ศูนย์ข่าวนครราชสีมา-สถานการณ์ภัยแล้งโคราชน่าเป็นห่วง ปริมาณน้ำในเขื่อนทั้งจังหวัดลดระดับอย่างรวดเร็ว เผยเขื่อนลำตะคองเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงเมืองย่าโมเหลือแค่ 37 % ด้านชลประทานฯ วอนประชาชนใช้น้ำประหยัด ลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง เชื่อหากมีการจัดสรรน้ำที่ดีจะฝ่าวิกฤตภัยแล้งไปได้ ด้านจังหวัดฯ ประกาศ พื้นที่ 3 อำเภอประสบภัยแล้ง
นายเชลงศักดิ์ มานุวงศ์ หัวหน้าโครงการชลประทานนครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำของจังหวัดนครราชสีมาและการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้งว่า ขณะนี้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 โครงการ ของ จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำในอ่าง รวม 501.98 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 50.57 % ของความจุที่ระดับเก็บกักรวม 992.69 ล้าน ลบ.ม.
โดยเฉพาะเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบผลิตประปาที่สำคัญของ จ.นครนครราชสีมาในหลายอำเภอโดยเฉพาะเทศบาลนครนครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 119.27 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 37.92% ของความจุ 314 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำ 55.53 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 50.48 % ของความจุ 110 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ 156.20 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 56.80 % ของความจุ 275 ล้าน ลบ.ม. และ เขื่อนลำปลายมาศ อ.เสิงสาง มีปริมาณน้ำ 55.67 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 56.81% ของความจุ 98 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางของจังหวัดฯ จำนวน 18 โครงการ มีปริมาณน้ำในอ่างรวม 102.09 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 60.43 % ของความจุที่ระดับกักเก็บรวม 168.94 ล้าน ลบ.ม.
นายเชลงศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ เริ่มลดระดับลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดประชาชนใช้น้ำมากขึ้น อย่างไรก็ตามหากเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเดียวกันถือว่าปีนี้ปริมาณน้ำในอ่างโดยรวมทั้งจังหวัด ยังเหลืออยู่จำนวนมาก หากมีการจัดสรรน้ำที่ดี ประชาชนจะมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้แน่นอน
อย่างไรก็ตาม โครงการฯ ได้เตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งไว้แล้ว โดยในเขตชลประทาน ได้มีการประชุมชี้แจงเกษตรกรผู้ใช้น้ำและร่วมกันวางแผนจัดสรรน้ำ ในช่วงฤดูแล้งปี 2550/51 โดยเฉพาะในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำพระเพลิง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน-ลำแชะ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปลายมาศ และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางต่างๆ ให้ลดปริมาณการปลูกข้าวนาปรัง หรือเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน เช่น พืชตระกูลถั่ว เป็นต้น พร้อมกันนี้ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรใช้น้ำเพื่อการประปา อุปโภค-บริโภคและอุตสาหกรรม อย่างประหยัด
ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน ได้มีการสำรองรถยนต์บรรทุกน้ำขนาดความจุ 6,000 ลิตร/คัน ไว้จำนวน 15 คัน และ สำรองเครื่องสูบน้ำ เพื่อช่วยเหลือการอุปโภค-บริโภคไว้จำนวน 59 เครื่อง
ด้านศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)จังหวัดนครราชสีมา รายงานสถานการณ์ภัยแล้งว่า ล่าสุดจังหวัดนครราชสีมา ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งแล้วจำนวน 3 อำเภอ คือ อ.พิมาย มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง 3 ตำบล ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 1,648 คน 429 ครัวเรือน อ.โนนไทย มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง 10 ตำบล และ อ.คง มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง 10 ตำบล ส่วนพื้นที่ทางการเกษตรกำลังอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย
สำหรับ จ.นครราชสีมา มีพื้นที่การเกษตรกว่า 7.6 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 60.07 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ชลประทาน 666,721 ไร่ โดยแยกเป็นพื้นที่ทำนากว่า 3.8 ล้านไร่, พืชไร่ 3.3 ล้านไร่, พืชผัก 1.6 แสนไร่ และอื่น ๆ อีก 3.7 แสนไร่ มีเนื้อที่ป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 1.3 ล้านไร่ และเนื้อที่ยังไม่จำแนกอีก 3.7 ล้านไร่ ส่วนการปลูกพืชฤดูแล้งปี 2551 มีจำนวน 69,792 ไร่
ด้าน นายสุพงศ์ สินธุรัตน์ เกษตรจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานฯ ได้แจ้งเตือนให้เกษตรกรประหยัดน้ำและใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญควรวางแผนการป้องกันแก้ไขปัญหาระยะยาว เช่น ปรับระบบการปลูกพืชที่ใช้น้ำมาก เช่น การทำนาปรังให้เปลี่ยนมาเป็นการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยให้ผลตอบแทนเร็ว เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ข้าวโพด ทานตะวัน และพืชผักต่างๆ ซึ่งเป็นพืชที่อายุสั้น ใช้น้ำน้อยเพียง 300-400 ลบ.ม.ต่อไร่ หากทำนาข้าวจะใช้น้ำถึง 5 เท่า คือ 1,500-2,000 ลบ.ม. /ไร่ และให้เน้นการทำการเกษตรระบบไร่นาสวนผสม การเกษตรแบบพอเพียง ไม่ลงทุนมาก ลดความเสียงที่ก่อให้เกิดหนี้สิน ทำการเกษตรผสมผสานแบบยั่งยืน และควรเตรียมขุดลอกบ่อน้ำ สระน้ำที่ตื้นเขินไว้เก็บกักน้ำเพื่อบรรเทาความวิกฤตต่อไป