กาฬสินธุ์ - เกษตรกรกาฬสินธุ์เตรียมรับมือภัยแล้งปี 51 วางแผนลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง เกรงได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนส่งผลให้มีสภาพแห้งแล้งมากกว่าทุกปี ด้านเกษตรกรแห่ปลูกถั่วลิสง เหตุเป็นพืชระยะสั้น ตลาดโลกต้องการสูง ดันราคารับซื้อพุ่งกว่าเท่าตัว
เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์เตรียมรับมือกับภัยประจำปี 2551 ที่จะเข้ามาเยือนในเร็ววันนี้ เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นมากกว่าทุกปี จะส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งรุนแรงตามมาด้วย ทำให้เกษตรกรที่อยู่ในเขตชลประทานต้องปรับเปลี่ยนพืชที่นำมาเพาะปลูกในช่วงหน้าแล้งโดยส่วนใหญ่จะลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง และหันมาปลูกพืชอายุสั้นแทน เชื่อว่า จะทำให้พื้นที่ข้าวนาปรังในเขตชลประทานของจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ปกติจะมีพื้นที่กว่า 200,000 ไร่ อาจจะเหลือเพียง 70-80 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
นายดวง บุญจันทร์ศรี อายุ 40 ปี บ้านเลขที่ 66 หมู่ 5 บ้านวังยูง ต.ลำพาน อ.เมืองกาฬสินธุ์ เกษตรกรผู้ปลูกถั่วลิสง กล่าวว่า ในฤดูแล้งของทุกปีที่ผ่านมา ตนกับเพื่อนเกษตรกรส่วนใหญ่ จะปลูกข้าวโพดและทำนาปรัง แต่เนื่องจากการคาดการณ์สภาพความแห้งแล้งในปีนี้ จะมีความรุนแรงกว่าทุกปี จึงต้องลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังลง เพื่อเป็นการลดภาวะเสี่ยงต่อการขาดทุน โดยส่วนใหญ่จะหันมาปลูกถั่วลิสง ซึ่งใช้ต้นทุนการผลิตต่ำ การบริหารจัดการไม่ยุ่งยาก เพียง 90 วันก็สามารถเก็บผลผลิตได้
โดยถั่วลิสง 1 ไร่ จะให้ผลผลิตไม่น้อยกว่า 500-800 กก.ที่น่าสนใจราคาถั่วลิสงปรับสูงขึ้นด้วย เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกถั่วลิสง แทนการปลูกข้าวโพดและข้าวนาปรัง เชื่อว่า จะสามารถทำให้มีรายได้จากการจำหน่ายถั่วลิสงในฤดูแล้งได้ดีกว่าปลูกข้าวโพดและข้าวนาปรังดังกล่าว
ด้าน นายสมศักดิ์ บัวอร่ามวิไล ผู้จัดการบริษัท ไทยพีนัท ซัพพลาย (กาฬสินธุ์) จำกัด หรือโรงงานรับซื้อถั่วสมศักดิ์ แหล่งรับซื้อถั่วลิสงแหล่งใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เลขที่ 187 ถนนเกษตรสมบูรณ์ อ.เมืองกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า ในฤดูกาลผลิต 2550/2551 นี้ ได้ส่งเสริมการปลูกถั่วลิสงแก่เกษตรกร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลก เนื่องจากเป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย ให้ผลผลิตดีในฤดูแล้ง
ฤดูกาลผลิตที่ผ่านมาได้ผลผลิตประมาณ 3,000 ตัน ขณะที่มีโควตาประมาณ 36,000 ตัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ประกอบกับปีนี้ตลาดเปิดกว้างขึ้น จึงต้องขยายพื้นที่ในการปลูก โดยบริษัท ไทยพีนัท ซัพพลายฯ สนับสนุนปัจจัยการผลิตกับเกษตรกร ทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยา
ล่าสุด มีการปรับราคารับซื้อถั่วลิสงสูงขึ้นเกือบ 50% แล้ว เดิมจากตันละ 12,000-18,000 บาท เป็นตันละ 20,000-25,000 บาท เป็นแรงจูงใจและกระตุ้นให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น ปัจจุบันนี้มีเกษตรกรที่ปลูกถั่วลิสงในเครือข่ายพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแทบทุกจังหวัด และคาดว่า จะได้ผลผลิตเพิ่มจากปีที่ผ่านมาเป็นจำนวนมาก หรือใกล้เคียงกับโควตาที่กำหนดไว้ประมาณ 36,000 ตัน