xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบแรงงานเฟอร์นิเจอร์ส่งออกเจ๊งบุกศาลากลางโดนเบี้ยวค่าชดเชย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา - พิษจากเศรษฐกิจพังทำโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ส่งออกเจ๊ง ม็อบแรงงานถูกบอกเลิกจ้างบุกศาลากลางจังหวัด หลังนายจ้างลอยแพเบี้ยวการจ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมายกำหนด หวังพึ่งสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดช่วย ขณะนายจ้างยังพลิ้วเบี้ยวนัดการเจรจาไกล่เกลี่ย

วันนี้ (25 ก.พ.) เวลา 11.00 น.ที่ศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา กลุ่มพนักงานของบริษัทบางปะกงวู๊ด จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 9/1 ม.2 ต.ลาดขวาง อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา 104 คน ได้เดินทางมาชุมนุม และเข้าพบสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อเรียกร้องขอให้นายจ้างจ่ายเงินค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด หลังจากการประกาศปิดดำเนินกิจการและถูกบอกเลิกจ้างงานจากนายจ้าง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2550

โดยทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ให้พนักงานส่งตัวแทนจำนวน 5 คนเข้าพบเจ้าหน้าที่ พร้อมให้เขียนคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 (แบบ คร.7) และเป็นตัวแทนในการเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างนายจ้าง และแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง แต่ฝ่ายนายจ้าง คือ นายมนตรี โชติวิสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ได้ปฏิเสธการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยในครั้งนี้

โดยอ้างว่า ยังติดธุระสำคัญที่ไม่สามารถเดินทางมาเข้าร่วมเจรจาในครั้งนี้ได้ ซึ่งทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดจึงได้กำหนดนัดการเจรจาไกล่เกลี่ยใหม่อีกครั้ง ในเวลา 10.00 น.วันที่ 28 ก.พ.2550 เพื่อหาทางออกให้แก่คู่กรณีพิพาทแรงงานทั้งสองฝ่ายต่อไป

นายสังเวียน แดงมีทรัพย์ อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 51 ม.1 ต.บางขนาก อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ลูกจ้างพนักงานรายเดือนของบริษัทดังกล่าว ซึ่งเป็นตัวแทนพนักงานที่จะเข้าร่วมในการเจรจา กล่าวว่า ตนทำงานอยู่ที่โรงงานแห่งนี้มานานกว่า 17 ปี แล้ว ทางโรงงานได้ประกาศปิดกิจการ พร้อมปิดประกาศบอกเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดที่มีอยู่กว่า 300 คนลง โดยที่ไม่มีใครรู้ตัวมาก่อน โดยทราบแต่เพียงว่าบริษัทอ้างว่าประกอบกิจการขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2-3 ปี

แต่ทางบริษัทมาบอกเลิกจ้างปิดกิจการลงอย่างรวดเร็ว และไม่ยินยอมจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด จึงทำให้พนักงานที่มีอายุงานมาก ทำงานกับบริษัทนี้มายาวนานต้องได้รับความเดือดร้อน เพราะบางคนมีอายุมากจนถึงใกล้จะเกษียณอายุ เมื่อจะไปสมัครงานที่ไหนก็ลำบากเพราะหากนำไปฝึกฝีมือการทำงานที่บริษัทใหม่แล้ว จะเหลือเวลาในการทำงานให้เขาน้อย บางคนเคยแต่ประกอบอาชีพอยู่แต่ในโรงงานเพียงอย่างเดียวไม่เคยประกอบอาชีพอื่น จึงไม่รู้ว่าจะไปประกอบอาชีพหากินอย่างไร

หลังการประกาศเลิกจ้าง นายจ้างบอกว่า จะจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานทุกคนรายละ 1 เดือน เท่านั้น ทั้งที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ หากมีอายุงานมากในแต่ละระดับปีมีความแตกต่างกัน เช่น ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้ถึง 300 วัน หรือประมาณ 10 เดือน แต่นายจ้างกลับไม่ทำตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งก็มีพนักงานบางส่วนที่มีอายุงานน้อยจำใจยอมรับค่าชดเชยเพียง 1 เดือนไป แต่ยังมีส่วนที่เหลืออีก 104 คน ที่มีอายุงานมากยังไม่ยินยอม เพราะมีอายุมากแล้ว และจะหางานทำลำบาก ที่ต้องได้รับความเดือดร้อนต่อไปอีกนาน

ขณะที่ นางบุญชู นาเจริญ อายุ 52 ปีอยู่บ้านเลขที่ 24/5 ม.6 ต.บางพระ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ลูกจ้างรายวัน กล่าวว่า ได้เข้ามาทำงานอยู่ที่บริษัทแห่งนี้ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์ ประเภทโต๊ะ เก้าอี้ เตียงนอนและเครื่องใช้สอยที่ทำจากไม้ต่างๆ ส่งออกไปยังต่างประเทศ (อเมริกา) มาตั้งแต่ปี 2533 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 18 ปีแล้ว ปัจจุบันได้ค่าจ้างวันละ 172 บาท เป็นค่าใช้จ่ายหาเลี้ยงตัวเอง ซึ่งหลังจากนี้ต่อไปคงจะเดือดร้อนมากเพราะไม่มีรายได้อะไร จะไปหาสมัครงานใหม่ก็เกรงว่าจะไม่มีใครเขารับเข้าทำงาน เพราะอายุมากแล้ว จึงอยากได้ค่าชดเชยตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด เพราะทำงานอยู่ที่นี่มานานแล้ว

ด้านสำนักงานสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา (นางกัลยาลักษณ์ โอภาสานนท์) กล่าวว่า ทางสำนักงานได้ให้พนักงานที่ถูกบอกเลิกจ้าง เขียนคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานไว้ จากนั้นจะดำเนินตามขั้นตอนของกฎหมาย เชิญนายจ้างเข้ามาพบเพื่อสอบหาข้อเท็จจริง และดำเนินการตามหลักฐานต่างๆ ต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น