เชียงราย – กนอ.ส่งทีมหารือตัวแทนรัฐและเอกชนเมืองพ่อขุนฯ หาช่องทางปั้น “นิคมฯเชียงของ” รองรับโครงการคมนาคมผ่านถนน R3a ที่จะเสร็จสมบูรณ์กลางปีนี้ แต่ล่าสุดยังปักธงวางรูปแบบนิคมฯไม่ได้ ขณะรธน.ใหม่ วางกรอบเข้มให้ชุมชนมีส่วนร่วม-ศึกษาผลกระทบ สวล.ให้ชัด แถมนักลงทุนไทยเมิน ต้องหวังพึ่งทุนจีนที่เริ่มเปลี่ยนท่าทีเป็นหลัก สุดท้ายอาจเป็นได้เพียง “ICD-นิคมฯบริการ หรือเขตปลอดอากร” ขณะที่ผู้ว่าฯเตรียมนำคณะศึกษาข้อมูลถนนเชื่อม ไทย-ลาว-จีน เดือนหน้า ดูสารพัดกลุ่มทุนแห่ลงทุนใน ส.ป.ป.ลาว เทียบกับไทยที่ยังเป็นวุ้นจนถึงทุกวันนี้
รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงราย แจ้งว่า นายปรีชา กมลบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นายวรชัย อุตตมชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้ร่วมประชุมกับนายประสบศิลป์ โชติมงคล รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ปฏิบัติการ 2) ซึ่งเดินทางมาพร้อมกับบริษัทที่ปรึกษา เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อหารือเรื่องความคืบหน้าการสร้างนิคมอุตสาหกรรม อ.เชียงของ จ.เชียงราย ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดเชียงราย โดยมี นายอนุรัตน์ อินทร เลขาธิการหอการค้าจังหวัดเชียงราย อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย ที่ดินจังหวัดเชียงราย และตัวแทนจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายปรีชา กมลบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ให้ความเห็นว่า ในอดีตเคยรับราชการในพื้นที่ชลบุรีมานาน จนสุดท้ายเป็นปลัดจังหวัด เห็นการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ขณะนี้ประเทศจีน มีแนวทางที่จะลำเลียงสินค้าจากจีนตอนใต้มาออกทะเลทางด้านทิศใต้ของจีน ผ่านถนน R3a (เชื่อมชายแดนจีน-ส.ป.ป.ลาว-อ.เชียงของ จ.เชียงราย) และบางส่วนจะเชื่อมโยงไปยังเวียดนาม เพื่อใช้เส้นทางถนนไปลงท่าเรือน้ำลึกที่เมืองด่าหนังด้วย
ดังนั้น หลายภาคส่วนของไทยทั้งรัฐและเอกชน จะต้องเร่งศึกษาแนวทางที่จะหาทางส่งเสริมการลงทุนบริเวณจังหวัดเชียงราย ซึ่งเท่าที่ทางอำเภอเชียงของ ได้ไปสำรวจความคิดเห็นชาวบ้าน พบว่า ชาวเชียงของ ส่วนมากมีความสนใจที่จะให้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ ขณะที่กลุ่มเอ็นจีโอสอบถามข้อมูลว่าจะเป็นนิคมในรูปแบบใดเท่านั้น หากไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะน่าจะสร้างงานให้แก่คนท้องถิ่น-นักศึกษามหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงราย ที่มีถึง 3 มหาวิทยาลัย
ผู้ว่าฯเชียงราย บอกว่า สำหรับนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้น่าจะเป็นศูนย์กระจายสินค้า-นิคมฯบริการ ซึ่งรับกับระบบลอจิสติกส์ในอนาคตที่จะเกิดพร้อมกับถนน R3a - สะพานข้ามโขง ซึ่งขณะนี้พบว่ามีกลุ่มทุนหลายกลุ่มเข้ามาลงทุนตามแนวถนน R3a มาก เช่น นักลงทุนชาวจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ได้เข้าไปลงทุนในเส้นทาง R3a มาก
โดยที่เมืองบ่อหาร ส.ป.ป.ลาว ทางผ่านของ ถนน R3a มีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมเบา - โรงแรม และระบบสาธารณูปโภครองรับมากมาย นอกจากนี้ ในเขตเมืองห้วยทราย ส.ป.ป.ลาว ตรงข้าม อ.เชียงของ ก็มีการลงทุนสร้างสนามกอล์ฟของนักลงทุนชาวเกาหลีใต้ และสร้างตลาดอินโดจีน มีสินค้าจาก จีน เข้ามาวางจำหน่ายเต็มพื้นที่ เช่นเดียวกันกับสินค้าที่ขายที่ชายแดนไทย-พม่า ด้าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย และมีนักลงทุนจีนมาลงทุนสร้างโรงแรมขนาด 200 ห้อง รับกับสะพาน อ.เชียงของ จนทำให้ที่ดินใน อ.เชียงของ ในทำเลดีๆ ขยับจากไร่ละ 200,000 บาท เป็น 700,000 บาท
นอกจากนี้ ยังมีนักธุรกิจเชื้อชาติจีน ยังได้เช่าที่ดินใน ส.ป.ป.ลาว บริเวณเมืองต้นผึ้ง ราว 100,000 ไร่ ตรงข้ามสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน และเริ่มก่อสร้างโรงแรม-บ่อนกาสิโนขนาดใหญ่ ทั้งยังมีโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมการเกษตรด้วย
“ถ้าดูจากความเคลื่อนไหวเหล่านี้ ก็อาจจะทำให้กังวลอยู่เหมือนกันว่า จีนจะเน้นพัฒนาถนน R3a มากกว่า R3b ในพม่า ซึ่งอาจทำให้ช่องทางด้าน อ.แม่สาย เติบโตน้อยกว่าช่องทางผ่าน อ.เชียงของ จ.เชียงราย”
นายวรชัย อุตตมชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมาจีนวางยุทธศาสตร์พัฒนาถนนคุนหมิง-กรุงเทพฯ เป็นหลัก ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงเชียงรายเลย ฝ่ายจีนมักสนใจที่จะสอบถามการจะสร้างถนนซูเปอร์ไฮเวย์ในไทย มากกว่าจะสนใจสร้างนิคมอุตสาหกรรมในเชียงราย เหมือนในอดีต เป็นไปได้ว่าจีนอาจจะเริ่มมองว่าการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมใน อ.เชียงของ อาจจะมีปัญหามาก เช่น การติดต่อซื้อที่ดิน ซึ่งไม่มีหน่วยงานใดที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ทำให้ไม่มีความชัดเจนใด ๆ และทราบมาอีกว่าจีนอาจเปลี่ยนแผนจากการจะสร้างนิคมฯ เป็นเช่าพื้นที่นิคมฯ แทน เพราะง่ายต่อการลงทุน ซึ่งก็เป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายจะต้องไปวิเคราะห์ว่าจะดึงนักลงทุนมาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอย่างไร
ด้านคณะทำงานบริษัทที่ปรึกษา การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า นิคมอุตสาหกรรม อ.เชียงของ นั้น เคยมีการเชิญชวนนักลงทุนไทยมาลงทุนแล้ว แต่ไม่มีใครสนใจ จึงเหลือแต่นักลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะ จีน เพราะบริเวณนี้มีการลงทุนหลากหลายแบบ ซึ่งนิคมฯบริการ อาจเป็นโรงแรมก็ได้ รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนเทียบเท่าเขตปลอดอากรก็ทำได้
นอกจากนี้ ตามรัฐธรรมนูญใหม่ มาตรา 65 และ 67 ที่ต้องมีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและต้องให้ชุมชนเข้ามาร่วม ในการประชาพิจารณ์โครงการที่เกิดผลกระทบแบบนิคมฯด้วย ทำให้การทำโครงการนี้ต้องพูดคุยกับหลายฝ่ายมาก
นายอนุรัตน์ อินทร เลขาธิการหอการค้าจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า หากรัฐบาลไทยมีความชัดเจนที่จะส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ชายแดนเชียงของ อาจจะเสนอฝ่ายนักลงทุนจีนว่า นิคมอุตสาหกรรม อ.เชียงของ น่าจะเป็นศูนย์กระจายสินค้า หรืออุตสาหกรรมการประกอบสินค้าบางส่วนแล้วส่งต่อ หรือนิคมอุตสาหกรรมบริการ เช่น โรงแรม ระบบขนส่ง ลอจิสติกส์ ฯลฯ เชื่อว่าพอมีทางที่จะดึงนักลงทุนชาวจีนมาลงทุน เพราะทราบว่าประเทศจีนมีนโยบายให้เงินกู้แก่นักลงทุน ที่จะมาลงทุนในบริเวณนี้ และน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในอนาคตอันใกล้
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ให้แนวทางไว้ว่า จะเชิญหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดเชียงราย และเชิญผู้แทนจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและบริษัทที่ปรึกษา เดินทางไปสำรวจเส้นทางถนน R3a ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 นี้ด้วย เพื่อหาแนวทางส่งเสริมการลงทุน
ตามข้อมูลของพาณิชย์จังหวัดเชียงราย พบว่า ตั้งแต่ปี 2545-2550 การค้าของจังหวัดเชียงรายกับเพื่อนบ้าน ก้าวหน้าสูงขึ้นเป็นลำดับ จากปีละ 5,000 กว่าล้านบาท ล่าสุดจังหวัดเชียงราย มีมูลค่าการค้าทั้งนำเข้าและส่งออกกับเพื่อนบ้าน คือ พม่า-ลาว-จีน เป็นปีละ 11,225 ล้านบาท และน่าจะสูงขึ้นอีกต่อเนื่อง
อนึ่งตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2545 เห็นชอบกรอบแผนปฏิบัติการพัฒนาเมืองชายแดนหลัก เป็นโครงการนำร่องในลักษณะเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนใน 3 เมืองก่อน คือ อ.เชียงแสน อ.แม่สาย จ.เชียงราย และ อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและสถานีขนถ่ายสินค้า (ICD) บริเวณ อ.เชียงแสน-อ.แม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเตรียมพื้นที่ ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน เนื้อที่ 3,162 ไร่ เป็นนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน โดยมีบริษัท ไทย-จีน พัฒนาการค้า จำกัด เป็นผู้เสนอ แต่ถูกชาวบ้านคัดค้านเนื่องจากเห็นว่า อ.เชียงแสน จะเป็นเมืองมรดกโลก และเกรงผลกระทบต่อพื้นที่ชุ่มน้ำโลก จนต้องล้มเลิกโครงการไป
ต่อมาจังหวัดเชียงรายได้เตรียมพื้นที่บริเวณทุ่งสามหมอน ต.สถาน และ ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย เพื่อชักชวนนักลงทุนมาลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรม รองรับกับถนนนสาย R3a จากจีนตอนใต้ ผ่าน สปป.ลาว มาเชื่อมที่สะพานข้ามแม่น้ำโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งตัวสะพานจะเสร็จสมบูรณ์ ราวปี 2553-2554 โดย ไทย-จีน ออกค่าก่อสร้างฝ่ายละ 50%