ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – ตามรอยจิ๊กซอว์ East-West Corridor วันนี้แผนเชื่อม “ด่าหนัง-มะละแหม่ง/ย่างกุ้ง” ยังไม่เห็นจุดหมายปลายทาง โครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเมียวดี ถึง ย่างกุ้ง ยังนิ่งสนิท-การค้าถูกปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ทั้งที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกันกว่าหมื่นล้านบาท/ปี ภาคเอกชนในพื้นที่ยอมรับดันกันมาหลายยกแต่ยังไร้ผล
ตามยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ระหว่าง กัมพูชา-ลาว-พม่า-ไทย (Ayeyawady-Chao Praya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ที่เริ่มต้นเมื่อปี 2546 และแผนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมตามแนว East-West Corridor เชื่อมท่าเรือด่าหนัง เวียดนาม กับท่าเรือมะละแหม่ง/ย่างกุ้ง ของพม่า ของกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง (GMS) อันจะเชื่อมต่อกับแนวถนนคุน-มั่ง กงลู่ หรือคุนหมิง-กรุงเทพฯ ที่สี่แยกอินโดจีน จ.พิษณุโลก นั้น
แม้ว่า แนวถนนคุน-มั่ง กงลู่ จากสาธารณรัฐประชาชนจีน-พม่า-สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ส.ป.ป.ลาว)-ไทย กำลังจะเสร็จสมบูรณ์แล้วก็ตาม แต่ในส่วนของการพัฒนาเส้นทางคมนาคมตามแนว East-West Corridor ที่เป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ของ GMS และแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านระหว่างกัมพูชา-ลาว-พม่า-ไทย (Ayawady-Chao Praya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ที่เริ่มต้นเมื่อปี 2546 กลับไม่ปรากฏรูปธรรมให้เห็นเท่าใดนัก
โดยเฉพาะการพัฒนาถนนในเขตพม่า จากหัวเมืองชายแดนเมียวดี-กอกะเร็ก-ท่าตอน-ย่างกุ้ง (198 กิโลเมตร ) ที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงบังกลาเทศ-อินเดีย ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพทางลูกรังกว้าง 3-4 เมตรนั้น แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลไทย จะให้งบประมาณช่วยเหลือเบื้องต้นในการปรับปรุงถนนจากสะพานมิตรภาพไทย-พม่า (ฝั่งเมียวดี) เป็นระยะทาง 18 กิโลเมตร (กม.)แล้ว และเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2548 ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณประจำปี 2549 จำนวน 15 ล้านบาท เพื่อใช้ในการสำรวจ-ออกแบบเส้นทางเพิ่มเติมจาก กม.ที่ 18 (เชิงเขาตะนาวศรี-กอกะเร็ก) ระยะทางประมาณ 40 กม.รวมทั้งมีผลสำรวจ-การอนุมัติงบช่วยเหลือเพิ่มเติมออกมาแล้วก็ตาม แต่ยังไม่มีการดำเนินการเพิ่มเติมใดๆ จนถึงทุกวันนี้
นายอำพล ฉัตรไชยาฤกษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก เปิดเผยว่า การพัฒนาถนนในพม่าช่วงที่ 2 ระยะทาง 40 กม.เศษ รัฐบาลยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้อนุมัติงบช่วยเหลือไปแล้ว รวมถึงในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ยืนยันว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-พม่า ยังเป็นเหมือนเดิมทุกอย่าง แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการส่งเงินเข้าไปดำเนินการใดๆ ทำให้แผนพัฒนาเส้นทางคมนาคมช่วงนี้ อันจะเป็นจุดเริ่มต้นการขยายโอกาสทางการค้า การลงทุน ไม่มีความคืบหน้าด้วยเช่นกัน
“ที่จริงถ้ามองในแง่ความคุ้มทุนแล้ว เพียงแค่การค้าชายแดน เฉพาะแม่สอด-เมียวดี ก็มีมูลค่าปีละกว่า 10,000 ล้านบาท ล่าสุดปี 2550 ที่ผ่านมา มีมูลค่ามากกว่า 12,000 ล้านบาท หากเส้นทางคมนาคมได้รับการพัฒนาขึ้น จากถนนลูกรังกว้าง 3-4 เมตร ซึ่งรถยนต์วิ่งสวนทางกันไม่ได้ ก็จะทำให้มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวแน่นอน”
เขายังบอกอีกว่า ถ้าโครงการนี้เกิดจริง ยังจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องอีกมาก โดยเฉพาะช่วยหนุนให้เขตเศรษฐกิจชายแดนทั้งฝั่งแม่สอด-เมียวดี โดยเฉพาะในฝั่งพม่า ที่ทางรัฐบาลได้ประกาศให้เมียวดีเป็นเขตเศรษฐกิจชายแดนเช่นเดียวกับ มู่เซ-ลุ่ยลี่ (พม่า-จีน) แล้ว และมีกลุ่มทุนจีนเข้ามาพัฒนาพื้นที่ห่างจากเมียวดีไปประมาณ 10 กม. แบ่งเป็นเขตพาณิชยกรรมขนาด 400 เอเคอร์ เขตอุตสาหกรรมอีก 500 กว่าเอเคอร์ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการปรับพื้นที่-ก่อสร้างอาคารพาณิชย์อยู่ รวมถึงมีนโยบายที่จะสร้างศูนย์บริการนำเข้า-ส่งออกในลักษณะ One Stop Service ให้เป็นจริงขึ้นมาได้ อันจะช่วยสกัดกั้นการไหลทะลักเข้าไทยของแรงงานเถื่อนจากพม่าอีกทางหนึ่ง
ส่วนเขตเศรษฐกิจชายแดนจังหวัดตาก ที่เป็นคู่แฝดของเขตเศรษฐกิจชายแดนเมียวดี นายอำพล กล่าวเพียงว่า ยังไม่เห็นอนาคต แม้ว่า ครม.จะอนุมัติให้ชายแดนตาก เป็นเขตเศรษฐกิจชายแดนตั้งแต่ปี 2547 แล้วก็ตาม แต่จนถึงปี 2551 ก็ยังไม่เห็นอะไรเป็นชิ้นเป็นอันจากภาครัฐ
เขามองว่า ดูเหมือนรัฐบาลไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์นี้เท่าใดนัก ทั้งที่การค้าระหว่างไทยกับเพื่อนบ้าน (เฉพาะที่ผ่านพม่า) ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท/ปี และไทยได้ดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง กลับปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป แน่นอนว่า สินค้าไทยในตลาดเพื่อนบ้านก็จะถดถอยลงเรื่อยๆ
“แนวทางการพัฒนาเหล่านี้ ภาคเอกชนในพื้นที่พยายามนำเสนอผ่านช่องทางต่าง ๆ ไปยังรัฐบาลอย่างต่อเนื่องในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด”
ด้านนายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ รองประธานหอการค้าจังหวัดตาก เปิดเผยถึงสถานการณ์การค้าชายแดนด้าน อ.แม่สอด ว่า ปีที่ผ่านมามียอดส่งออกกว่า 12,000 ล้านบาท ขณะที่นำเข้าสินค้าจากพม่าประมาณ 1,000 ล้านบาท ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญด้วยการผลักดันเขตเศรษฐกิจชายแดนที่ อ.แม่สอด ให้เป็นรูปธรรม เนื่องจากขณะนี้พม่าได้เดินหน้าเขตเศรษฐกิจชายแดนที่ จ.เมียวดี ตรงข้ามกับ อ.แม่สอด คืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 60 สำหรับเป็นคลังสินค้าทุกประเภท ซึ่งหากไทยยังไม่ดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม จะทำให้เสียโอกาสและรายได้จากการค้าชายแดนจำนวนมาก
นอกจากนั้น ยังฝากให้รัฐบาลช่วยพัฒนาระบบลอจิสติกส์ โดยเฉพาะเส้นทางสายตาก-แม่สอด และเส้นทางจาก อ.แม่สอด ไป จ.เมียวดี และเมืองกรุกกริกของพม่า เนื่องจากปัจจุบันยังมีต้นทุนในการขนส่งสินค้าที่สูงอยู่