xs
xsm
sm
md
lg

สคร.7 ชี้ศรีสะเกษแชมป์วัณโรคอีสานใต้ตายปีละกว่า 300 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี-เผยกลุ่มอาชีพเกษตรกรในเขตอีสานใต้ ป่วยวัณโรคมากที่สุด หมอหวั่นผู้ป่วยกินยาไม่ต่อเนื่อง ทำให้เชื้อดื้อยารักษาไม่หายขาด ก่อวิกฤตคนรอบข้าง เพราะเชื้อโรคแพร่สู่คนอื่นได้ง่าย

น.พ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ ผู้อํานวยการสํานักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี (สคร.7) เปิดเผยว่า วัณโรคเป็นโรคติดต่อสําคัญและเป็นสาเหตุการตายหนึ่งในสิบอันดับแรกของคนไทย จากรายงานขององค์การอนามัยโลกปี 2550 มีผู้ป่วยวัณโรคกระจายอยู่ทั่วโลก 16-20 ล้านคน ร้อยละ 95 อยู่ในประเทศกําลังพัฒนา มีผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคนี้ประมาณปีละ 1.9 ล้านคน และพบผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 8.4 ล้านคน

สำหรับประเทศไทยองค์การอนามัยโลกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 17 ของประเทศที่ไม่สามารถควบคุมวัณโรคได้

ขณะเดียวกันมีผู้ป่วยมารายงานตัวขึ้นทะเบียนรักษา 58,000 ราย แต่คาดว่ามีผู้ป่วยวัณโรคในประเทศทั้งหมดประมาณ 91,000 ราย กว่าครึ่งเป็นวัณโรคชนิดแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ สําหรับพื้นที่ของ สคร.7 ปี 2550 มีผู้ป่วยวัณโรคใน 8 จังหวัดขึ้นทะเบียนขอรับการรักษาทั้งสิ้น 8,452 ราย แบ่งตามลำดับผู้ป่วยมากไปหาน้อย คือ จ.ศรีสะเกษ 2,264 ราย จ.อุบลราชธานี 2,081 ราย จ.กาฬสินธุ์ 1,305 ราย จ.สกลนคร 899 ราย จ.ยโสธร 620 ราย จ.นครพนม 613 ราย จ.อํานาจเจริญ 369 ราย และ จ.มุกดาหาร 301 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตปีละกว่า 300 ราย พร้อมทั้งพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 7,420 ราย กลุ่มอายุผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุมากกว่า 55 ปี และมีอาชีพเกษตรกรรม

น.พ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ ผู้อํานวยการสํานักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี กล่าวถึงการควบคุมวัณโรคในเขตรับผิดชอบว่า สามารถทำงานได้บรรลุเป้าหมายคือ ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคปอดระยะแพร่เชื้อให้หายขาดร้อยละกว่า 85 สำหรับอาการหลักของผู้สันนิษฐานป่วยเป็นวัณโรคคือ มีอาการไอเรื้อรังมากกว่า 2 อาทิตย์ ช่วงบ่ายหรือเย็นมีอาการไข้ต่ำๆ มีเหงื่อออกตอนกลางคืน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

ผู้ที่มีอาการดังกล่าวต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคโดยเร็ว เพราะถ้าเป็นวัณโรคสามารถรักษาให้หายขาด โดยกินยาติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 6-8 เดือน

ถ้าผู้ป่วยกินยาแบบกินๆหยุด จะทําให้เชื้อพัฒนาตัวเองให้ดื้อยา จนรักษาด้วยยาตัวเดิมไม่ได้ ต้องให้ยาตัวใหม่ที่มีฤทธิ์มากขึ้น รวมทั้งต้องขยายเวลาการรักษานานกว่าปกติ และหากยังไม่กินยาให้ต่อเนื่องอีกเชื้อวัณโรคจะดื้อยาทุกชนิด ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และในกรณีนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 85 ปัจจุบันอาการดื้อยากำลังกลายปัญหาสําคัญในการรักษาผู้ป่วยวัณโรค เพราะผู้ป่วยไม่ยอมกินยาครบตามกำหนดแพทย์สั่ง ผู้ป่วยส่วนมากจะหยุดกินยาหลังกินได้ 1-2 เดือน เพราะเข้าใจว่าอาการป่วยดีขึ้น จึงคิดว่าหายขาดแล้ว

สำหรับกลุ่มเสี่ยงมีโอกาสติดเชื้อวัณโรคได้ง่ายคือ เด็ก คนชรา ผู้ติดเชื้อเอดส์ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคไต ผู้ติดสารเสพติด หรือดื่มเหล้าจัด รวมทั้งผู้ที่ขาดสารอาหารและมีสุขภาพร่างกายอ่อนแอ เพราะบุคคลเหล่านี้ มีภูมิต้านทานต่ำกว่าคนปกติทั่วไป วิธีป้องกันที่ดีที่สุดอยู่ที่ตัวผู้ป่วย โดยต้องกินยาที่แพทย์จ่ายให้จนครบทุกวัน เพื่อไม่ไปแพร่เชื้อให้คนอื่น พร้อมทั้งใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบจับของใช้ร่วมกับคนอื่นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น