ฉะเชิงเทรา - ชาวสวนมะม่วงโอด สรรพากรบางคล้า จ้องรีดภาษีเกษตรกรผู้ผลิตสินค้ามะม่วงส่งออก ทั้งที่เป็นการรวมกลุ่มกันขายเพื่อให้มีอำนาจในการต่อลองกับพ่อค้า ทั้งยังช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ขณะต้องแบกรับภาระต้นกับทุนการผลิต ที่รัฐบาลยังควบคุมให้ไม่ได้ และแพงขึ้นกว่าเป็นเท่าตัว
วันนี้ (26 มี.ค.) เวลา 13.00 น.นายมานพ แก้ววงษ์นุกูล ประธานวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออก จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มชาวสวนมะม่วงผู้ผลิตเป็นสินค้าส่งออก ได้ถูกเจ้าหน้าที่สรรพากร อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เข้ามาดูยังสถานที่ทำการบรรจุผลิตภัณฑ์ เพื่อการส่งออกไปยังต่างประเทศ ของวิสาหกิจชุมชน ซึ่งอยู่ใน ต.สาวชะโงก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ที่รับผลผลิตมะม่วงจากสมาชิก เพื่อนำมาบรรจุภัณฑ์ จากเกษตรกรชาวสวนใน 5 อำเภอ คือ อ.บางคล้า อ.พนมสารคาม อ.ท่าตะเกียบ อ.สนามชัยเขต และ อ.คลองเขื่อน พร้อมกับเข้ามาแจ้งให้ทราบว่า ให้ไปชี้แจงเกี่ยวกับกรณีทำการค้ามะม่วงโดยที่ไม่แจ้งให้สรรพากรท้องที่ทราบ พร้อมกับที่จะขอประเมินเรียกเก็บภาษีในช่วงบ่ายของวันนี้
ทั้งที่การทำการค้าของกลุ่ม เป็นการรวมกลุ่มกันของเกษตรกร เพื่อให้มีอำนาจในการต่อลองกับพ่อค้า หรือบริษัทผู้ส่งออกมะม่วง โดยกลุ่มได้เรียกเก็บค่าบริหารจากเกษตรกรเพียงกฺดลกรัมละ1 บาท เพื่อใช้เป็นค่าจัดประชุมแรกเปลี่ยนความรู้กันภายในกลุ่ม ค่าเดินทาง และค่าการประสานงานต่างๆ เท่านั้น รวมทั้งที่ผ่านมาทางกลุ่มผู้ค้ามะม่วงส่งออกได้ช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดฉะเชิงเทรา สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ จนเป็นที่ยอมรับในสินค้าของต่างประเทศ และมีมูลค่าการส่งออกปีละกว่า 1,000 ตัน หรือประมาณ 40 ล้านบาท
สรรพากร น่าจะเห็นว่า มีการนำเอามะม่วงมารวมกันเป็นจำนวนมาก เพื่อทำการบรรจุภัณฑ์ส่งออก ยังสถานที่ตั้งของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในปริมาณมาก จึงเข้าใจว่าเป็นการทำการค้าขนาดใหญ่ ทั้งที่มะม่วงทั้งหมดเป็นผลผลิตที่มาจากเกษตรกรรายย่อย ทั้ง 5 อำเภอ และการส่งออกมีบริษัทผู้ทำการค้าส่งออก ได้เข้ามาเซ็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไว้แล้ว โดยมีนานอานนท์ พรหมนารท ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา รวมถึงเกษตรจังหวัด เป็นประธานในการลงนามเซนสัญญาซื้อขายมารับช่วงเป็นผู้ทำการส่งออกอีกต่อหนึ่ง และมีการดำเนินการในรูปแบบบริษัท ซึ่งเชื่อว่าน่ามีการเสียภาษีการส่งออกอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
ขณะที่ นายประทีป เทพพนม อายุ 61 ปี เกษตรกรชาวสวนมะม่วง อ.ท่าตะเกียบ กล่าวว่า ทางสรรพากรบางคล้า พูดจาดูถูกเกษตรกรเหมือนเป็นผู้ไม่มีการศึกษา โดยกล่าวว่า “เวลาน้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟไหม้ ก็พากันมาขอความช่วยเหลือ แต่เวลาเสียภาษีไม่อยากเสีย” พวกตนจึงไม่เข้าใจว่า นโยบายรัฐบาลที่ผ่านมาสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มกัน เพื่อค้าขายผลผลิต ให้มีอำนาจในการต่อรองกับพ่อค้า แต่พอรวมกลุ่มกันได้ก็มาจ้องเรียกเก็บภาษี ซึ่งมันขัดแย้งกันและอาจทำให้การรวมกลุ่มต้องล่มสลายลง กลับไปสู่สภาพเดิม
ที่ผ่านมา เกษตรกรชาวสวนมะม่วงไม่ได้ไปขอความช่วยเหลือ หรือสร้างภาระให้แก่ภาครัฐ เพราะความเข้มแข็งของการรวมกลุ่ม เพื่อค้าขายผลผลิต การมาทำอย่างนี้เป็นการเข้ามาทำลายกระดูกสันหลังของชาติ เพราะปัจจุบันราคาต้นทุนในการผลิตก็แพงขึ้นทุกวัน เป็นสองเท่าตัว จากเดิมราคาปุ๋ยตันละ 9 พัน ถึงหนึ่งหมื่นบาท แต่ปัจจุบันราคาปุ๋ยได้ขยับราคาขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนถึงตันละกว่า 2 หมื่นบาท และยังมีแนวโน้มขยับขึ้นไปอีกอย่างไม่มีวันหยุด โดยที่รัฐบาลเองก็ไม่สามารถควบคุมราคา หรือแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรได้เลย
การลงทุนแบบเกษตรกร เป็นการลงทุนที่ไม่รู้ผลล่วงหน้า หากได้ก็ได้หากเสียก็เสีย แต่เมื่อมีก็ต้องใส่ลงไปเรื่อยๆ จึงไม่สามารถนำมาคิดหาต้นทุนที่แท้จริงนำไปหักภาษีได้ปัจจุบันเกษตรกรยังต้องติดค้างชำระค่าปุ๋ย ที่มีราคาแพงกว่าสองเท่าตัวอยู่แล้ว สรรพากรยังจะมาซ้ำเติมขูดรีดภาษีกันอีก