xs
xsm
sm
md
lg

กรมส่งเสริมฯขึ้นเหนือกระตุ้นส่งออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์เชียงใหม่- กรมส่งเสริมการส่งออกฯขึ้นเหนือส่งเสริมการค้าในตลาดต่างประเทศหวังกระตุ้นการส่งออกโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีตามภูมิภาค เผยสินค้าที่คาดจะเป็นพระเอกปี 2551 ไม่พ้นประเภทเน้นเรื่องสุขภาพเป็นหลักโดยเฉพาะพืชผักและอาหาร โดยเฉพาะเชียงใหม่ถือเป็นโอกาสทองของการเปิดลู่ทางตลาดญี่ปุ่นเหตุคนญี่ปุ่นรู้จักดี ด้านผู้ประกอบเอสเอ็มอีท้องถิ่นท้อมาตรการของรัฐที่สร้างความสับสน บางรายต้องหันค้าขายในประเทศแทนหลังขาดทุนอ่วมจากค่าบาทแข็ง

เมื่อเร็วๆ นี้ กรมส่งเสริมการส่งออกกระทรวงพาณิชย์ จัดบรรยายเรื่อง ความต้องการสินค้าเครื่องประดับ ของตกแต่งบ้านและสินค้าอาหารในต่างประเทศ ให้กับผู้ประกอบการในเชียงใหม่ได้รับรู้เกี่ยวกับตลาดต่างประเทศ เพื่อหวังกระตุ้นให้มีการส่งออกได้เพิ่มขึ้นที่โรงแรมดิเอ็มเพรส

นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยอาวุโส สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว กล่าวว่า ในปี 2550 ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าอาหารทุกชนิดจากไทยมูลค่า 1,928 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยแนวโน้มไทยมีโอกาสเข้าไปขยายตลาดในประเทศญี่ปุ่นได้มากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะการลดภาษีสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของญี่ปุ่น ภายใต้ JTEPA ที่ภาษีลดเป็น 0 อย่างผลไม้สดประเภททุเรียน มะละกอ มะม่วง มังคุด ฝรั่ง เป็นต้น ทั้งนี้ประเทศญี่ปุ่นเน้นในเรื่องของความปลอดภัยและคุณภาพเป็นหลักโดยญี่ปุ่นไม่มีการเลือกปฏิบัติฉะนั้นมาตรฐานใดๆ ของญีปุ่นที่ออกมาถือว่าเป็นไปตามนั้น ฉะนั้นเรื่องข่าวการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงในเกี๊ยวซ่าที่นำเข้าได้สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง

นางอัมพวัน กล่าวอีกว่า การให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยในอาหารนั้น รัฐบาลไทยพยายามเน้นมากที่สุด จึงถือเป็นจุดแข็งของสินค้าอาหารแปรูปของไทยในสายตาผู้ซื้อญี่ปุ่น วิกฤตความมั่นใจของชาวญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นกับเกี๊ยวซ่าและอาหารแช่แข็งที่นำเข้า น่าจะส่งผลดีต่อโอกาสการส่งออกสินค้าอาหารของไทย โดยสินค้าจากประเทศไทยที่น่าจะมีโอกาสขยายเพิ่มเติม เช่น ขนม และของหวาน ผลไม้สด อาหารประเภท snack ของว่างรวมทั้งอาหารแปรรูปและกึ่งสำเร็จรูปสไตล์ญี่ปุ่นที่สามารถเป็นอาหารหลักของครัวเรือน อาหารเพื่อการบำรุงสุขภาพ เป็นต้น

“จังหวัดเชียงใหม่ถือว่าได้เปรียบกว่าจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทยมาก เพราะคนญี่ปุ่นต่างรู้จักดีถ้าเอ่ยถึงประเทศไทยญี่ปุ่นจะนึกถึงกรุงเทพฯและเชียงใหม่ก่อน โดยขณะนี้ชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาท่องเที่ยวหรือที่มาพักอาศัยส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นจำนวนมากกว่าจังหวัดอื่นๆ ฉะนั้น ช่องทางที่ผู้ประกอบการจากเชียงใหม่จะส่งสินค้าออกไปยังตลาดในญี่ปุ่นก็น่าจะทำได้ง่ายขึ้น”

SME ท้องถิ่นท้อมาตรการรัฐหันขายใน ปท.แทน

นายณัฐพงษ์ หาญภัทรไชยกูล นายกสมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าหัตถกรรมภาคเหนือ (NOHMEX) กล่าวถึงผลกระทบที่รัฐบาลประกาศยกเลิกมาตรการสำรอง 30% ว่า การดำเนินงานของรัฐบาลหลายๆ อย่างนั้นบางเรื่องต้องนิ่ง ชัดเจนและบางเรื่องต้องเป็นความลับ แต่กลับปรากฏว่าตอนนี้มาตรการต่างๆ ที่ออกมาสร้างความสับสนวุ่นวาย และก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนดังที่ปรากฏค่าเงินบาทแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายณัฐพงษ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถตัดสินใจทำการใดๆ ได้เลย เช่น การรับออเดอร์จากลูกค้าต่างประเทศไม่แน่ใจว่าราคาที่เคยตกลงไว้นั้นจะขาดทุนหรือเสียหายเท่าไหร่, ส่วนที่รับออเดอร์มาแล้วไม่ทราบว่าจะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเท่าไหร่ แม้จะมีการforward contact อัตราแลกเปลี่ยนก็ตามแต่การทำ forward contact ครั้งต่อไปก็ได้รับใน Rate ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

สมาชิกของสมาคมฯส่วนใหญ่เป็นผู้ส่งออกสินค้าหัตถกรรม และกลุ่มผู้ประกอบการหัตถกรรมที่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐในการพัฒนาศักยภาพนั้น ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท ที่แข็งค่าขึ้นอย่างมาก งานหัตถกรรมนั้นไม่ได้รับประโยชน์อันใดจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเลย เพราะได้มีการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ แรงงานก็เป็นระดับรากหญ้าในชุมชน รวมทั้งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับต้นทุนการขนส่งที่มีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากผลกระทบดังกล่าว ได้มีผู้ประกอบการปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง และมีอีกหลายรายที่กำลังจะปิดตัวลงอีก หากภาครัฐไม่ให้ความช่วยเหลือหรือมีมาตรการใดๆ มารองรับให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ ซึ่งในอนาคตอาจจะสูญเสียความเป็นผู้นำด้านหัตถกรรมของโลกอย่างแน่นอน

“มาตรการที่ภาครัฐควรหันมาให้ความสนใจอย่างเร่งด่วน ก็คือ การออกมาตรการช่วยเหลือทางด้านดอกเบี้ยอัตราพิเศษ การยกเว้นภาษีเงินได้เป็นการชั่วคราวให้แก่ผู้ส่งออกสินค้าหัตถกรรมช่วง 3-5 ปีจากนี้ไป การปรับปรุงระบบขนส่งที่ควรจะลดลงเพื่อแข่งขันกับประเทศจีนและเวียดนามได้เป็นต้น” นายณัฐพงษ์ กล่าว

ทางด้านนางการะเกด ศุขพงศ์ เจ้าของกษมาเทรดดิ้ง ผู้ส่งออกเซรามิก ประเภทศิลาดล ในจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า ตอนนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องหาทางออกด้วยตนเองไปก่อน คงไม่สามารถรอความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ ซึ่งประเด็นที่มีการพูดคุยกันว่า ต้องมีการเจรจากับกลุ่มลูกค้าต่างประเทศให้หันมาซื้อขายโดยใช้เงินตราสกุลอื่นที่ไม่ใช่ผูกติดกับเงินสกุลยูเอสดอลลาร์ แต่ปรากฏว่า ลูกค้าต่างประเทศส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นแถบยุโรป หรือเอเชีย ต่างปฏิเสธที่ใช้เงินสกุลอื่นเพราะเห็นว่ายิ่งสถานการณ์เงินสกุลดอลลาร์เป็นเช่นนี้พวกเขายิ่งได้เปรียบแต่กลับผู้ส่งออกยิ่งแย่แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ก็ต้องยอมรับสภาพกันไป

นางการะเกด กล่าวอีกว่า ถือเป็นสิ่งที่โชคดีของผู้ประกอบการประเภทศิลาดลด้านหนึ่ง ก็คือ ศิลาดลเป็นสินค้าที่ไม่ใช่แมสโปรดักส์ แต่เป็นสินค้าเป็นแฮนด์เมดเสียส่วนใหญ่กลุ่มลูกค้าก็จะเป็นกลุ่มผู้มีกำลังซื้อตั้งแต่ระดับกลางถึงสูงทำให้กลายเป็นโอกาสที่สามารถหันไปหาตลาดอื่นได้ง่ายแม้จะใช้เงินสกุลยูเอสดอลลาร์ ก็ตามนั่นคือ สามารถทำให้มาร์จิ้นเพิ่มขึ้น แม้ว่าวอลุ่มอาจจะน้อยลงแต่ก็ถือว่าสามารถอยู่รอดได้ในสภาวการณ์เช่นนี้

นอกจากนี้แล้ว ยังหันมาสนใจตลาดในประเทศมากขึ้นในสัดส่วน ในประเทศ 60% ต่างประเทศ 40% จากเดิมที่ส่งออกเกือบ 100% โดยตลาดในประเทศกำลังขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากตลาดทางด้านสปาและโรงแรมต่างหันมาสั่งซื้อสินค้าประเภทศิลาดลกันมากขึ้นเมื่อเทียบกับเซรามิกแล้ว คาดว่า ในอนาคตกลุ่มลูกค้าจะหันมาให้ความสนใจกับสินค้าประเภทศิลาดลมากกว่าเนื่องจากไม่มีสารอื่นปนเปื้อน

“ยอดส่งออกเมื่อปี 2550 ที่ผ่านมากษมาสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นกว่าปี 49 ถึง 20 % แต่ปี 2551 นี้เฉพาะ 2 เดือนแรกเรามียอดสั่งซื้อแล้วเกือบ 20 ล้านบาท โดยทั้งปีคาดว่าน่าจะมียอดส่งออกมากกว่าปี 2551 ประมาณ 30%”นางการะเกด กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น