 1 พันตัน สั่งอายัดตรวจสอบเอาผิดผู้เกี่ยวข้องแล้ว

เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้( 13 เม.ย.) นายธีระชัย แสนแก้ว เจ้าของฉายา ส.ส.มีดอีโต้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พร้อมคณะ เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปที่สถานีตำรวจภูธรสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เพื่อตรวจสอบภายหลังจากเมื่อเย็นวันที่ 11 เมษายน 2551 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สว่างแดนดิน นำโดย พันตำรวจเอก คณิต ดวงหัสดี ผู้กำกับฯ และทีมงาน ทำการจับกุมนายพงษ์ธร ดายังหยุด อายุ 39 ปี นางพัชรินทร์ สิงห์งอย อายุ 37 ปี บ้านเลขที่ 209 หมู่ 8 ตำบลหาดแพง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม สองสามีภรรยา และ นายเปลี่ยน อุตส่าห์ อายุ 40 ปี บ้านเลขที่ 141 หมู่ 4 ตำบลทุ่งแก อำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร พร้อมของกลาง ปุ๋ยเคมีตราอินทรีย์เพชร ซึ่งเป็นปุ๋ยปลอมจำนวน 300 กระสอบ อยู่ในรถยนต์บรรทุกสิบล้อยี่ห้ออีซูซุ สีฟ้า ทะเบียน 70-1631 ราชบุรี และกำลังขนถ่ายใส่รถกระบะ ยี่ห้อโตโยต้า สีบรอนซ์ ทะเบียน บฉ-2975 สกลนคร โดยมี นายพิยา สุนทรวิภาต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร พลตำรวจตรีอุดม จำปาจันทร์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรสกลนคร และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมตรวจสอบด้วย

นายธีระชัย กล่าวว่า ก่อนเกิดเหตุ ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้จดทะเบียนต่อกรมวิชาการเกษตร ผลิตปุ๋ยเคมีตราอินทรีย์เพชร ตามใบอนุญาตเลขที่ 1627/2550 ได้เข้าร้องทุกข์ต่อ พันตำรวจโทวีระยุทธ ใบภักดี พนักงานสอบสวน สภ.สว่างแดนดิน ว่ามีผู้ลักลอบผลิตและจำหน่ายปุ๋ยดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาต นำไปจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดสกลนคร และจังหวัดนครพนม จึงได้วางแผนจับกุมโดยให้สายลับติดต่อขอซื้อปุ๋ยจากเจ้าของร้านจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรแห่งหนึ่ง ในจังหวัดกาฬสินธุ์ และนัดส่งมอบปุ๋ยจำนวน 300 กระสอบ ที่ป่าละเมาะ เขตบ้านโนนค้อ ตำบลสว่างแดนดิน อำเภอสว่างแดนดิน

ขณะที่กำลังลำเลียงใส่รถกระบะ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แสดงตัวเข้าจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 3 คน แจ้งข้อหา ร่วมกันผลิตเพื่อการค้า ขาย มีไว้เพื่อขาย ซึ่งปุ๋ยเคมีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ และผลิต ขาย มีไว้เพื่อขายซึ่งปุ๋ยเคมีปลอม นำตัวไปสอบสวนดำเนินคดี ซึ่งผู้เสียหายยืนยันว่าปุ๋ยที่จับกุมได้เป็นปุ๋ยปลอม ที่ไม่ได้ผลิตมาจากโรงงานของตน และไม่เคยอนุญาตให้ผู้อื่นผลิต โดยนายเปลี่ยนคนขับรถบรรทุกสิบล้อ ให้การต่อเจ้าหน้าที่ว่า ได้รับจ้างจากนายพงษ์ธร ดายังหยุด ให้ไปบรรทุกปุ๋ยเคมีทั้งหมดมาจากโรงงานในอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เพื่อส่งให้ลูกค้าที่สกลนคร และไม่ทราบว่าเป็นปุ๋ยปลอม

นายธีระชัยกล่าวว่า คดีนี้ได้มีการตรวจสอบถึงต้นตอแล้ว พบว่าปุ๋ยปลอมดังกล่าว ผลิตจากโรงงานแห่งหนึ่งในอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ซึ่งตนพร้อมด้วยชุดเฉพาะกิจได้ไปดูที่แหล่งผลิตแล้ว พบว่าเป็นโรงงานขนาดใหญ่ ได้อายัดปุ๋ยปลอมทั้งหมดไว้กว่า 1 พันตัน กระสอบปุ๋ยที่เตรียมไว้กว่า 1 แสนใบ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท ขณะนี้ได้สั่งอายัดไว้หมดแล้ว

นอกจากนี้ยังมีวัตถุดิบอื่นที่เรียกว่าเป็นแม่ปุ๋ย ประมาณ 500 ตัน โดยกรรมวิธีการผลิตจะนำแม่ปุ๋ย 500 ตัน มาผสมกับปูนมานที่หาได้ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯไม่เคยจับได้มากขนาดนี้ ดังนั้นจึงเป็นที่น่าตกใจมาก และคิดว่าน่าจะมีแหล่งผลิตแบบนี้อีกมาก จึงต้องทำงานกันอย่างเข้มแข็ง โดยตั้งทีมเฉพาะกิจขึ้นมาไม่ให้มีเพียงกรมวิชาการเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่จะให้ทุกกรมเข้ามาร่วมด้วย เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรมสหกรณ์การเกษตร กรมที่ดิน ทำงานเป็นทีมโดยมีตนเป็นประธานในการดูแลเรื่องปุ๋ยปลอมสารเคมีปลอม เป็นการกำราบผู้ที่เอาเปรียบขี่คอเกษตรกร พ่อค้าที่ฉวยโอกาสซ้ำเติมเกษตรกร

จากนั้นจะมีการขยายผลเพื่อป้องกันการเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น จะมีการตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน โดยมีผู้การตำรวจ อัยการ รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องเข้าเป็นคณะทำงานในการดูแลตรวจสอบเพื่อป้องปรามผู้ที่จะมาจำหน่ายปุ๋ยปลอมให้กับเกษตรกรในทางที่ผิดๆ ปุ๋ยแพงไม่ว่า แต่เป็นปุ๋ยปลอมซึ่งเท่ากับว่าเป็นการซ้ำเติมเกษตรกร ซึ่งรัฐบาลก็คงไม่ยอมง่ายๆ ทำผิดก็ต้องว่าไปตามผิด เพราะเรามีกฎหมายที่เข้มแข็งขึ้น โดยเฉพาะกฎหมายเรื่องปุ๋ย ของกรมวิชาการเกษตรที่ได้มีการแก้ไขใหม่ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี ปรับ 2 แสนบาทถึง 1 ล้านบาท รายนี้ตนเชื่อว่ามีความผิดถึง 3 กระทง

นอกจากนี้ยังเป็นการทำผิดตามพระราชบัญญัติโรงงานของกระทรวงอุตสาหกรรมอีกด้วย เนื่องจากโรงงานได้ขออนุญาตผลิตปุ๋ยอินทรีย์ แต่กลับมาผลิตปุ๋ยเคมีและยังเป็นการผลิตปุ๋ยเคมีปลอมด้วย และไม่ได้ปลอมแค่ตราอินทรีย์เพชรเท่านั้น แต่ปลอมถึง 7 ตรา 7 ยี่ห้อ จึงขอฝากเตือนถึงเกษตรกรว่า ตอนนี้ขอให้ชะลอการใช้ปุ๋ยไปก่อน พร้อมกับจะส่งเครือข่ายลงไปดูแลเกษตรกรด้วย ว่าจะต้องนำปุ๋ยที่ได้รับในแต่ละชุมชนมาตรวจสอบพิสูจน์ว่าเป็นของปลอมหรือไม่ เพราะหากเป็นปุ๋ยปลอมแล้วเมื่อนำไปใส่พืชแล้วจะไม่มีผลใดๆ ซื้อมาก็มีราคาแพงอยู่แล้ว ถ้าหากเกษตรกรจะหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้เองในท้องถิ่น ก็สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น