พิษณุโลก – แผนพัฒนาโครงข่ายถนน East-West จากมุกดาหาร – แม่สอด ระยะทาง 777 กม.ยังติดบ่วงปัญหาหลายจุด ล่าสุดจนถึงวันนี้พัฒนาเป็น 4 ช่องจราจรแล้วเพียง 222 กม.-อยู่ระหว่างเตรียมการอีก 145 กม. ที่เหลืออีก 467 กม.ยังไร้งบประมาณ แถมบางจุดต้องผ่านพื้นที่อนุรักษ์ทั้งอุทยานฯทุ่งแสลงหลวง – น้ำหนาว ที่ห้ามตัดป่าทำทางเพิ่ม แถมต้องรอรัฐบาลไฟเขียวกู้เงิน ADB อีกกว่า 3 พันล้าน ขณะที่แผนพัฒนาถนนฝั่งตะวันตกสี่แยกอินโดจีน ให้สมบูรณ์ ล่าสุดเหลือเพียงช่วงตาก-แม่สอด ที่เตรียมทำ TOR มีนาคม 51 นี้
ขณะที่แผนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมตามแนว North-South จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านพม่าและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว)-ไทย – มาเลเซีย – สิงคโปร์ หรือออกทางท่าเรือแหลมฉบัง ทยอยเสร็จสมบูรณ์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะแนวถนนช่วงที่อยู่ในเขต สปป.ลาว (ถนน R3a) กำหนดเสร็จสมบูรณ์ 100%สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 51 เหลือเพียงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง เชื่อมระหว่าง อ.เชียงของ จ.เชียงราย – เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ที่จะเสร็จในปี 2553-2554 อันจะทำให้โครงข่ายถนนสายคุนหมิง-กรุงเทพฯ ตามยุทธศาสตร์มุ่งลงใต้ของรัฐบาลปักกิ่งสมบูรณ์พร้อมไปด้วย รองรับกระบวนการขนส่งสินค้านั้น
ในส่วนของโครงการถนนตามแนว East – West เชื่อมท่าเรือด่าหนัง ของเวียดนาม เข้ากับท่าเรือย่างกุ้ง หรือท่าเรือเมาะละแหม่ง สหภาพพม่า รวมถึงการเชื่อมโยงเข้ากับโครงข่ายถนนทะลุไปถึงอินเดีย – บังกลาเทศนั้น ล่าสุดสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 มุกดาหาร – สปป.ลาว ที่เปิดใช้ไปแล้วทำให้ขบวนคน-สินค้า จากไทย สามารถลำเลียงผ่านไปตามเส้นทางหมายเลข 9 ทะลุท่าเรือด่าหนัง ของเวียดนามได้แล้วก็ตาม
แต่ในส่วนของแผนพัฒนาเส้นทางคมนาคมจากสะพานข้ามโขงแห่งที่ 2 พาดผ่านมาทางขอนแก่น – พิษณุโลก – สุโขทัย-อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อเปิดทางสินค้าทะลุเข้าพม่า – อินเดีย/บังกลาเทศในอนาคต โดยมี “พิษณุโลก” เป็นสี่แยกอินโดจีน (จุดตัดระหว่างโครงข่ายถนนตามแนว North-South และ East-West) ดูเหมือนยังติดปัญหาอีกหลายจุด และแน่นอนว่าย่อมกระทบต่อการพัฒนาสี่แยกอินโดจีนด้วยเช่นกัน
นายณัฏฐวุฒิ คงเวชกุล ผู้อำนวยการแขวงการทางพิษณุโลก เปิดเผยถึงความคืบหน้าถนน East-West Corridor หรือถนนจากเมียวดี-แม่สอด-พิษณุโลก-หล่มสัก-ชุมแพ-ขอนแก่น-มุกดาหาร ระยะทาง 777 กิโลเมตร กรมทางหลวงได้ก่อสร้างเป็นเส้นทาง 4 ช่องจราจรแล้ว 222 กิโลเมตร อยู่ในขั้นเตรียมการ 145 กิโลเมตร และยังไม่มีงบประมาณอีก 467 กิโลเมตร
ถนนสายพิษณุโลก-หล่มสัก 105 กิโลเมตรที่อยู่ในขั้นเตรียมการกรมทางหลวงได้นำเสนอเพื่อรอการอนุมัติจาก ครม.เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2551 แต่ยังไม่ผ่านบอร์ดของสภาพัฒน์ ทำให้เรื่องดังกล่าว ต้องรอให้รัฐบาลใหม่เป็นผู้ผลักดันงบประมาณก่อสร้าง โดยได้ทำร่าง TOR แล้ว และในเดือนมีนาคม 2551 เตรียมประมูลจัดหาบริษัทออกแบบ
ถนนช่วงนี้แต่เดิมได้ประชาพิจารณ์ ลักษณะแนวไว้ 5 ช่วง หลายคนสนับสนุนทำให้เป็นถนนเส้นท่องเที่ยวเมื่อผ่านอำเภอเขาค้อ อย่างไรก็ตามถนนช่วงนี้ต้องตัดผ่านอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ที่กำลังมีปัญหาการตีความและนำมาสู่การพัฒนาขยายถนน
กล่าวคือ ตามหนังสือ พล.0016.2/ว ลงวันที่ 14 มกราคม 51 จากจังหวัดพิษณุโลกแจ้งต่อแขวงการทางพิษณุโลก ว่า กรณี มติครม.เรื่องแนวทางพิจารณาการก่อสร้างในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1.ห้ามมิให้ตัดถนนเพื่อเป็นทางสัญจรสาธารณะขึ้นใหม่ 2.เส้นทางสาธารณะเดิมที่มีอยู่แล้ว ไม่ให้ขยายช่องการจราจร แต่ให้ปรับปรุงผิวจราจรหรือชะลอความเร็วแทน 3.ให้ปรับปรุงถนนเพื่อความปลอดภัยเป็นหลัก 4.พัฒนาถนนเพื่อดูแลพื้นที่เพื่อการศึกษา วิจัยหรือการท่องเที่ยวที่จำเป็นเท่านั้น โดยคำนึงถึงผลกระทบเชิงนิเวศ
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาตามพระราชกฤษฎีกา ประกาศของอุทยานทุ่งแสลงหลวง เมื่อปี 18 ได้กันเขตพื้นที่ป่าออกเป็นแนวถนนข้างละ 30 เมตร หรือ ความกว้าง 60 เมตร คือ เว้นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ออกแล้ว ซึ่งน่าจะไม่ขัดต่อการขยายถนน 2 เลนเป็น 4 เลน ประเด็นสำคัญขึ้นอยู่ว่ารัฐบาลใหม่จะอนุมัติให้กู้เงิน ADB จำนวน 3,340 ล้านบาทเมื่อไรเท่านั้น
ขณะที่ถนนต่อจากอ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ไปยัง อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ผ่านอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว หากยึดตามมติ ครม.ที่ห้ามขยาย ก็ไม่สามารถปรับปรุงถนนจาก 2 เลนเป็น 4 เลนได้ ซึ่งก็ต้องไปพิจารณาว่า อุทยานฯน้ำหนาวได้กันเขตข้างทางออกข้างละกี่เมตร ลักษณะเดียวกับอุทยานฯทุ่งแสลงหลวงหรือไม่
ส่วนถนนที่ต่อจากจังหวัดขอนแก่นไปยังจังหวัดมุกดาหาร เชื่อว่า การขยายเป็นถนน 4 ช่องจราจรคงไม่มีปัญหา เนื่องจากเป็นพื้นที่ราบ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลมีงบประมาณทุ่มการลงทุนขยายถนนมากน้อยแค่ไหน
สำหรับถนนซีกตะวันตก จากพิษณุโลก-สุโขทัย ปัจจุบัน ได้ปรับปรุงเป็นถนน 4 ช่องจราจรเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงช่วงถนนจากสุโขทัย-จังหวัดตาก ที่ยังเป็น 2 เลนไม่กี่ช่วงเท่านั้น ที่จะต้องได้รับการพัฒนาเป็น 4 ช่องจราจร
ขณะที่ถนนหมายเลข 105 จากจังหวัดตาก – อ.แม่สอด(ริมเมย) ระยะทางทั้งหมด 85 กิโลเมตร จะจัดทำ TOR ในเดือนมีนาคม 2551 ในราคากลาง 270 ล้านบาท ระยะทาง 12 กิโลเมตร จากถนนหมายเลข 1 (กำแพงเพชร-ตาก-เถิน-ลำปาง ซึ่งสามารถเปิดประมูลทันทีในเดือนมีนาคม 2551 เช่นกัน)
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ขณะที่ถนนจากแม่สอดหรือตลาดริมเมย รัฐบาลไทยได้ลงทุนก่อสร้างแบบให้เปล่าแก่ประเทศพม่าระยะทาง 17 กิโลเมตรถึงเมียวดี เกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะมีเพียงช่วงต่อจากเมียวดีเชื่อมไปทะละฝั่งตะวันตก (ท่าเรือเมาะละแหม่ง) และขึ้นไปยังย่างกุ้ง ปัจจุบันอยู่ในสภาพไม่ดีนักเป็นถนน 1 เลนเท่านั้น จะต้องปรับปรุงก่อสร้างอ้อมเขาตะนาวศรี และอาจต้องลงทุนสร้างอุโมงค์เจาะทะลุภูเขา ซึ่งขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่า รัฐบาลไทยจะสนับสนุนหรือประเทศพม่าจะลงทุนก่อสร้างเอง หากมีความชัดเจน ถนนเส้นดังกล่าวจะเชื่อมต่อไปยังเมืองย่างกุ้ง – อินเดีย - บังกลาเทศได้