xs
xsm
sm
md
lg

พิษ"ท้องร่วง"ฟาร์มหมูแปดริ้วขาดทุนย่อยยับ-ปศุสัตว์ยันไม่พบการระบาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฉะเชิงเทรา - เกษตรกรเลี้ยงหมูแปดริ้วเผยการระบาดของโรคหมูท้องร่วงทำเกษตรกรขาดทุนย่อยยับถึงขั้นต้องหยุดกิจการ ระบุหากพบเชื้อเริ่มระบาดในฟาร์มแล้วต้องปลดขายแม่พันธุ์ทิ้งและหยุดเลี้ยงทันที ด้านปศุสัตว์ยันยังไม่พบการระบาดในพื้นที่

นายธีระ วนิชย์ถนอม อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 80 ม.4 ต.เสม็ดใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร กล่าวถึงการระบาดของโรคท้องร่วงในสุกรว่า ที่ผ่านมาได้เคยมีการระบาดขึ้นในพื้นที่แล้ว แต่เกษตรกรส่วนใหญ่มักจะปกปิด และจะไม่ยอมเปิดเผย หรือให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้ราคาสุกรตกต่ำ และเมื่อเปิดเผยให้ทางราชการทราบแล้ว ก็ไม่เคยเข้ามาช่วยอะไร มีแต่จะมาทำลายทิ้ง

โดยลักษณะของโรคจะเป็นไวรัสที่เป็นกับลูกหมู ทำให้ลูกหมูอ่อนแอ เมื่อเกิดมาได้ 3-4 วันก็จะตายไป หรือบางตัวก็อาจตายตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ หากพบว่าเป็นแล้วต้องรีบปลดขายแม่พันธุ์ทิ้ง เพราะหากเลี้ยงไว้ต่อไป เชื้อก็จะแพร่ติดต่อไปยังแม่พันธุ์ตัวอื่น ทำให้ลูกหมูตายหมดทั้งเล้า จนถึงขั้นต้องหยุดเลี้ยงชั่วคราว เพื่อพักฟาร์ม

นายธีระ กล่าวต่อว่า สำหรับฟาร์มของตนนั้นได้หยุดเลี้ยงมานานแล้วเนื่องจากประสบปัญหาการขาดทุนอย่างหนัก หลังจากเกิดโรคระบาดดังกล่าว และหากจะกลับมาเลี้ยงใหม่ตอนนี้ ก็ยังไม่คุ้มค่าการลงทุน เนื่องจากลูกหมูมีราคาแพง วัตถุดิบต้นทุนการผลิตอาหารมีราคาขยับขึ้น แพงมาก เช่น รำข้าวจากแต่ก่อน กก.ละ 6 บาท ได้ขยับขึ้นราคามาอยู่ที่ กก.ละ 10 บาท ข้าวโพด กก. ละ 4-5 บาท ขณะนี้ราคาสูงขึ้นถึง กก.ละ 9 บาท ทำให้เกษตรกรอยู่ต่อไปไม่ได้

ขณะที่นายวิโรจน์ ประยูรวิวัฒน์ ปศุสัตว์จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีรายงานการระบาดของโรคในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา โดยส่วนใหญ่จะพบการระบาดในภาคอีสาน ประกอบกับขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา มีจำนวนลดลง จากเดิมมีจำนวนกว่า 600 ราย ขณะนี้เหลืออยู่เพียง 300 ราย ซึ่งลักษณะของโรคท้องร่วงในสุกรที่กำลังระบาดนั้น มีอยู่สองชนิด

ชนิดแรกเกิดจากเชื้อไวรัส TRRS ที่จะเป็นได้ทั้งแม่และลูกสุกร ส่วนโรคที่เกิดจากเชื้อ TDE ที่เพิ่งมีการระบาดนั้น จะเป็นเฉพาะในลูกสุกรเท่านั้น เมื่อเป็นแล้วก็จะทำให้เกิดการระบาดและติดต่อจนตายหมดเล้า
กำลังโหลดความคิดเห็น