เอเอฟพี/เอเจนซี - ผู้ผลิตเนื้อและกลุ่มรณรงค์ด้านความปลอดภัยในอาหารแสดงความไม่มั่นใจต่อมติขององค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) ที่อนุญาตให้สามารถวางขายเนื้อและนมที่ได้จากสัตว์โคลนนิ่ง โดยสุดท้ายแล้ว ผู้บริโภคจะเป็นคนตัดสินว่าอาหารจากสัตว์โคลนนิ่งจะเป็นที่แพร่หลายหรือไม่
เอฟดีเอกระบุในคำแถลงเมื่อวันอังคาร (15) ว่า ทางองค์การ "สรุปได้ว่า เนื้อและนมจากปศุสัตว์ สุกรและแพะ ซึ่งผ่านการทำสำเนาพันธุ์...มีความปลอดภัยสำหรับการรับประทาน พอๆ กับพวกที่ได้จากสัตว์ซึ่งเลี้ยงดูกันแบบดั้งเดิม"
แต่การประเมินดังกล่าวถูกต่อต้านอย่างรุนแรง โดยกลุ่มรณรงค์จากวอชิงตันที่ใช้ชื่อว่า ศูนย์เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร ออกมาประณามแผนอนุญาตให้ขายอาหารจากสัตว์โคลนนิ่งนี้
"ผลกระทบต่อการเกษตร การค้า และการบูรณาการด้านซัปพลายอาหารในสหรัฐฯ ส่วนมากยังไม่เป็นที่ทราบได้" ศูนย์เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร ออกคำแถลงเมื่อเดือนที่แล้ว
"ยังคงมีคำถามที่ยังตอบไม่ได้ทั้งหมดนั่น" นักชีววิทยา ไมเคิล ฮันเซน จากสหภาพผู้บริโภค กล่าวกับเอเอฟพีก่อนที่เอฟดีเอจะแถลงเมื่อวันอังคาร "ตัวอย่าง (ที่เอฟดีเอใช้ในการวิจัย) มีจำนวนน้อยมาก"
กลุ่มรณรงค์เหล่านี้ยังแสดงความวิตกต่อมติของเอฟดีเอที่อนุญาตให้จำหน่ายอาหารจากสัตว์โคลนนิ่งโดยไม่ติดฉลากพิเศษ
โพลสำรวจความเห็นต่างก็ชี้ว่า คนอเมริกันส่วนมากไม่ยอมรับอาหารจากสัตว์โคลนนิ่ง
นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับความวิตกของผู้บริโภคในต่างประเทศ เพราะสหรัฐฯส่งออกเนื้อวัวราว 6% และเนื้อหมู 16% จากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์
ด้านบริษัทผลิตเนื้อสัตว์ต่างหลีกเลี่ยงสัตว์โคลนนิ่งกันอยู่
ไทสัน ฟู้ด อิงก์ บริษัทผลิตเนื้อสัตว์รายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันอังคารว่า ทางบริษัท "ยังไม่มีแผนที่จะซื้อปศุสัตว์โคลนนิ่ง" และการกระทำในอนาคตจะปล่อยให้กฎระเบียบของรัฐบาล รวมถึงลูกค้าและผู้บริโภคเป็นผู้ชี้แนะแนวทาง
ด้านสมิธฟิลด์ ฟู้ด อิงก์ ผู้ผลิตเนื้อหมูยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ก็บอกว่า จะยังไม่แปรรูปสัตว์โคลนนิ่ง
"วิทยาศาสตร์ในการโคลนนิ่งสัตว์นั้นยังค่อนข้างใหม่ ในฐานะที่เป็นผู้นำที่รอบคอบในอุตสาหกรรมนี้ เราจะคอยติดตามการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเทคโนโลยีสาขานี้ต่อไป" สมิธฟิลด์แถลง
กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ก็ยังต้องการรอเวลามากกว่านี้ และได้ขอให้บริษัทที่ผลิตสัตว์โคลนนิ่งเลื่อนการนำสัตว์เหล่านั้นเข้าสู่ห่วงโซ่ซัปพลายอาหารไปก่อน
รายงานหลายฉบับ ระบุว่า จะต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่เนื้อและนมจากสัตว์โคลนนิ่งจะวางขายอย่างแพร่หลาย
"ในตอนนี้การโคลนนิ่งยังไม่เหมาะกับการผลิตเนื้อหมูในเชิงพาณิชย์ เราจึงยังไม่คาดหวังว่า โคลนนิ่งจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเรา" จิล แอปเพล ประธานสภาผู้ผลิตเนื้อหมูแห่งสหรัฐฯ กล่าว
สาเหตุหนึ่งก็คือ การโคลนนิ่งนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงมาก และยังมีวิธีอื่นๆที่ถูกกว่าที่จะเพาะสัตว์ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายคลึงกัน
นอกจากนี้ การโคลนนิ่งก็เป็นเพียงการอัดสำเนา ซึ่งไม่ได้เป็นการพัฒนาพันธุ์สัตว์เลย เกรก ดาวด์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากสมาคมค้าเนื้อวัวของผู้ประกอบการปศุสัตว์แห่งสหรัฐฯ ชี้
เขา บอกว่า อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์พยายามหาทางพัฒนาพันธุ์สัตว์ที่ให้เนื้ออยู่ตลอด ซึ่งก็มีวิธีที่เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการโคลนนิ่ง เช่น การผสมเทียม และการถ่ายฝากตัวอ่อน