xs
xsm
sm
md
lg

อาชีวะฯ หนุนจัดระบบค้าชายแดนลดการหนีเข้าเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาร่วมกับสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา จับนักศึกษา-อาจารย์ไทย-ลาว เข้าค่ายรับความรู้การวางแผนการตลาด แรงงาน กระบวนการผลิต ให้ตรงตามความต้องการของตลาด ลดความล้มเหลวการค้าแนวชายแดน และการหลบหนีเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว

ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี นายอำนวย ชารีรัตน์ ประธานอาชีวศึกษาจังหวัดเปิดเผยถึงการจัดโครงการยุววาณิช ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาร่วมกับสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา โดยมีจุดประสงค์ให้ผู้บริหารสถานศึกษา นักเรียน นักศึกษา อาจารย์ของสถาบันมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกันขจัดปัญหาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในกลุ่มประเทศอินโดจีน

ทั้งประเทศลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า เพื่อให้มีการวางกรอบการจัดการเรียนการสอนรองรับความต้องแรงงานตามความต้องการของตลาด

สำหรับโครงการดังกล่าว จัดขึ้นตามจังหวัดที่มีอาณาเขตชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน และต้องเป็นจังหวัดที่มีมูลค่าทางการค้าตามแนวชายแดนสูง โดยการอบรมจะเชิญนักศึกษาและอาจารย์ของประเทศเพื่อนบ้านเข้าร่วม เพื่อนำความรู้ไปพัฒนาการค้าร่วมกัน ซึ่งครั้งนี้ทางฝ่ายลาวได้ส่งตัวแทนนักศึกษาจำนวน 10 คน และครูอีก 2 คนเข้าร่วมโครงการ ส่วนฝ่ายไทยมีนักศึกษาและอาจารย์จากจังหวัดแนวชายแดนที่อยู่ใกล้กับจังหวัดอุบลราชธานีเข้าร่วมอีก 38 คน

โดยผู้เข้าอบรมตลอดระยะเวลา 1 สัปดาห์ จะได้รับความรู้ด้านสถานการณ์การค้าตามแนวชายแดน แนวโน้มของสินค้าที่ตลาดต้องการของทั้ง 2 ฝ่าย และอุปสรรคทางการค้าที่ผ่านมา ซึ่งทำให้การค้าบางรายการประสบความล้มเหลว

นอกจากนี้ บุคลากรทั้งหมดจะทราบถึงกลยุทธ์ทางการค้า วิธีการเขียนแผนทางธุรกิจ การวางแผนการเงินในระหว่างทำธุรกิจ วิธีการวางแผนรองรับกระบวนการผลิตและแผนการตลาด รวมทั้งแหล่งวัตถุดิบที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิต การสร้างมิตรทางการค้า ซึ่งต่างเชื้อชาติต่างภาษาผ่านการอบรมครั้งนี้ ประการสำคัญการอบรมจะช่วยลดปัญหาการผลิตแรงงานไม่ตรงความต้องการของตลาด หรือแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง

เพราะเมื่อประเทศเพื่อนบ้านสามารถจัดระบบการค้า การใช้แรงงานอย่างถูกต้อง ก็จะไปยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ ลดความยากจนให้กับคนในประเทศลง ซึ่งเป็นประโยชน์กับประเทศไทยและประเทศรอบข้างดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น