xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายทรัพยากรฯแพร่ยกทีมดูป่าชุมชน ชม./หวังยึดแนว “จอนิ โอเดเชา” รักษ์ป่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แพร่ – “เครือข่ายทรัพยากรฯ-กป.อพช.แพร่” ยกทีมดูงานจัดการป่าชุมชน “หนองเต่า” ที่มีปราญช์ชาวบ้านอย่าง “จอนิ โอเดเชา” เป็นแกนนำ หวังใช้เป็นต้นแบบจัดการป่าชุมชนกะเหรี่ยงเมืองแพร่ ที่มีวิถีชีวิต-วัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน หลังพบมี “ป่าผู้หญิง” ตามความเชื่อของชนเผ่ากะเหรี่ยงเกิดขึ้นหนาแน่น ด้านปราชญ์ชาวบ้านย้ำชัดไม่มีใครจัดการป่าได้ดีกว่าชุมชน ชี้รัฐใช้กฎหมายป้องกันป่าไร้ผล

รายงานข่าวจากจังหวัดแพร่ แจ้งว่า เครือข่ายทรัพยากรจังหวัดแพร่ และคณะกรรมการประสานงาน องค์กรพัฒนาเอกชน จ.แพร่ (กป.อพช.แพร่) ได้นำสมาชิกป่าชุมชนและหมอพื้นบ้านในต.แม่พุง ต.สรอย อ.วังชิ้ จ.แพร่ จำนวน 23 คน นำโดยนายอำนวย ใจอ้าย ประธานป่าชุมชนแม่พุงหลวง, นายเกียรติ คำน้อย อบต.แม่พุง,นายอำนวย ชมพูบาง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.สรอย แกนนำป่าชุมชน ต.สรอย
 

โดยมีนายสมชาย ไชยเขียว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านค้างปินใจ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแพร่เขต 2 จ.แพร่ และคณะครูเข้าร่วมดูงานการฟื้นฟูป่าไม้โดยชุมชนที่บ้านหนองเต่า หมู่ 4 ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 22-24 มีนาคม 2551 ที่ผ่านมา เพื่อใช้เป็นกระบวนการศึกษาแนวทางการอนุรักษ์ป่าอย่างยั่งยืนโดยชุมชน หลังจากป่าในจังหวัดแพร่ถูกทำลายอย่างหนักและกำลังส่งผลด้านสิ่งแวดล้อมเนื่องจากป่าไม้เสื่อมโทรมลงจนอยู่ในสภาวะวิกฤตในขณะนี้

นายจอนิ โอเดเชา หรือพ่อหลวงจอนิ อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ผู้รู้ด้านการใช้กระบวนการของชุมชนรวมทั้งวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงบนเทือกเขาสูง บ้านหนองเต่า อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ในการร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้
 

รวมทั้งการจัดการป่าทั้งด้านการใช้สอยป่าอนุรักษ์ และแนวคิดของชุมชนที่ทำให้ป่าไม่ถูกคุกคาม จนมีความหนาแน่นขึ้นและขยายพื้นที่ออกไป เป็นผลให้ป่าไม้มีปริมาณที่มากขึ้นพร้อมกับชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ในป่าดังกล่าว ได้นำคณะเดินเข้าไปยังพื้นที่ป่าศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน อยู่ห่างจากบ้านหนองเต่า 10 กม.บนเทือกเขาสูง ซึ่งเป็นที่อยู่ของผีตามความเชื่อวัฒนธรรมประเพณีของชาวกะเหรี่ยง เป็นภูเขาที่มีลักษณะเนินเขาสามเส้า มีต้นไม้ปกคลุมอย่างหนาแน่น ไม่ผลัดใบเขียวขจีตลอดทั้งปี พื้นดินเต็มไปด้วยลำธารที่มีน้ำไหลสะอาดตลอดทั้งปี โดยพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นป่าดงดิบ ในภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า “ป่าผู้หญิง” คือไม่มีการผลัดใบมีลักษณะเขียวทึบตลอดทั้งปี

พ่อหลวงจอนิ กล่าวว่า ไม่มีใครจัดการป่าให้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนได้นอกจากประชาชนในท้องถิ่น ที่ผ่านมาการพัฒนาของรัฐเข้ามาจัดการป่าโดยไม่ต้องการให้ประชาชนอยู่ในป่าอีกต่อไป แต่กว่า 20 ปีที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าพื้นที่ที่มีคนอยู่และมีจิตสำนึกรักษ์ป่าเช่นพื้นที่ที่มีชาวกะเหรี่ยงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดใดในภาคเหนือก็ตามจะเห็นว่ายังคงมีป่าไม้ที่หนาแน่นอยู่ สาเหตุมาจากวัฒนธรรมประเพณีและความเข้าใจการดำรงชีวิตที่ใช้ทรัพยากรป่าไม้อย่างระมัดระวังภายใต้จารีตวัฒนธรรมของชุมชนนั่นเอง

แม้รัฐจะออกกฎหมายมากี่ฉบับก็ไม่สามารถทำให้ป่าอยู่ได้ นอกจากชุมชนจะร่วมกันดูแลและต้องใช้ประโยชน์จากป่าด้วย ที่ผ่านมาความเจริญในยุคโลกาภิวัตร ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ความไม่เข้าใจของรัฐในการรักษาทรัพยากรทำให้ป่าไม้หมดไป

รัฐพยายามส่งเสริมพัฒนาการเกษตร และพัฒนาป่าไม้ ซึ่งมองไปที่มูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า จึงเน้นไปที่พืชเชิงเดี่ยว แทนการปล่อยให้ป่าเป็นป่าที่หลากหลาย เป็นการบริหารจัดการที่ลืมรากเหง้าสิ่งดีงามของชุมชน

“เรามักมองไปที่น้ำบ่อหน้าแต่ละทิ้งร่องรอยวัฒนธรรมสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในชุมชนหรือจะเรียกว่า น้ำบ่อหลังก็ได้ ดังนั้นเราจึงควรกลับมามองทุนเดิมที่มีอยู่ในสังคมไทย เช่นวัฒนธรรมของชุมชน ความหลากหลายของผู้คนความหลากหลายของป่า”

ชุมชนที่บ้านหนองเต่า มีพื้นที่ป่านับหมื่นไร่ แต่ไม่ได้นำไปใช้สอยทั้งหมด พื้นที่ที่เก็บไว้ประกอบพิธีกรรมเป็นที่อยู่ของผี บริเวณดังกล่าวจะไม่มีใครเข้าไปแตะต้อง ยังมีป่าอนุรักษ์ที่เป็นแหล่งประกอบพิธีกรรมการนำรก-สายสะดือเด็กไปผูกติดไว้กับต้นไม้ อยู่ใกล้หมู่บ้าน ป่าอนุรักษ์เหล่านี้เป็นที่อยู่ที่ปลอดภัยของสัตว์ป่า ทำให้มีสัตว์ป่าเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ถ้าสัตว์ป่าเหล่านั้นเข้าไปยังเขตป่าใช้สอยก็สามารถจับไปบริโภคได้ จะเห็นว่าการอนุรักษ์ก็เพื่อความจำเป็นของชุมชนในการดำรงชีวิต ทำให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญ ในการมีไม้ไว้ทำฟืน สร้างบ้าน ทำรั้ว เป็นอาหาร เป็นยาสมุนไพร เป็นที่ประกอบพิธีกรรม เป็นสถานที่ติดต่อกับวิญญาณ และปัจจุบันใช้เป็นมหาวิทยาลัยเรียนรู้เรื่องธรรมชาติให้กับคนรุ่นใหม่ของชุมชนอีกด้วย

พ่อหลวงจอนิ กล่าวด้วยว่า เป็นที่น่ายินดีที่ชาวจังหวัดแพร่ได้เข้ามาสู่มหาวิทยาลัยป่าของชุมชนของชาวบ้านหนองเต่า และได้ซึมซับเอาความรู้ การจัดการป่า จังหวะการเจริญเติบโตของต้นไม้ที่มีอยู่ถึง 5 ชั้นในพื้นที่เดียวกัน ถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์ในป่าที่เหลืออยู่ในเมืองไทย การเดินทางมาศึกษาดูงานของชาวจังหวัดแพร่เชื่อว่าอนาคตจะทำให้ป่าไม้เมืองแพร่ ในชุมชนที่มาดูงานมีความอุดมสมบูรณ์เช่นกัน

นายอำนวย ใจอ้าย ประธานเครือข่ายป่าชุมชนบ้านแม่พุงหลวง อ.วังชิ้น จ.แพร่ กล่าวว่า ชุมชนที่มาดูงานเป็นชุมชนชาวกะเหรี่ยงเช่นกัน ซึ่งมีความเชื่อเรื่องของป่า ผี และการดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนใกล้เคียงกันมาก เราเคยคิดว่าต้องมีกฎระเบียบมากมายเหมือนกฎหมายทำให้ป่าไม้มีมากขึ้น แต่ความจริงแล้วป่าไม้ที่หนาทึบในบ้านหนองเต่า เป็นป่าไม้ที่มีกฎระเบียบของชุมชนไม่ถึง 10 ข้อในการใช้ร่วมกัน แต่เน้นไปที่วัฒนธรรมทำให้ประชาชนเชื่อว่าป่าเป็นหัวใจของชุมชน

จากแนวคิดดังกล่าวทำให้เครือข่ายทรัพยากรจังหวัดแพร่ เตรียมหาแนวทางร่วมกันในการฟื้นฟูป่าไม้ที่กำลังวิกฤต จากความโลภของประชาชนที่รัฐเข้ามาส่งเสริม ข้าวโพดกำลังเป็นพืชทำลายป่าที่สำคัญที่สุด และยากที่จะหยุดยั้ง ถ้าชุมชนยังไม่เข้าใจชิวิตความเป็นอยู่ที่พอเพียง



กำลังโหลดความคิดเห็น